“ราชบุรีเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ทำโอ่งมังกร เพราะดินเหนียวแดงที่นี่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การทำโอ่ง มันทนความร้อนได้มากกว่า 1,200 องศาเซลเซียส นั่นทำให้เมื่อเผาออกมา โอ่งจึงสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างดีเยี่ยม ไม่รั่วซึม
โอ่งมังกรเป็นตัวแทนการผสมผสานของจีนและไทย ชาวจีนที่อพยพมาราชบุรีมีทักษะในการทำเครื่องปั้นดินเผาติดตัวมา ส่วนราชบุรีก็มีดินที่มีคุณสมบัติเหมาะจะเป็นเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี
และก็เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวจีน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมลวดลายบนโอ่งจึงเป็นมังกร
แต่ก่อนตรงริมน้ำแม่กลอง บริเวณที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จะมีท่าน้ำที่พ่อค้าจากทั่วสารทิศเดินเรือเข้ามาเพื่อรับซื้อโอ่งมังกรไปขายตามเมืองที่อยู่ร่องน้ำต่างๆ ในภาคกลาง จากแม่กลองไปลุ่มน้ำป่าสัก เข้าอยุธยา สระบุรี ผ่านเจ้าพระยาไปถึงนครสวรรค์ ก่อนจะกระจายตัวไปทั่วประทศ ในยุคนั้น เราจะเห็นโอ่งมังกรวางเรียงเต็มท่าน้ำ ใครล่องเรือผ่านมาก็จะพบภาพคุ้นตาว่าราชบุรีเป็นเมืองโอ่งมังกร
ผมมาบริหารโรงงานรุ่งศิลป์ต่อจากพ่อ พ่อผมเริ่มกิจการนี้ไว้เมื่อปี 2510 แต่ก่อนแกเน้นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาสำหรับเป็นของชำร่วย แต่ก็มีไลน์การผลิตโอ่ง กระเบื้อง และงานจำพวกเซรามิกด้วย จนผมมาสานต่อ ก็เน้นไปที่การทำโอ่งเป็นหลัก
ตอนที่ผมเข้ามาทำกิจการต่อจากพ่อใหม่ๆ นั่นคือราว 30 ปีที่แล้ว ภาคอีสานแห้งแล้งมาก ความเจริญยังเข้าไม่ถึง คนที่นั่นจึงมีความต้องการโอ่งมังกรสำหรับการเก็บกักน้ำอย่างมาก พ่อค้าจากอีสานจึงเข้ามารับโอ่งจากราชบุรีไปขาย โรงงานผลิตโอ่งเกิดขึ้นเยอะ เพราะทำมาเท่าไหร่ก็ขายได้ตลอด นอกจากการทำโอ่ง อีกผลิตภัณฑ์ที่โรงงานผมขายดีคือกระถางต้นไม้ ซึ่งผมส่งออกไปทั่วทวีปยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และมีบางส่วนส่งไกลไปถึงแอฟริกา
ทุกวันนี้โรงงานโอ่งในราชบุรีเหลือประมาณ 30 โรง หายไปประมาณครึ่งหนึ่งจากยุคที่ผมทำใหม่ๆ ที่ลดลงส่วนหนึ่งก็เพราะเดี๋ยวนี้โอ่งไม่ใช่ของจำเป็นของทุกครัวเรือนอีกแล้ว แต่ละบ้านมีแท็งค์น้ำ หรือไม่ก็ใช้ถังพลาสติก สถานะของโอ่งมังกรกลายเป็นของตบแต่งบ้านไปแทน อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมหมักดอง โอ่งยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะมีคุณสมบัติในการกักเก็บอย่างดี และต้นทุนถูกกว่าการใช้ถังพีอี หรือถังไม้โอ๊ก เราจึงมีลูกค้าหลักอีกส่วนมาจากอุตสาหกรรมนี้
อีกเหตุผลหนึ่งที่ธุรกิจนี้หดตัวลงก็เพราะไม่ค่อยมีคนมาสานต่อ เพราะอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ ผู้ประกอบการต้องมีความอดทน และรักในงานศิลปะ มันจึงเชื่อมต่อยากถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีความสนใจจริงๆ อย่างไรก็ตาม โรงงานที่เหลืออยู่หลายแห่งในราชบุรีก็มีการปรับตัวได้ดี บางส่วนมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอื่นเสริม โดยเฉพาะของตบแต่งบ้าน และบางส่วนก็พัฒนาไปทำงานศิลปะ
อย่างโรงงานของผมก็มีโอกาสร่วมงานกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่บ่อยๆ เช่น สาขาวิชาประติมากรรม ก็มักจะส่งศิลปินจากต่างประเทศมาเวิร์คช็อปทำงานจากเตาเผาโบราณที่นี่ หรืออย่างโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ผมก็เปิดพื้นที่ให้อาจารย์จากมัณฑนศิลป์มาทำงานประติมากรรมไปจัดแสดงในเมืองด้วย
ผมเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะพัฒนาเมืองใดๆ ผู้คนจำเป็นต้องรู้จักเมืองของตัวเองให้รอบด้านเสียก่อน ผมจึงสนับสนุนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในแง่ที่ทางทีมวิจัยเขาพยายามเชื่อมต่อศิลปะกับชุมชน ทำให้ทุกคนเห็นว่าศิลปะไม่ใช่ของสูงส่ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน สิ่งนี้จะทำให้เมืองนั้นๆ มีวัฒนธรรม บรรยากาศของเมืองก็จะดีขึ้นตามมา
ที่ผ่านมา ผมค่อนข้างพอใจกับการพัฒนาของเมืองราชบุรีนะ เมืองสงบ อาหารการกินดีในระดับเป็นครัวของภาคตะวันตก และค่าครองชีพก็ไม่แพง ผมจึงอยากสนับสนุนให้มีโครงการพัฒนาในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพราะระยะยาวเมื่อพิจารณาจากแผนเศรษฐกิจแล้วเนี่ย ราชบุรีจะกลายมาเป็นแหล่งที่พักอาศัยขนาดใหญ่ที่สำคัญ ทุกวันนี้รถไฟฟ้าสีแดงอ่อนวิ่งมาถึงศาลายาเชื่อมจังหวัดนครปฐมแล้ว ในช่วง 10 ปีจากนี้ ในระยะทาง 100 กิโลเมตรรอบรัศมีกรุงเทพฯ น่าจะมีรถไฟฟ้าครอบคลุมหมด รวมถึงราชบุรี
ถ้าถึงตอนนั้น การเดินทางจากราชบุรีเข้ากรุงเทพฯ ก็อาจจะใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ผู้คนก็คงเลือกมาพักอาศัยอยู่ที่นี่มากขึ้น โครงการที่พักอาศัยก็ต้องผุดขึ้นตามมา ถ้าเป็นเช่นนั้น การพัฒนาผู้คนไปพร้อมกับการเติบโตของเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญ”
ทัศนัย ศิลป์ประเสริฐ
เจ้าของกิจการโรงงานรุ่งศิลป์ผลิตภัณฑ์ดินเผา