“ผมชอบกระบวนการสร้างสรรค์มังกรตัวนี้เป็นพิเศษ เพราะนี่เป็นผลจากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการของเมืองแห่งการเรียนรู้”

Start
448 views
8 mins read

“ผมเริ่มทำประติมากรรม ‘โคยกี๊ก้อน’ ราวปี 2564 ซึ่งเป็นประติมากรรมรูปมังกรสีเหลือง คลุมทับท่อน้ำบริเวณเขื่อนริมแม่น้ำแม่กลองตรงตลาดโคยกี๊ ที่เลือกทำมังกรตัวนี้ก็เพราะเมื่อทีมงานมัณฑนศิลป์ร่วมกับชาวชุมชนสร้างสรรค์งานศิลปะในที่สาธารณะบริเวณริมแม่น้ำตามจุดต่างๆ ตัวแทนชุมชนเห็นว่าท่อน้ำตรงนี้มีทัศนะที่ไม่น่ามอง เราเลยตกลงกันว่า งั้นทำงานศิลปะปิดมันไปเลยดีกว่า

นั่นล่ะครับ มังกรตัวนี้จึงยาวเป็นพิเศษ เพราะจะได้คลุมทับท่อน้ำ และเป็นที่นั่งพักให้กับผู้สัญจรไปมาด้วย

ผมชอบกระบวนการสร้างสรรค์มังกรตัวนี้เป็นพิเศษ เพราะนี่เป็นผลจากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการของเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งผมชวนนักศึกษาที่ผมสอนร่วมลงพื้นที่กับเยาวชนและตัวแทนชุมชนในเมืองราชบุรี เรียนรู้เรื่องการทำเซรามิกด้วยกัน และเราก็นำเซรามิกที่ได้จากเวิร์คช็อปนี้แหละ มาให้ทุกคนช่วยกันประกอบเป็นเกล็ดของเจ้าโคยกี๊ก้อน

หลังจากโคยกี๊ก้อนแล้วเสร็จ ผมก็ได้งบประมาณจากโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้มาพัฒนาพื้นที่ต่อ โดยคราวนี้ผมเห็นว่าผนังด้านบนของประติมากรรมยังเป็นผนังเปล่า ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมกับทางเท้าด้านบน จึงคิดถึงการทำจิตรกรรมฝาผนังประดับ โดยหยิบลวดลายของผ้าซิ้นตีนจกคูบัวที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เป็นต้นแบบและใช้ดินที่ปกติใช้สำหรับปั้นโอ่งมังกรเป็นวัสดุหลัก ตัดดินให้เป็นรูปทรงเรขาคณิต เคลือบทาเนื้อดิน ก่อนนำไปเข้าเตาเผาจนเกิดเป็นแผ่นกระเบื้องเซรามิก จากนั้นก็นำชิ้นงานที่ได้มาจัดเรียงตามลวดลายของผืนผ้า และได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนตลาดโคยกี๊และเจ้าของโรงงานรุ่งศิลป์ผลิตภัณฑ์ดินเผา ช่วยกันติดตั้งบนพื้นที่จริงจนแล้วเสร็จ

เมื่อมองเผินๆ งานชิ้นนี้จะดูเหมือนจิตรกรรมฝาผนัง แต่จริงๆ แล้วเป็นชิ้นงานที่ประกอบขึ้นจากเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมาจากดินและเทคนิคการผลิตเดียวกับช่างปั้นโอ่งมังกร ขณะเดียวกันลวดลายของชิ้นงานก็ถอดมาจากผืนผ้าที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญของชาวบ้านคูบัว

ซึ่งนอกจากเป็นงานศิลปะตบแต่งพื้นที่สาธารณะ การนำสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้มาเล่าเรื่อง ยังเป็นสื่อที่ช่วยหล่อหลอมความสนใจของชาวเมืองราชบุรี ให้พวกเขาได้เห็นว่าเมืองของพวกเขามีรากเหง้าที่ทรงคุณค่า และขณะเดียวกัน อัตลักษณ์ดังกล่าวก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนหรือถูกประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับยุคสมัยได้เช่นกัน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธาตรี เมืองแก้ว
รองคณบดีพระราชวังสนามจันทร์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักวิจัยในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย