“คนไทยวนอยู่ที่บ้านคูบัวมาสองร้อยกว่าปี การทอผ้าก็น่าจะมีอายุมากกว่านั้น แม่ดีใจนะที่เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานและส่งต่อมรดกนี้ให้ลูกสาว”

Start
441 views
9 mins read

“แม่เรียนทอผ้ามาจากแม่ (คุณยายซ้อน กำลังหาญ) และพี่สาว (ทองอยู่ กำลังหาญ) แม่ของแม่มีลูก 5 คน ลูกชาย 2 ลูกสาว 3 โดยลูกสาว 3 คนของบ้านจะทอผ้าเป็นทุกคน เพราะเกิดมาก็เห็นแม่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้านแล้ว ลูกๆ หลานๆ ที่เป็นผู้หญิงครอบครัวนี้ จะถูกจับมาฝึกทอผ้ากันทุกคน

ชุมชนคูบัวที่แม่อยู่เป็นคนไทยวน เราจึงพูดคำเมือง สำเนียงคล้ายๆ คนเชียงใหม่ แต่คนที่นี่จะไม่มีคำว่า ‘เจ้า’ ต่อท้าย ผู้หญิงชุมชนนี้เกือบทั้งหมดทอผ้าเป็น ตอนแม่โตขึ้นมาหน่อย ยายซ้อนก็ตั้งกลุ่มทอผ้าตีนจก ในช่วงหลังๆ บ้านเราเป็นบ้านไม่กี่หลังในชุมชนนี้ที่ทอผ้าซิ่นตีนจกได้ บ้านอื่นๆ ส่วนใหญ่เขาจะทอผ้าทั่วไป เพราะทำง่ายและขายได้ถูกกว่า แต่ยายซ้อนจะเน้นผ้าตีนจกเป็นหลัก

ตอนแรกแม่ไม่ได้มาช่วยทอที่บ้าน ก็ไปทำงานโรงงานทอผ้า และเป็นช่างเสริมสวย จนแต่งงานก็หันมาทำนาเป็นหลัก สลับกับการทอผ้าที่บ้าน

ยายทองอยู่ พี่สาวแม่จะเป็นคนรับช่วงต่อจากยายซ้อน ยายทองอยู่ปีนี้อายุ 92 ปี อายุมากกว่าแม่ 10 ปี เป็นคนที่สอนแม่ทอผ้า และเราก็ทอมาด้วยกันที่ใต้ถุนบ้านหลังนี้ตั้งแต่ยังสาว ยายทองอยู่เพิ่งเสียชีวิตไปสองสามวันนี้เอง ยังเสียใจไม่หาย เห็นกันอยู่ทุกวัน ตอนนี้รุ่นแม่ก็เหลือแม่คนเดียวแล้ว   

เส้นด้ายที่แม่ใช้ทอผ้าทำจากฝ้ายที่เราปลูกเอง และเราก็เอาฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย และนำไปย้อม แม่จำได้ว่าสมัยยายซ้อนยังอยู่ เวลานั่งปั่นด้าย แกจะชอบเล่าเรื่องในอดีต สมัยก่อนแกจะคำนวนจำนวนผ้าที่ทอ และก็ปลูกต้นฝ้ายให้ครอบคลุมจำนวนด้ายที่ต้องการ โดยปลูกไว้รอบบ้าน และบางส่วนปลูกตรงที่นาหลังการดำนาเสร็จ และก็ย้อมด้ายด้วยสีธรรมชาติที่หาได้แถวนี้ 

การทอผ้าลายจกนี่ซับซ้อนมากนะ เส้นยืนเป็นฝ้าย จกด้วยไหม และหุ้มด้วยฝ้าย ทำเป็นลวดลาย แม้แม่จะเรียนทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก แต่เพิ่งมาเริ่มเรียนทอผ้าลายจกตอนโตแล้ว มาเรียนได้สัปดาห์เดียวกับแม่และยายทองอยู่ เราก็ท้อ ทำไมยากจัง แต่พอเห็นคนอื่นๆ ทอได้ เราก็บอกกับตัวเองว่าต้องทอให้ได้ ก็เริ่มตั้งใจจนเป็นเอง

ทุกวันนี้แม่อายุมากแล้ว ผ้าหนึ่งผืนจึงทอได้ช้า บางผืนอาจใช้เวลาสองเดือน เพราะแม่ทอใต้ถุนบ้าน วันไหนฝนตกหนัก ฝนสาดเข้ามาก็ทอไม่ได้ หรือตกค่ำ แสงสว่างไม่พอ ยุงก็เยอะ เราเลยทอตอนกลางคืนไม่ได้ ก็จะทอเฉพาะช่วงเช้ากับกลางวัน ทอเรื่อยๆ เพราะมีคนสั่งตลอด บางผืนที่ไม่มีออเดอร์ แม่ทอเก็บไว้ สักพักก็จะมีคนขับรถมาหาซื้ออยู่ตลอด

ก็เหมือนบ้านอื่นๆ ที่เรียนทอผ้าต่อๆ กันมาจากผู้ใหญ่ ยายซ้อนเรียนทอผ้ามาจากคุณยายของแม่ และยายซ้อนก็ส่งต่อให้ยายทองอยู่และแม่ แม่ไม่รู้หรอกว่าไทยวนที่บ้านคูบัวแตกต่างจากบ้านอื่นๆ อย่างไร แต่ถ้าตามที่นักวิชาการเขาบอกมาว่าคนไทยวนที่นี่อยู่กันมาสองร้อยกว่าปี การทอผ้าที่หมู่บ้านเราก็น่าจะมีอายุมากกว่านั้น แม่ก็ภูมิใจนะที่ได้มีส่วนในการสืบสาน และส่งต่อมรดกนี้ให้ลูกสาว ทุกวันนี้ลูกสาวแม่มีครอบครัวอยู่กรุงเทพฯ แต่เขาก็เอาทักษะการทอผ้าไปพัฒนาต่อเป็นการทออีกรูปแบบหนึ่ง ทอขายได้ราคาดีเลย”   

พิมพ์ ชมพูเทศ
กลุ่มทอผ้าจกคุณยายซ้อน กำลังหาญ บ้านคูบัว อำเภอเมือง ราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย