“อยากให้ราชบุรีมีรถรางวิ่งรอบเมืองทั้งฝั่งตลาดเก่าและฝั่งศาลหลักเมืองที่อยู่อีกด้านของแม่น้ำ เพื่อครอบคลุมแลนด์มาร์คสำคัญ และเชื่อมแต่ละย่านเข้าด้วยกัน”

Start
316 views
4 mins read

“หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมเมืองราชบุรีกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ หนูก็ได้รวมทีมกับเพื่อนๆ เข้าประกวดแนวคิดการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ของเมือง เราตั้งชื่อทีมว่า Jungle Kids โดยนำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองราชบุรี แบ่งออกเป็น 5 พื้นที่หลัก พร้อมออกแบบของที่ระลึกในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสะสมให้ครบ โดย 5 พื้นที่ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตลาดโคยกี๊ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง วัดช่องลม และวัดมหาธาตุ ส่วนของที่ระลึกที่เราออกแบบกัน ก็คำนึงถึงการถอดอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ ด้วย เช่น ไอศกรีมแท่งทรงอาคารในตลาดโคยกี๊ ผ้าเช็ดหน้าที่มีลวดลายของตึกพิพิธภัณฑ์ หรือหมวกกันแดดที่วัดช่องลม เป็นต้น

ซึ่งตอนแรกเรายังเสนอให้มีรถรางวิ่งรอบเมืองทั้งฝั่งตลาดเก่า และฝั่งศาลหลักเมืองที่อยู่อีกด้านของแม่น้ำ เพื่อครอบคลุมแลนด์มาร์คสำคัญ รวมถึงเชื่อมแต่ละย่านเข้าด้วยกัน และยังเสนอทางเลือกอีกทางในกรณีที่งบประมาณจำกัด นั่นคือการใช้รถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งรับส่งคนราชบุรีอยู่แล้ว ให้เปลี่ยนมาเป็นรถประจำทาง พานักท่องเที่ยวไปสถานที่ต่างๆ พร้อมสะสมของที่ระลึก

เป็นกิจกรรมที่สนุกดีค่ะ เพราะอันที่จริง แม้หนูจะเป็นคนราชบุรี และเห็นวัด เห็นตลาดเก่ามาตั้งแต่เด็ก แต่ก็แทบไม่รู้รายละเอียดของพื้นที่เหล่านี้เลย ก็อยากให้มีกิจกรรมนอกห้องเรียน ให้ผู้เชี่ยวชาญพาไปรู้จักเมืองของเราแบบนี้กับรุ่นน้องของเราบ้าง เป็นกิจกรรมประจำปีก็คงจะดีค่ะ”

ศศิกานต์ บุญเรือน
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 (พหลโยธินรามินทรภักดี)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย