การสนับสนุนให้เกิดกลไกแห่งการเรียนรู้ในระดับพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งไม่เฉพาะในระดับผู้คนในชุมชน หากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้พื้นที่นั้นๆ ประสบผลสำเร็จ”

Start
329 views
15 mins read

“หน้าที่ของสำนักงานศิลปากรที่ 1 ราชบุรี คือดูแล อนุรักษ์ และบูรณะพื้นที่โบราณสถานและโบราณวัตถุใน 6 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ซึ่งเรายังมีพิพิธภัณฑ์ในความรับผิดชอบหลักอีก 2 แห่งคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี

โบราณสถานส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่เราดูแลอยู่ จะแตกต่างจากที่อยุธยาที่เป็นแหล่งมรดกแยกขาดจากวิถีชีวิตของผู้คน เพราะของเรายังคงเป็นพื้นที่ที่ยังทับซ้อนกับกิจกรรมของผู้คนในปัจจุบัน เช่น เรือนไม้เก่าในยุครัชกาลที่ 5 ที่ยังมีคนอาศัยอยู่ แหล่งโบราณสถานที่ซ้อนทับกับชุมชนในปัจจุบัน หรือวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาที่ยังมีพระจำพรรษา เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความท้าทายหนึ่งในการชักจูงให้ผู้คนหรือชุมชนมาเป็นแนวร่วมการอนุรักษ์กับเรา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ผู้คนก็อยากได้ของใหม่ๆ เราจึงต้องหาวิธีพูดคุย และทำให้พวกเขาเข้าใจถึงคุณค่าของพื้นที่ที่เขาอาศัย

เมืองราชบุรีมีข้อได้เปรียบในการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ เพราะเรามีแหล่งเรียนรู้ที่มีร่องรอยของประวัติศาสตร์ในระดับภูมิภาคแทบทุกยุคสมัย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโคกพริก ตำบลคุ้งกระถิน ยุคทวารวดีที่บ้านคูบัวและอุทยานหินเขางู ยุคอยุธยาที่วัดมหาธาตุ ยุคธนบุรีที่เขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม ยุครัตนโกสินทร์และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำแม่กลอง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แต่หนึ่งในความท้าทายที่พบต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองคือการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการหา key person ในการขับเคลื่อนพื้นที่การเรียนรู้นั้น เพราะถึงแม้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้แหล่งประวัติศาสตร์จะตระหนักในคุณค่าของพื้นที่ ที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจท่องเที่ยวได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าจะสื่อสารคุณค่านั้นออกมาให้คนทั่วไปทราบอย่างไร

เช่นเดียวกับที่หน่วยงานระดับท้องถิ่นที่ด้วยระบบระเบียบบางประการ ทำให้ยังไม่สามารถเข้ามาขับเคลื่อนพื้นที่การเรียนรู้เท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ตำบลนางแก้วและตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม ที่มีการค้นพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นสมรภูมิศึกบ้านนางแก้ว อันเป็นสงครามระหว่างทัพพระเจ้าตากกับพม่า ราว พ.ศ. 2317 ในการศึกครั้งนั้น พระเจ้าตากได้ทรงระดมกองทัพจากหัวเมืองทั่วอาณาจักรมาล้อมค่ายพม่าไว้เป็นเวลา 47 วัน เพื่อบีบให้พม่ายอมแพ้เองอย่างราบคาบ โดยฝ่ายพระเจ้าตากไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อใดๆ

สมรภูมิดังกล่าวสะท้อนพระปรีชาชาญของพระเจ้าตาก และเป็นหนึ่งในศึกสำคัญในยุคธนบุรีก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งเรามองว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตรงนี้ควรได้รับการเผยแพร่ ไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยก็ได้มีเครือข่ายชาวบ้านพยายามประสานไปทางหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการพัฒนาพื้นที่ แต่ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ และอยู่ในการดูแลของ อบต. ถึง 4 แห่ง จนบัดนี้จึงยังหาเจ้าภาพไม่ได้

มีอีกกรณีหนึ่งที่เราคิดว่าน่าเสียดาย คือที่บ้านโคกพริก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการค้นพบโครงกระดูกและลูกปัดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หากปัจจุบันพื้นที่เสื่อมโทรมลงไปมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรีและเครือข่ายชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ประสานมายังกรมศิลปากรว่าอยากให้เราสนับสนุนข้อมูล เพื่อจัดทำศูนย์การเรียนรู้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สำหรับช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ทางเราก็เห็นด้วย จึงจัดทำข้อมูลและออกแบบนิทรรศการ ไปจนถึงทำแบบก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เสร็จสรรพเรียบร้อย

แต่เมื่อเรานำข้อมูลที่จัดทำไว้ทั้งหมดไปส่งมอบสู่ท้องถิ่น กลับไม่มีหน่วยงานไหนมาดำเนินการต่อ เพราะเห็นว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลที่เราค้นคว้าจึงยังถูกแช่ไว้ และกำลังอยู่ระหว่างการหาเจ้าภาพในระดับท้องถิ่นมานำไปพัฒนาต่อให้เป็นรูปธรรม

เราไม่ได้โทษทางหน่วยงานท้องถิ่น เพราะเข้าใจว่าเป็นระเบียบทางราชการของเขาด้วย เช่นที่หลายคนมักเข้าใจผิดว่ากรมศิลปากรมีหน้าที่ในการจัดตั้งหรือดูแลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ทั้งๆ ที่ในอำนาจหน้าที่เราเป็นฝ่ายให้คำปรึกษาและการสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เท่านั้น พิพิธภัณฑ์ชุมชนต้องเกิดจากการริเริ่มของชุมชนในการอยากบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง

เราจึงเห็นว่าการสนับสนุนให้เกิดกลไกแห่งการเรียนรู้ในระดับพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้ากลไกนี้เกิด ผู้คนจะตระหนักในคุณค่าของพื้นที่ และขวนขวายให้มีการเผยแพร่คุณค่าดังกล่าวสู่สาธารณะ โดยกลไกแห่งการเรียนรู้นี้ ยังต้องฝังเข้าไปในความคิดของทุกหน่วยงานในพื้นที่ด้วย เพราะลำพังแค่ชาวบ้านอย่างเดียว อาจไม่มีพลังพอจะทำให้การจัดตั้งพื้นที่แห่งการเรียนรู้ประสบผลสำเร็จ”   

ศาริสา จินดาวงศ์
ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย