“ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องประชาสัมพันธ์เยอะขึ้น เพราะพูดตรง ๆ นะครับ ผมแทบไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องข่าวผ่านการประชาสัมพันธ์แบบจริงจัง ได้ยินคนเขาคุยกันมาเฉย ๆ ยังไม่เห็นรูปร่าง ไม่รู้ว่าจะเริ่มสร้างสถานีตรงไหน หรือใช้ถนนเส้นไหนในการเดินรถ”

Start
343 views
8 mins read

“ผมมีบ้านอยู่ที่นี่ครับ แต่ไปทำงานที่อื่น ไม่ได้อยู่ขอนแก่นมา 17 ปีแล้ว คือ พึ่งกลับมาได้ไม่นาน พอมาถึงก็รู้สึกแปลกใจพอสมควร เพราะขอนแก่นเปลี่ยนไปเยอะมาก พัฒนาขึ้นมีอะไร ๆ ที่เหมือนเมืองใหญ่ ๆ มี ผมจึงมาเริ่มทำร้านกาแฟ ตอนแรกก็คิดอยู่ว่า คนจะกินกันเยอะไหมนะ คนจะอินรึเปล่า แบบที่เราเห็นเทรนด์ในเมืองอื่น ๆ ไปมา ๆ ช่วงที่ 5 ปีที่ผ่านมาร้านกาแฟกลายเป็นแฟชั่นของคนเมืองขอนแก่น คนพากันมาถ่ายรูปซะส่วนใหญ่ มาดื่มกาแฟจริงจังก็พอมี ไม่เยอะ แต่ดูแนวโน้มแล้วดีขึ้นครับ เหมือนคนเริ่มเข้าใจ ซึ่งก็ตรงกับที่เราคิดไว้ตอนเปิดร้านว่ากลุ่มลูกค้าของเรา คือ คนที่ชอบกาแฟ รักการดื่มกาแฟ และจริงจังกับมัน

ร้านของเราเปิดแต่เช้าครับ 7 โมงครึ่ง คือ เปิดแต่ไม่ค่อยมีลูกค้า เราก็หวังว่าคนมาวิ่งที่บึงน่าจะแวะมาบ้าง แต่ก็ยังไม่มาก เมื่อก่อนเคยเปิด 9 โมง ตอนนี้เปลี่ยนมาเปิดเช้าขึ้นเพราะต้องเลี้ยงลูก เลยปรับเวลาเป็นเปิดแต่เช้าตรู่แล้วปิดร้านเร็วหน่อยจะได้มีเวลาดูแลเขา

ถ้าให้พูดถึงขอนแก่น ผมคงมองไม่ได้ลึกซึ้งเท่าคนในตลาด หรือคนที่เขาอยู่ในเมืองมานาน ๆ แบบไม่ย้ายไปไหน อย่างที่บอกว่าผมแปลกใจที่เมืองพัฒนาไปมาก มากแบบมีทุกอย่าง มีห้าง มีโรงแรม ย่านธุรกิจ แต่สิ่งที่ขาดและจำเป็นมาก ๆ คือ ขนส่งสาธารณะ แบบวิ่งวนรอบเมืองและเชื่อมไปอำเภอรอบนอก จริงอยู่ว่าเดี๋ยวนี้ในเมืองมี Grab แต่มันก็ไม่ใช่ของพื้นฐานอย่างรถประจำทาง ยิ่งพอจะออกจากเมืองเชื่อมไปอำเภอรอบ ๆ ก็เริ่มลำบากละ การอยู่ขอนแก่นจึงต้องมีรถ ส่วนข้อดีของการพัฒนาอย่างเรื่องสวนสาธารณะขอนแก่นมีสวนและบึงอยู่กระจายรอบเมือง เป็นที่โล่ง มีต้นไม้ เป็นสวนที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์การกระจายตัวของเมือง และบริการคนที่อยู่รอบ ๆ ได้ดีทีเดียว ใกล้ที่ไหนไปที่นั้น 

ส่วนเรื่องรถรางเบา ผมมองว่าถ้าทำได้จริง ก็เป็นสิ่งที่ดีครับ ผมยังไม่ได้ตามอ่านข้อมูลมากนัก เลยไม่รู้ว่าตกลงตอนนี้โครงการเขาเดินหน้าไปถึงไหนกันแล้ว แต่มองว่ามันน่าจะตอบโจทย์เรื่องการขนส่งภายในเมืองขอนแก่นได้แน่ ๆ ถ้ามีขึ้นจริง ๆ อาจจะมีช่วงแรก ๆ ที่น่าจะมีปัญหาเรื่องการจราจรนิดหนึ่ง เพราะคนน่าจะยังไม่ชิน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องประชาสัมพันธ์เยอะขึ้น  เพราะอย่างตอนนี้ พูดตรง ๆ นะครับ ผมก็ยังแทบจะไม่ค่อย หรือได้รับรู้เรื่องข่าวผ่านการประชาสัมพันธ์แบบจริงจัง ได้ยินข่าวคนเขาคุยกันมาเฉย ๆ ยังไม่เห็นรูปร่าง ไม่รู้ว่าจะเริ่มสร้างสถานีตรงไหน หรือใช้ถนนเส้นไหนในการเดินรถ แต่ถ้าถามว่ารอคอยไหม ก็อยากให้มีคนทำ อยากให้เมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”  

พิณยพงศ์ ชลหาญ
เจ้าของร้านกาแฟ prodigy

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย