งานดูแลน้อง ๆ หรือการเรียนการสอน มันทำให้ตัวเรามีคุณค่าเห็นคุณค่าในตนเอง เราก็อยากทำต่อ

Start
236 views
12 mins read

ผมเป็นคนขอนแก่นครับ บ้านอยู่อำเภอน้ำคลองห่างจากตัวเมืองไป 30 – 40 กิโลเมตร  เรียนและเติบโตมาในใช้ชีวิตในเมือง ผมเริ่มมาทำงานเกี่ยวข้องกับเทศบาล น่าจะอายุประมาณ 16-17 ตอนนั้นมาเป็นแกนนำสิ่งแวดล้อม เป็นเครือข่ายเด็กกิจกรรมอยู่ในเครือข่ายของโรงเรียนเทศบาลนครขอนแก่น ยุคนั้นประเด็นยอดฮิตจะเป็นเรื่องพลังงาน เรื่องโลกร้อน ตอนนั้นขอนแก่นมีปัญหาขยะล้นเมืองอยู่ด้วย ก็ทำงานแบบนี้มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 จนมาเป็นครูประจำโรงเรียนเทศบาล คือค่อย ๆ ขยับงานขึ้นมาเรื่อย ๆ จากเป็นอาสาสมัคร ต่อด้วยเป็นลูกจ้างสำนักการศึกษาเทศบาล ไปสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วย ก่อนจะไปประจำที่อุดรฯ ได้ 2 ปี แล้วกลับเข้ามาช่วยทางเทศบาลนครขอนแก่นดูแลเด็กนอกระบบกับเด็กเร่ร่อน จนตอนนี้เป็นรองผอ.อยู่โรงเรียนโนนชัย

โรงเรียนโนนชัย ที่ผมสอนอยู่ในปัจจุบัน เปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ม.3 ครับ เป็นโรงเรียนวิถีชุมชนเน้นพัฒนาทักษะชีวิต สอนกระบวนการคิดให้นักเรียนสามารถอยู่รอด อยู่เป็น และอยู่อย่างมีความหมายในสังคม เพราะว่าเด็กของโรงเรียนโนนชัยจะเป็นเด็กชุมชนชานเมือง และมีน้อง ๆ จากชุมชนแนวทางรถไฟมาเรียนด้วย ถือว่าเป็นน้อง ๆ ที่จะเติบโตไปทางสายอาชีพ ถือว่าเป็นเด็กกลุ่มที่ยังมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา คือ จริงๆ ในขอนแก่นมีน้อง ๆ ที่อยู่นอกระบบการศึกษา หรือไม่ได้เรียนหนังสืออีกมากครับ ผมเคยร่วมงานกับทีมงานไร้พรมแดน พบว่ามีเด็กและเยาวชน หรือวัยรุ่นที่ไม่ได้รับการศึกษาอยู่ราว ๆ 10 – 15 คน คิดง่าย ๆ ว่าลองคูณด้วย 95 ชุมชนในเขตเทศบาลเข้าไป ผมคิดว่าตัวเลขถ้ารวมประชากรแฝงอยู่ด้วยน่าจะมีถึงสองสามพันคนนะครับ  แล้วเขามีการรวมตัวกับเป็นแก๊งด้วย ธรรมชาติของเด็กกลุ่มนี้คือชอบเล่นชอบเที่ยว โดยเฉพาะเที่ยวกลางคืน ติดเพื่อน ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด อบายมุขทุกรูปแบบ และตามมาด้วยปัญหาอาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย คดีค้ายาเสพติด ฯลฯ ที่ผ่านมาทางเทศบาลนครขอนแก่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังจำได้ว่าราวปี 2554 ตอนนั้นผมเป็นลูกจ้างชั่วคราวสำนักการศึกษา ได้รับมอบหมายให้ดูแลน้อง ๆ กลุ่มนี้ จึงได้เข้าไปคลุกคลี และเข้าใจปัญหาของพวกเขาจริง ๆ  น้อง ๆ จะเรียกผมว่า ‘ครูมาหา’ ไม่ใช่มหาแบบคนที่บวชพระแล้วนะครับ หมายถึง ครูมาหาแล้ว อะไรทำนองนั้น ตอนนั้นคือเราลงไปเดินชุมชน ทำความรู้จักน้อง ๆ ชวนเขามาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ จนไปถึงเข้าไปคุยกับหัวหน้าแก๊ง แก๊งใหญ่สุดตอนนั้นคือแก๊งมังกรดำ ผมก็มีโอกาสได้คุย ก็พยายามสร้างความเข้าใจชวนน้อง ๆ มาร่วมฟื้นฟูเยียวยา หาโอกาสอบรมพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมให้ไปเรียนหนังสือ จนเด็กกลุ่มนี้สามารถที่จะมีคุณภาพที่ดีขึ้นสลายแก๊งสลายกลุ่ม หันมาทำงานทำการ ทำกิจกรรมเพื่อสังคม

งานดูแลเด็กนอกระบบ เด็กชายขอบ ผมคลุกคลีมาได้พักใหญ่ และเมื่อปี 2564 ก็ได้ช่วยกันกับเครือข่ายจัดงาน 10 ปีเด็กชายขอบ เราสรุปข้อค้นพบเป็นนวัตกรรมที่เรียกว่านวัตกรรม 5C กลวิธีในการเข้าไปนั่งในใจเด็กชายขอบกับกระบวนการเรียนรู้นอกกรอบ 5C ประกอบด้วย คือ C1 คือ Compassion  คือการใช้ความเห็นอกเห็นใจ พยายามเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและคนทำงาน C2 ก็คือ Connect อันนี้สำคัญที่สุด คือต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การเริ่มพูดคุยเริ่มสื่อสารกันสำคัญมาก C3 Control ดูแลและช่วยนำพาให้เด็กไปในทางที่ดี ต้องสร้างสัมพันธ์ให้เด็กยอมรับ C4 Continue ความต่อเนื่องที่ต้องทำให้เกิดขึ้นผ่านกิจกรรม ผ่านความสัมพันธ์ นำพาเด็กกลุ่มนี้ให้เขาออกมาทำงาน ออกมาเรียน พาไปสู่การประสบผลสำเร็จเป็น C5 คือ Complete

ส่วนตัวผมจึงมองว่าการเรียนการสอนในระบบหรือจะนอกระบบ สุดท้ายต้องมาตอบโจทย์เรื่องการได้ทำสิ่งดี ทำให้ตัวเรามีความสุข ที่ได้ทำงานดูแลน้อง ๆ หรือการเรียนการสอน มันทำให้ตัวเรามีคุณค่าเห็นคุณค่าในตนเอง แล้วเราจะอยากทำต่อเนื่อง อย่างผมก็ลากยาวกันมาจนมาเป็นครูจนมาเป็นผู้บริหาร ก็ยังไม่ทิ้งเรื่องนี้ยังนำพาทีมงาน ทำงานกันต่อ เพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ครับ”

อังคาร ชัยสุวรรณ (ครูมาหา)
รองผู้อำนวยการโรงเรียนโนนชัย อ.เมืองขอนแก่น

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย