“ผมอยากเห็นการโต้เถียงกันถึงอนาคตเมืองระยองอย่างเปิดกว้าง พร้อมคำถามใหม่ๆ ที่ท้าทาย”

Start
311 views
17 mins read

“ผมไม่เคยชอบไปโรงเรียนตอนเด็กมากๆ เหตุเพราะโดนครูทำโทษด้วยไม้เรียวจากเรื่องที่ไร้สาระ และถ้าเราตั้งคำถามครู ก็มักจะโดนด่าว่าเป็นเด็กเถียงผู้ใหญ่…เลยคิดว่าถ้าโตมา ผมอยากเป็นครูที่ดีกว่านี้ และนั่นทำให้พอเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ผมจึงเลือกคณะครุศาสตร์ (ครุศาสตร์อุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ)

จนเรียนจบออกมา ก็คิดว่าการเป็นแค่ครูยังไม่พอ ถ้าเราอยากออกแบบโรงเรียนหรือวิธีการสอนหนังสือในแบบของเราได้ ก็ควรต้องเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน (หัวเราะ) หากระหว่างนั้นช่วงคาบเกี่ยวก่อนเรียนจบ ผมได้ชวนเพื่อนๆ ที่มีความคิดแบบเดียวกันมาตั้งกลุ่ม Dot to Dot ทำงานด้านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา โดยมีเป้าหมายอยากสร้างโรงเรียนที่สร้างเด็กๆ ให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจถึงความหลากหลายในสังคม ดยใช้แนวคิด transformative learning พอได้ทำกลุ่มนี้ ก็เปลี่ยนวิธีคิดผมไปอีกว่า ไม่ต้องเป็น ผอ. โรงเรียนก็ได้ สิ่งที่ต้องการจริงๆ คือการมีพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ยึดติดอยู่แต่กับกรอบการศึกษาเดิมๆ

ที่ผ่านมา Dot to Dot ทำงานร่วมกับองค์กรที่สนับสนุนการศึกษานอกห้องเรียนหลากหลายกลุ่ม กระทั่งได้มีโอกาสร่วมเวิร์คช็อปกับ บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด และเรามีมุมมองด้านการศึกษาเรียนรู้แบบเดียวกัน จนนำมาสู่การจัดตั้ง Converstation บนถนนยมจินดา

Converstation คือพื้นที่ที่เราตั้งใจให้คนที่เข้ามาใช้ไม่คิดว่ามาเรียนหนังสือ แต่มาทำกิจกรรมสนุกๆ ที่แต่ละคนสนใจ มาร่วมพูดคุย ทำเวิร์คช็อปในเนื้อหาเฉพาะ อ่านหนังสือ เล่นบอร์ดเกม หรือดูหนัง โดยมีกระบวนกร (facilitator) ที่คอยอำนวยความสะดวกในกิจกรรมต่างๆ และชักชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมถอดบทเรียนที่ได้

การมาทำกิจกรรมกับเราจึงไม่ใช่การมาเรียน แต่พอทำเสร็จ ผู้ร่วมกิจกรรมอาจได้รู้… รู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำ รวมถึงได้รู้จักตัวตนของพวกเขาเอง 

กลุ่มที่มาร่วมกิจกรรมกับเราเป็นเด็กมัธยมปลายในระยองเป็นหลัก หลายคนทำกิจกรรมหนึ่งแล้ว ก็กลับมาทำอีกกิจกรรมหนึ่ง ทำๆ ไปก็เกิดกลุ่มก้อนที่มาพูดคุยกันว่าถึงเรื่องย่านยมจินดา เรื่องเมืองระยอง ไปจนถึงไอเดียที่เขาอยากเห็นในการพัฒนาเมืองนี้ 

แนวคิดเรื่อง City Curator ที่เราใช้เป็นเครื่องมือในการทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กับ บพท. ก็มาช่วงเวลานั้นครับ จากกิจกรรมตามความสนใจของแต่ละคน พอได้รวมกันมันก็ทรานส์ฟอร์มมาสู่กิจกรรมที่อยากทำเพื่อขับเคลื่อนเมือง ผมก็ชวนเด็กๆ กลุ่มนี้มาเรียนรู้บ้านเมืองของเราเองกัน กลไกการบริหารจัดการเป็นยังไง ปัญหาของเมืองตอนนี้คืออะไร และเราจะมีส่วนในการดูแลหรือพัฒนาเมืองของเราได้อย่างไร จาก City Curator เลยพัฒนาไปสู่ City Mover ในที่สุด

ทั้งนี้ ผมก็พยายามติดตั้งกลไกการเรียนรู้นี้ไปสู่ระดับชุมชนทั่วระยองด้วย เพราะคิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่ในชุมชนมีความแอคทีฟแบบเดียวกัน แต่ละย่านก็จะมีคนคอยขับเคลื่อนขึ้นมาอีกเยอะ เลยเข้าไปหาคนรุ่นใหม่ในแต่ละชุมชน ผ่านการไป track ตามโรงเรียนต่างๆ และตามต่อว่าบ้านน้องๆ (ที่สนใจร่วมกิจกรรม) เขาอยู่ย่านไหนบ้าง ก่อนจะออกแบบหลักสูตรให้พวกเขาเหล่านั้นมาเรียนรู้ชุมชนของตนเองในทุกวันเสาร์ เป็นเวลา 5 สัปดาห์  

ย้อนกลับมาที่ Converstation จากการทำกิจกรรมและแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กๆ ที่มาร่วมกับเราคิดอยากทำกิจกรรมอะไรสักอย่างขึ้นมาที่ย่านยมจินดา กิจกรรมที่เป็นมากกว่าถนนคนเดินแบบเดิมๆ นั่นจึงนำมาสู่การจัด ‘ยมจินเดย์’ โดยชวนนักออกแบบและศิลปินท้องถิ่นมาจับคู่กับเจ้าของพื้นที่หรือผู้ประกอบการ มาถ่ายทอดเรื่องราวของถนนสายนี้ออกไปในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการศิลปะ การออกร้าน เวิร์คช็อปเชิงปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ การแสดงและดนตรี ไปจนถึงการชวนคนที่สนใจมาร่วม rally ชมอาคารสำคัญๆ ของย่าน เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจาก CEA (สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์)  และเทศบาลนครระยอง มาร่วมขับเคลื่อนจนเกิดเป็นรูปเป็นร่าง  


ตลอดปี 2565 เราจัดยมจินเดย์ไปทั้งหมด 3 ครั้ง ได้ฟีดแบ็คจากชาวชุมชนในเชิงบวก รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในย่านเยอะขึ้น จนเทศบาลเขาก็ชวนต่อโดยเชื่อมเราเข้าถึงกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จนได้งบประมาณสำหรับการจัดกิจกรรมยมจินเดย์ต่อเนื่องในทุกเดือน 12 เดือน 12 เทศกาล ตอนนี้อยู่ระหว่างการโหวตกันอยู่ว่าแต่ละเทศกาลจะมีธีมอะไรบ้าง ก็มีคนเสนอมาตั้งแต่เทศกาลน้ำแข็งใส ผลไม้ ไปจนถึงคอสเพลย์ เป็นต้น

อันที่จริงทั้ง Converstation ยมจินเดย์ City Mover หรือโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ สำหรับผมมันคือเครื่องมือเครื่องมือหนึ่ง อย่างไรก็ดี ภาพที่ผมอยากเห็นจริงๆ ในเมืองเมืองนี้คือการที่คนระยองเข้าใจคนอื่น พร้อมจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันในแนวระนาบ

ที่ผ่านมา เราเห็นตรงกันว่าระยองมันเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีระบบทุนนิยมขับเคลื่อน ต่างคนก็ต่างใช้ชีวิตไปในพื้นที่ของตัวเอง และนำมาซึ่งมุมมองที่คอยตัดสินคนอื่น  นั่นทำให้เรามักได้ยินคำพูดทำนองว่า… พวกเด็กรุ่นใหม่มัน… พวกผู้ใหญ่มัน… พวกข้าราชการมัน… พวกพม่ามัน… พวกเขมรมัน… หรือพวกนักวิจัยมัน… กล่าวคือเราพร้อมจะตัดสินคนอื่นโดยแทบไม่คิดจะฟังหรือเรียนรู้อะไรจากคนที่ต่างจากเรา  

ผมจึงอยากเห็นการตัดสินกันด้วยอคติแบบนี้ลดลง เด็กกล้าเสนอความเห็นกับผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่ก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนกับเด็กโดยไม่มีอคติ หรืออย่างเห็นภาพที่สุดคือ เราอาจโต้เถียงกันถึงอนาคตหรือการพัฒนาของเมืองเราได้อย่างเปิดกว้าง พร้อมคำถามใหม่ๆ ที่ท้าทาย” (ยิ้ม)

ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์
นักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ระยอง
นักวิจัยบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด / ผู้ก่อตั้ง Conversation
https://www.facebook.com/converstation.th/
https://www.facebook.com/Yomjinday

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย