/

“จังหวัดอื่น ถ้าคุณโดนตำรวจจับจากการเมาแล้วขับรถ คุณอาจไปเก็บขยะบนถนน แต่ที่ระยอง คุณจะต้องมาช่วยเราเก็บขยะในป่าชายเลน”

Start
212 views
16 mins read

“ช่วงราวปี 2549 เจ้าหน้าที่กองสิ่งแวดล้อมชวนตัวแทนชุมชนของเราไปดูงานป่าชายเลนที่สถานีพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและป่าชายเลนที่ 2 (ท่าสอน) จังหวัดจันทบุรี และชุมชนบ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด สองพื้นที่นั้นเขามีป่าโกงกางเหมือนเรา แต่ของเขาป่าสมบูรณ์ ส่วนของเรามีแต่พื้นที่ว่างเจิ่งน้ำและโขด เสื่อมโทรม หรือถ้ามี ป่าก็ถูกบุกรุก

เอาเข้าจริงตัวเมืองระยองเรามีป่ามากกว่า 300 ไร่อีกนะ แต่พอมันไม่ถูกจัดการดีๆ มันจึงถูกรุกล้ำอยู่เรื่อยๆ จนเหลือเท่านี้ พอได้เห็นว่าชาวบ้านที่นั่นเขามีวิธีจัดการพื้นที่อย่างไร และพอจัดการแล้ว พื้นที่นั้นสร้างประโยชน์ให้ชาวบ้านอย่างไร มันก็จุดประกายให้เราอยากกลับมาทำป่าชายเลนที่ระยอง บ้านเกิดของพวกเราบ้าง

ความคิดในการตั้งกลุ่ม (กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำระยองและป่าชายเลน จังหวัดระยอง) เกิดขึ้นช่วงปีนั้นเลย เราชวนตัวแทนจาก 7 ชุมชนที่อาศัยอยู่รอบป่าและริมแม่น้ำมาคุยกัน จากนั้นก็ได้เจอลุงบุญ (สมบุญ สุขอินทร์) และลุงคิน (คิน นาวงศ์) ซึ่งทั้งสองคนแกเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว พวกแกเป็นอีกแรงที่จุดประกายเรา ด้วยการช่วยกันสร้างสะพานไม้ภายในพื้นที่ป่าที่ยังมีความสมบูรณ์อยู่บ้างเพื่อให้คนเข้าไปเดินเล่น ทั้งสองก็ชวนให้พวกเราไปหาต้นกล้ามาปลูกป่าเพิ่ม

พอได้ต้นกล้ามา เราก็มาช่วยกันปลูก มีหน่วยงานทำโครงการเขาก็ชวนนักเรียนในระยองมาปลูก อสม. ผู้สูงอายุ หรือพนักงานจากบริษัทนั่นนี่ก็มาช่วยปลูก ปลูกกันได้กว่า 200 ไร่ ไม่กี่ปีต้นไม้มันก็เริ่มสูงใหญ่ 

พอปลูกป่าปุ๊บ จากที่ลุงบุญแกทำสะพานไม้ไว้ก่อนแล้ว เราก็คิดว่าน่าจะทำเพิ่ม เราก็ขอบริจาคลังไม้ฉำฉามาทำสะพานทางเดิน เวลาผ่านไป พอสะพานที่ลุงบุญทำไว้แต่แรกเริ่มผุ โรงงาน IRPC ก็เข้ามา เขาทุ่มงบทำสะพานใหม่และหอชมวิวให้เลย อันนี้คือช่วงปี 2554-2555  
ส่วนพื้นที่ป่าตรงฝั่งองค์เจดีย์ ตรงนั้นเราไม่ค่อยได้ไปยุ่ง เพราะเป็นแลนด์มาร์คของเมือง และเจ้าหน้าที่เขาลงบ่อย มันจึงมีความสมบูรณ์อยู่แล้ว กลายเป็นว่าพอเราปลูกในพื้นที่ของเรามากขึ้น ต้นไม้ก็ขึ้นเชื่อมเข้ากับพื้นที่ละแวกดังกล่าว กลายเป็นป่าผืนใหญ่

ต้นไม้น่าจะเริ่มขึ้นเต็มช่วงปี 2555 นี่แหละ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ พอป่ามันเต็ม สัตว์น้ำก็มาอยู่กันเยอะ จากสมัยก่อนกว่าจะหาปูได้นี่ขุดอยู่นาน แต่เดี๋ยวนี้แค่พายเรือเอาลอบมาวางตามรากของต้นโกงกาง ได้ปูกลับไปเยอะเลย ปูแสม ปูดำ หอยพอก ปลากระบอก ปลาบู่ทราย ไปจนถึงปลากะพง ส่วนตอนกลางคืนเดินๆ บนสะพานไม้ยังเห็นหิ้งห้อย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่เราขุดร่องแพรก แต่ทุกวันนี้พอร่องแพรกตัน และเราไม่มีงบในการขุดซ่อม เราจึงไม่ค่อยเห็นหิ่งห้อยเหมือนแต่ก่อน

มันสมบูรณ์ขนาดที่ว่าระหว่างที่เราทำสะพานไม้เพิ่มเติม และเข้าไปทำความสะอาดพื้นที่เนี่ย เราเห็นว่าเศษไม้มันลอยไปทับกล้าไม้ที่เราปลูกไว้ เจ้าทองเฟื่องคนในหมู่บ้าน ก็เลยหยิบออกแล้วเอามาเสียบลงเลนทำเป็นคอกกันรอบต้นกล้าไว้ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร แต่สักพักลูกปูเข้าไปอยู่เยอะ เพราะแพลก์ตอนมันมาเกาะตามคอก ปูและปลาก็มาตอดกิน จากคอกกั้นต้นกล้า จู่ๆ ก็กลายเป็นธนาคารปูจริงจังเลย

ถามว่าเราจัดการขยะยังไง? หลักๆ ก็คืออาสาสมัครช่วยกันเก็บ และก็มีสำนักควบคุมประพฤติจังหวัดระยองมาร่วมอีกแรง เขาร่วมด้วยการส่งคนที่กระทำความผิดแล้วต้องบำเพ็ญประโยชน์สังคมให้มาเก็บขยะในป่าโกงกาง จังหวัดอื่น ถ้าคุณโดนตำรวจจับจากการเมาแล้วขับรถ คุณอาจไปเก็บขยะบนถนน แต่ที่ระยอง คุณจะต้องมาช่วยเราเก็บขยะในป่าชายเลน

เอาเข้าจริงตลอด 20 ปีมานี้ จากพื้นที่เสื่อมโทรมกลายเป็นป่าสมบูรณ์ ชาวบ้านอย่างเราไม่เคยได้ควักเงินตัวเองสักบาทเลยนะ เราลงแรงเป็นหลัก ชวนคนนั้นคนนี้จากภาครัฐและเอกชนมาลงพื้นที่ จากนั้นเขาก็ทำโครงการหรือทำกิจกรรม CSR มาช่วยต่อจิ๊กซอว์ให้เป็นรูปเป็นร่าง อย่างที่เครือเอสซีจีมาทำทุ่นเก็บขยะ IRPC มาบูรณะทางเดินและทำหอคอย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงจังหวัดมาสร้างสะพานไม้เพิ่มเติม รวมถึงอีกหลากหลายหน่วยงานมาทำป้ายสื่อความหมาย ทำให้ป่าแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้เพิ่มขึ้น

จะบอกว่าเป็นไปอย่างที่พวกเราตั้งใจไว้ไหม ก็เป็นแหละ แต่ถามว่าสำเร็จไหม เราคิดว่ายัง ความสำเร็จสำหรับเราคือการได้ส่งต่อให้พี่น้องในชุมชนมาช่วยกันสานต่อ ให้คนรุ่นใหม่มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง รวมถึงทำงานร่วมกับภาครัฐในการกำหนดขอบเขตการดูแลป่าให้มันชัดเจนกว่านี้ เอาจริงๆ เราขอเรื่องนี้มา 20 ปี จนป่านนี้ก็ยังไม่รู้เลยนะว่าขอบเขตการจัดการมันอยู่ตรงไหน หรือมีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพบ้าง คือทุกฝ่ายรู้หน้าที่ตัวเองหมด เพียงแต่ไม่รู้ว่าแล้วจริงๆ พื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจนของแต่ละฝ่ายรวมถึงของกลุ่มชาวบ้านอย่างพวกเรา มันอยู่ตรงไหน?

อีกเรื่องคือเทศบาลนครระยองค่ะ เมื่อก่อนเขามาร่วมมือกับเราดีมากเลย แต่พอยุคหลังๆ เราไม่เข้าใจว่าทำไมเราสื่อสารหรือเสนอโครงการอะไรไป เขาก็ทำเป็นไม่สนใจ เราไม่ได้มีอคติอะไรกับพวกท่านนะ พื้นที่ตรงนี้ก็อยู่ในเขตเทศบาล ก็อยากให้มาร่วมพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน”   

พี่อ๋อย พี่แจ๊ส และพี่ประเมิน
กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำระยองและป่าชายเลน จังหวัดระยอง

หมายเหตุ
: จากความร่วมแรงร่วมใจกับภาคส่วนต่างๆ ในระยอง เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนพื้นที่ 300 ไร่กลางใจเมือง ทำให้กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำระยองและป่าชายเลนฯ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว จากสถาบันลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2554

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย