“ถ้าคิดจะขายอะไรสักอย่าง ก็ควรขายสิ่งที่มาจากชุมชนหรือตัวตนของเราเอง”

Start
255 views
14 mins read

“พี่ย้ายมาอยู่ประแสปี พ.ศ. 2536 มาเป็นสะใภ้ที่นี่ ประแสในยุคนั้นเป็นชุมชนคนทำประมงพาณิชย์ที่ใหญ่มาก โดยครอบครัวสามีพี่เขาเปิดอู่ซ่อมเรือ เรือประมงเข้าออกแทบจะทั้งวันและทุกวัน เรือขึ้นมาที ลูกเรือก็จะแห่มาซื้อของ ที่นี่จึงเต็มไปด้วยร้านโชห่วย ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ไปจนถึงคาราโอเกะและสถานบันเทิง แม่สามีพี่ก็เปิดร้านบนถนนตลาดเก่าตรงนี้ ขับรถไปที่ซื้อของที่ตัวเมืองแกลง และเอามาขายที่นี่ เอาอะไรมาก็ขายได้หมด

สมัยก่อนชาวประมงเป็นคนอีสานเยอะ เวลาสาวอวนลงเรือ พวกเขาจะร้องเพลงกัน สนุกสนานเฮฮา ชุมชนเรามีเสน่ห์มากๆ พอมายุคหลังๆ ชาวประมงก็เปลี่ยนเป็นชาวต่างชาติ แต่การค้าขายก็เฟื่องฟูอยู่ จนกระทั่งมีกฎ IUU ที่ควบคุมการออกเรืออย่างเข้มงวด นั่นทำให้อุตสาหกรรมประมงค่อยๆ ซบเซา ท้ายที่สุดชาวประมงในปากน้ำประแสจึงไม่ได้ออกเรือหาปลากันอีกแล้ว เรือในหมู่บ้านทอดสมอทิ้งไว้ ส่วนมากจะปักอวนหาปลาบริเวณชายฝั่งแทน

หลังจากนั้น ผู้ประกอบการบางส่วนก็มาทำการท่องเที่ยวกัน เพราะในหมู่บ้านเรามีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ส่วนพี่ก็ขยับขยายจากการเปิดร้านขายของ เพิ่มมาทำร้านขายก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ในช่วงที่ตลาดเก่าของเรามีถนนคนเดินราวๆ ปี 2555

ที่หันมาเปิดร้านส่วนหนึ่งเพราะอยากให้ลูกๆ มาช่วยขายของด้วย เพราะอย่างที่บอก สมัยก่อนคนที่นี่ร่ำรวยมาก จึงส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศกันหมด พอเด็กๆ ไปอยู่ที่นู่น ก็กลายเป็นคนที่อื่น น้อยคนคิดจะกลับมาทำอะไรที่บ้าน พี่ก็ส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯ เหมือนกัน แต่ก็จะขับรถไปรับเขากลับมาบ้านทุกสุดสัปดาห์ มาช่วยกันขายของ อยากให้พวกเขาผูกพันกับที่นี่ ให้มีสำนึกรักบ้านเกิด

พอหลังจากลูกโตจนเรียนจบทำงานกันหมด พี่ก็มีเวลามากขึ้น ประกอบกับที่ประแสเริ่มติดตลาดการท่องเที่ยว พี่ก็เปลี่ยนจากร้านก๋วยเตี๋ยวซึ่งคิดว่าหากินที่ไหนก็ได้ มาเปิดร้านอาหารที่นำวัตถุดิบที่ชาวบ้านในชุมชนหาได้ปรุงเสิร์ฟนักท่องเที่ยว อยากให้เมนูอาหารของเรามันสะท้อนความเป็นชุมชน และให้คนที่มาประแสต้องมากินที่เรา เพราะคิดว่าถ้าจะขายอะไรสักอย่าง ก็ควรขายสิ่งที่มาจากตัวตนของเราเอง

กลายเป็นว่า พอชาวประมงที่นี่ขึ้นอวนแล้วได้อะไรมา เราก็รับซื้อ ขณะเดียวกันก็ทำแบรนด์สินค้าชุมชนด้วยอย่างข้าวเกรียบเคย รวมถึงพวงกุญแจตุ๊กตาปลา ก็ให้ป้าๆ แม่บ้านในชุมชนช่วยกันผลิต เปิดเป็นวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ 

จากการทำร้านเพราะอยากให้ลูกๆ ผูกพันกับบ้านเกิด มาสู่การทำร้านอาหารที่นำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน จนมาถึงการทำวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีหน่วยงานต่างๆ มาทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนประแส ไม่ว่าจะเป็นสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาให้งบตบแต่งพื้นที่ กระทรวงวัฒนธรรมพาพวกเราไปดูงานการจัดการตลาดวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาช่วยเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้า รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นต้น

เพราะเหตุนี้จึงมีการรวมกลุ่ม ‘ชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแส’ ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวกลางเชื่อมกับองค์กรต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเรารับทุกโครงการที่เข้ามา เพราะบางโครงการ ถ้าเราเห็นว่าไม่ตอบวัตถุประสงค์ มาทำเพราะแค่มีงบประมาณลงมา หรือถ้าบางโครงการสำเร็จรูปมาโดยไม่ได้มาจากความคิดของคนในชุมชนจริงๆ เราก็ปฏิเสธเขาไป

ทุกวันนี้สมาชิกกลุ่มพี่มีประมาณ 30 คน ซึ่งก็รวมผู้ประกอบการบนถนนสายนี้ทั้งหมด โดยเราจะคุยกันก่อนว่าแต่ละวาระเรามีแผนการอะไร แล้วไปคุยกับทางเทศบาลโดยตรง เพราะเรามีนายกเทศมนตรีประแสเป็นที่ปรึกษา

ทั้งนี้ เราก็คุยกับชาวบ้านทุกคนและเห็นตรงกันว่าเราอยากเป็นชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นำทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นจุดขาย และพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านทุกคนมากที่สุด เพราะหมู่บ้านนี้เป็นของเราทุกคน ไม่ว่าจะมีโครงการพัฒนาอะไร ทุกคนก็ควรมีภาพและเป้าหมายเดียวกัน

ถามว่าดีใจไหมที่หมู่บ้านได้รางวัลชุมชนวัฒนธรรมดีเด่น หรือเป็นที่ศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ ก็ดีใจนะ แต่ที่ดีใจจริงๆ คือการได้เห็นทุกคนร่วมกันทำงาน ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนานี่แหละ หรืออย่างแค่ทำวิสาหกิจชุมชน ชวนป้าๆ ต่างๆ มาร่วมกันทำสินค้าจนมีเงินปันผลแบ่งทุกคน แม้มันจะไม่ได้มากมายอะไร แต่เห็นป้าๆ ดีใจที่มีรายได้ หรือการได้ไปออกร้าน ออกงานในจังหวัดต่างๆ รวมถึงการที่ลูกๆ เรากลับบ้านเกิดช่วยธุรกิจที่ร้าน แค่นี้พี่ก็คิดว่าสิ่งที่เราทำมาถูกทางแล้ว”

สุภาพร ยอดบริบูรณ์
เจ้าของร้าน ‘เจ๊หน่องแซ่บเวอร์’
และประธานชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแส
https://www.facebook.com/tomyamnong/
https://www.facebook.com/VisitPrasae/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย