“โอกาสด้านอาชีพของเมืองระยองยังหลากหลายอยู่มาก คุณอาจไม่จำเป็นต้องเรียนวิศวกรรมศาสตร์ หรือสายวิทยาศาสตร์เพื่อจบออกมาทำงานบริษัทใหญ่ๆ ของเมืองนี้อย่างเดียว”

Start
350 views
12 mins read

โดยตำแหน่ง ผมจะรับผิดชอบด้านการศึกษาของเทศบาลนครระยอง ก็ดูแลโรงเรียนทั้งหมด 6 โรงเรียนในเขตเทศบาล โดยในจำนวนนั้นมีโรงเรียนระดับมัธยมอยู่ 1 โรงเรียน นั่นคือนครระยองวิทยาคม

จริงอยู่ที่ระยองได้รับการจัดอันดับให้เป็นจังหวัดที่มี GDP สูงที่สุดในประเทศ แต่ตามข้อเท็จจริง GDP เราไม่ได้กระจายถึงทุกคนอย่างทั่วถึง เทศบาลเรามีประชากรราว 50,000-60,000 คน แต่มีประชากรแฝง หรือคนที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองหลักแสนคนได้ น่าเสียดายที่คนระยองแท้ๆ ที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ก็หาได้มีรายได้สูงเท่ากับที่ GDP มันบ่งชี้เท่าไหร่เลย ดังนั้น การปูพื้นเรื่องการศึกษาที่จะนำไปสู่การเข้าถึงอาชีพที่มีความมั่นคงจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แม้โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเราหลายแห่งอยู่ในรูปแบบโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เราไม่ใช่ตัวเลือกแรกของผู้ปกครองที่มีฐานะดีในระยอง อย่างไรก็ตาม ผมกลับพบว่านี่เป็นข้อดีที่จะทำให้สถานศึกษาของเราช่วยทำให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเด็กๆ จากครอบครัวยากจน ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ เข้าถึงทักษะการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา การแสดง ศิลปะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพื้นฐานทางวิชาชีพอื่นๆ

เพราะโอกาสด้านอาชีพของระยองเรายังหลากหลายอยู่มากนะครับ คุณอาจไม่จำเป็นต้องเรียนวิศวกรรมศาสตร์ หรือสายวิทยาศาสตร์เพื่อจบออกมาทำงานบริษัทใหญ่ๆ อย่างเดียว ระยองยังต้องการบุคลากรจากวิชาชีพอันหลากหลาย เพื่อมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองนี้อีกมาก ยิ่งเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีทำให้หลายๆ อย่างง่ายขึ้น การมีทักษะวิชาชีพเฉพาะก็ดี ทักษะในการใช้ชีวิตที่หลากหลายก็ดี เมื่อเจ้าของทักษะรู้ว่าจะประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีที่มีได้อย่างไร ความมั่นคงในชีวิตก็จะตามมา

ควบคู่ไปกับการศึกษาในโรงเรียน เทศบาลก็ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน อย่างเห็นได้ชัดเลยคือความพยายามจะพัฒนาให้ป่าชายเลนกลางใจเมืองของเราให้กลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งในแง่มุมของระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการฝึกเด็กๆ ให้รองรับกับการท่องเที่ยว ดังที่เราจัดทำโครงการมัคคุเทศก์อาสา ให้นักเรียนไปฝึกนำชมสถานที่แก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครระยองที่ตั้งอยู่ในสวนศรีเมือง ก็เป็นอีกพื้นที่การเรียนรู้ที่ขณะนี้ทางเทศบาลกำลังปรับปรุงให้รองรับกับกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น โดยตั้งใจให้ที่นี่เป็น co-working space ควบคู่ไปกับพื้นที่กลางสำหรับจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ของคนในเมือง

ผมมองว่าห้องสมุดเรามีทำเลที่ได้เปรียบห้องสมุดประจำเมืองอื่นๆ นะ เพราะมันตั้งอยู่ในสวนสาธารณะใจกลางเมืองเลย เรายังเคยปรับพื้นที่บางส่วนให้เป็นฟิตเนสด้วย ในอนาคตเรามีแผนจะปรับอาคารนี้ให้รองรับการใช้งานสำหรับทุกเพศทุกวัยได้มากขึ้น มีการจัดกิจกรรมประจำสัปดาห์ หรือเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้จัดกิจกรรม เป็นทางเลือกใหม่ให้คนระยองได้ใช้เวลาว่างกับครอบครัวในวันหยุด

พร้อมกันนั้น เรายังมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสียตรงโรงฆ่าสัตว์ให้กลุ่มเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ เชื่อมไปกับพื้นที่รกร้างที่กระจายตัวทั่วเมืองที่จะถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนหย่อม เชื่อมแผนการพัฒนาเมืองโลว์คาร์บอนไปพร้อมกัน  

สำหรับผม เมืองระยองของเรามีบริบทของความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ครอบคลุมแทบทุกด้านอยู่แล้ว ทั้งสิ่งแวดล้อม ประมง ภูเขา ทะเล การเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ไปจนถึงประวัติศาสตร์จากย่านเมืองเก่า แต่สิ่งสำคัญก็คือทุกภาคส่วนจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมโยงและการสื่อความหมายให้ทุกคนตระหนักว่าเราจะหยิบองค์ความรู้ที่อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่นี้มาใช้อย่างไร ขณะเดียวกัน เทศบาลนครระยองก็พยายามจะสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้อย่างสะดวกสบายมากที่สุด”  

นิพนธ์ เตชโชควารี
รองนายกเทศมนตรีนครระยอง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย