“ถามว่าแก่งคอยมีอะไรที่นักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่รู้อีก จริงๆ แล้ว เมืองเรานี่อาหารอร่อยเยอะนะครับ สามารถทำเส้นทางตระเวนกินยังได้”

Start
264 views
11 mins read

“สมัยก่อนถ้าเป็นคนที่อื่นมาอยู่สระบุรี จะภาคเหนือหรืออีสาน เขาก็จะเรียกว่าคนลาวหมดครับ พอเมืองสระบุรีเริ่มเติบโตเพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้ง คนจากที่อื่นก็ย้ายมาทำงานที่นี่กันเยอะ

อย่างตลาดที่ผมขายของอยู่ทุกวันนี้ในเทศบาลเมืองแก่งคอย ก็เป็นตลาดที่ขยายมาจากตลาดเทศบาลฝั่งตรงข้าม ก็มีพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่มาตั้งแผงขายบนถนน จนเทศบาลเขาก็ผ่อนผันให้เป็นตลาดชั่วคราว โดยให้ขายแค่ช่วงเย็น ความที่คนต่างถิ่นมาขายตรงนี้เยอะ เลยเรียกต่อๆ กันว่าตลาดลาวมาจนถึงวันนี้

ก่อนหน้านี้ ผมทำงานบริษัทบริษัทผลิตสุขภัณฑ์ของแบรนด์ต่างประเทศที่มาเปิดโรงงานในแก่งคอย ผมเจอแฟนที่บริษัท แม่ของแฟนขายขนมไทยอยู่ตลาดลาวนี่ ขายมา 50 ปีแล้ว มีขนมชั้น ขนมหม้อแกง ขนมวุ้น และข้าวเหนียวมะม่วงตามฤดูกาล รวมถึงกระยาสารท แล้วแฟนก็ลาออกมาช่วยขาย รวมถึงทำกับข้าวใส่ถุงมาขายข้างๆ ร้านของแม่ ขายมา 20-30 ปีแล้ว

พอผมเออร์ลี่รีไทร์จากบริษัท ก็มาช่วยแฟนขายกับข้าว บางวันก็เอากับข้าวและขนมจากแม่ยายบางส่วนไปขายที่ตลาดโต้รุ่งด้วย เพราะต้องยอมรับว่าช่วงหลังๆ มันมีตลาดเกิดขึ้นเยอะ คอยดักคนที่ทำงานโรงงานรอบๆ แถมหาที่จอดรถง่ายกว่า เขาก็เข้ามาซื้อในตัวเมืองแก่งคอยน้อยลง เราก็เลยเอาของที่เราทำไปหาลูกค้าบ้าง ส่วนในตัวเมืองนี้ก็มีกำลังซื้อจากคนที่อยู่ในเขตเทศบาลอยู่ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระวัดแก่งคอย โดยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์นี้ รถติดยาวบนถนนหน้าวัด ตลาดเราที่ขายตั้งแต่บ่ายสามโมงลงมาก็ได้อานิสงส์ไปด้วย

ควบคู่ไปกับการช่วยแฟนขายกับข้าว ผมก็ทำงานสังคมโดยเป็นประธานชุมชนสันติสุข ชุมชนที่ตลาดแห่งนี้และวัดแก่งคอยตั้งอยู่ด้วย และความที่ทำงานตำแหน่งนี้ เลยได้ร่วมกับทาง บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ทำโครงการวิจัยบ้าง รวมถึงโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้นี้ด้วย

ก็ไปร่วมอบรม ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทุกคนมีโจทย์เดียวกันคือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำยังไงให้ย่านการค้าเก่าแก่ในเขตเทศบาลมันฟื้น รวมถึงหาวิธีดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานคนแก่งคอยกลับมาทำงานที่บ้าน เพื่อทำให้เมืองมีชีวิตชีวา

ก็มองกันหลายวิธี แต่ส่วนตัวผมนะ ผมว่าถ้าเราทำแก่งคอยให้ดึงดูดการท่องเที่ยวได้ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เยอะ เพราะเรามีถนนมิตรภาพตัดผ่าน ใครจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเขาใหญ่ หรือไปภาคอีสานต้องผ่านเราหมด จะทำยังไงไม่ให้เขาผ่านไปเฉยๆ แวะเข้ามาไหว้พระ มาเดินตลาด หรือมาเดินถนนคนเดินบ้างอะไรแบบนี้  

ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดีนะครับ เพราะวัดแก่งคอยเขาก็พยายามสร้างจุดดึงดูดตลอด มีถ้ำพระยานาค มีพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง มีเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อลาเป็นจุดขาย คนก็เริ่มมาเยอะ แต่ก็คิดกันว่าน่าจะมีแม่เหล็กเพิ่มขึ้น หรือกิจกรรมสักอย่างที่ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจแวะพักสักหนึ่งคืน คือแก่งคอยก็มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติไม่น้อยนะครับ เป็นจุดปีนเขาและกีฬากลางแจ้งที่ได้รับความนิยม เพียงแต่มันยังเฉพาะทางอยู่ ถ้ามีอะไรเพิ่มกว่านี้ก็คงดี

ถามว่าแก่งคอยมีอะไรที่นักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่รู้อีก จริงๆ แล้ว เมืองเรานี่อาหารอร่อยเยอะนะครับ สามารถทำเส้นทางตระเวนกินยังได้ มีร้านโรงสีกาแฟที่เขาทำคาเฟ่ในโรงสีเก่า ร้านราดหน้า ร้านข้าวมันไก่นี่ก็ดัง ส่วนตลาดโต้รุ่งที่ขายตอนเย็น ก็มีร้านอร่อยๆ เยอะ

ส่วนตลาดลาวนี้ก็ด้วยครับ ร้านแม่ยายผมเอง ‘ขนมหวานแม่อนงค์’ ใครมาก็ต้องแวะซื้อขนมกลับไป ไม่ได้แนะนำเพราะเป็นร้านแม่ยายหรอกนะครับ ร้านนี้เขาขึ้นชื่อจริงๆ (หัวเราะ)”   

จิระวัฒน์ ตั้งใจ
ประธานชุมชนสันติสุข เทศบาลเมืองแก่งคอย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย