“พื้นเพป้าเป็นคนปากช่อง ได้สามีเป็นคนแก่งคอย เลยย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 สามีป้าขายล็อตเตอรี่ ส่วนป้าเคยขายขนมครกที่ตลาดเช้าแก่งคอย ขายจนส่งลูก 3 คน เรียนจนจบปริญญา พอลูกแต่ละคนทำงานแล้ว ป้าก็เลยเลิกขาย
อยู่บ้านเฉยๆ แล้วมันเหงาค่ะ พอเทศบาลเมืองแก่งคอย หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ไหนเขามีโครงการหรือกิจกรรมอะไรให้คนแก่อย่างป้าได้เข้าร่วม ป้าก็ร่วมกับเขาหมด คนแก่ถ้าคิดว่าแก่ เราก็แก่จริงๆ แต่ถ้าเราคิดว่ายังไม่แก่ หาอะไรทำ เราก็จะยังไม่แก่ ป้าเลยพยายามทำตัวให้สาวไว้ตลอด (หัวเราะ)
อย่างงานขายกระเป๋าสานนี้ ก็เกิดจากศูนย์ส่งเสริมอาชีพของจังหวัดเขาชวนให้เรามาเรียนทำกระเป๋าสานจากเศษพลาสติก ป้าไปเรียนแล้วชอบ ก็เลยติดลม ทำเล่นๆ จนได้กระเป๋ามามากพอจะเปิดร้านขาย เลยไปขายที่ตลาดแถวปากช่องก่อน แล้วพอแก่งคอยเขามีการจัดถนนคนเดินตลาดท่าน้ำแก่งคอย ป้าก็ไปจองบูธเอาของไปวางขายด้วย อย่างวันนี้มีงานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลก ทีมงานเขาก็จัดล็อคให้ป้าขายด้วย โดยนอกจากกระเป๋าสานที่ป้าทำเอง ป้ายังเอาสบู่สมุนไพรจากลพบุรีมาขายด้วย
กระเป๋าขายใบละ 150-250 บาทค่ะ ขึ้นอยู่กับขนาดและความยาก ป้าสานเองด้วยมือทุกใบ วันไหนขยันหน่อย ใบนึงทำวันเดียวก็เสร็จ พลาสติกนี่สั่งมาจากโรงงานแถวทับกวาง ได้มา ก็ลงมือสานเอง
ไม่ได้คิดถึงกำไรอะไรหรอก ทำเอาสนุกมากกว่า มีคนยุให้ทำขายทางออนไลน์ ป้าบอกทำไม่เป็น ป้าอายุ 75 ปีแล้ว บางอย่างก็ให้เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ดีกว่า ส่วนป้าเองไม่ได้ลำบากอะไร ลูกหลานทุกคนก็ลงตัวหมด คนโตทำงานอยู่กรุงเทพฯ อีกคนอยู่หนองแคนี่เอง และคนเล็กอยู่ศูนย์โตโยต้าสระบุรี เขาก็มาอยู่เป็นเพื่อนป้าที่แก่งคอย
ป้าว่าดีนะที่มีหน่วยงานมาสนับสนุนกิจกรรมให้ผู้สูงวัยน่ะ บางคนชอบคิดไปเองว่าคนแก่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรแล้ว อันนี้ไม่จริง เพื่อนป้าอีกหลายคนเขาก็อยากทำนั่นทำนี่เป็น อย่างป้าเองยังคิดจะทำแหนมขายต่อจากนี้ด้วย รอสูตรให้มันนิ่งๆ ก่อน”
ป้าน้อย-เจริญ น้อยธะรงค์
ผู้ประกอบการขายกระเป๋าสานในแก่งคอย