ที่ผมได้มาเป็นไวยาวัจกรวัดแก่งคอย เนื่องจากพ่อผมเคยเป็นมัคนายกมาก่อน ผมจึงผูกพันกับวัดนี้มาตั้งแต่เด็ก พอตำแหน่งนี้ว่างลง ท่านเจ้าอาวาสก็อยากหาคนที่ไว้ใจได้มาทำตำแหน่งนี้ ผมเกษียณงานประจำกลับจากกรุงเทพฯ พอดี เลยมารับช่วงต่อ ตอนนี้ทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว
ช่วงที่ผมมาเริ่มงานที่นี่ใหม่ๆ ท่านเจ้าอาวาส พระครูประภัศร์วรญาณ (ทรัพย์ ญาณวโร) มีวิสัยทัศน์มาก ก็มีการจัดสร้างวังบาดาล ถ้ำพญานาค พระธาตุอินทร์แขวนจำลอง มีการบูรณะกุฏิ และทำวัดให้มีความสะอาด สวยงาม และดึงดูดให้ลูกหลานมาสักการะบูชา รวมถึงจัดศาสนพิธีต่างๆ ทำให้วัดกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งอานิสงส์นี้ก็ส่งผลให้วัดแก่งคอยเป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอแก่งคอยถึงปัจจุบัน
วัดแก่งคอยเป็นวัดหลักของคนที่นี่ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพที่อำเภอเรา ทำให้ทัพสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิด เมืองถูกระเบิดราบ แต่บริเวณวัดแก่งคอย ระเบิดกลับไม่ทำงาน คนที่หนีมาอยู่ในวัดจึงรอดชีวิต ชาวบ้านเลยเชื่อกันว่าเป็นเพราะบารมีหลวงพ่อลา ชัยมงฺคโล (พระครูสุนทรสังฆกิจ) เจ้าอาวาสในยุคนั้น
หลังสงครามสิ้นสุด ก็มีการตั้งอนุสรณ์สถานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตภายในวัด และมีพิธีรำลึกทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี จนมาช่วงหลังทางหอการค้าจังหวัดสระบุรี เทศบาลเมืองแก่งคอย และทางจังหวัด ร่วมกันต่อยอดพิธีกรรมประจำปีนี้ให้เป็นเทศกาล ‘แก่งคอยย้อนรอยสงครามโลก’ ขึ้น มีการชวนชาวแก่งคอยแต่งตัวย้อนยุคมาออกร้าน ทำถนนคนเดินสายวัฒนธรรม การแสดงคอนเสิร์ต รวมถึงการแสดงแสงสีเสียงบอกเล่าประวัติเมืองแก่งคอยและเหตุการณ์ช่วงสงครามโลก โดยมีวัดแก่งคอยเป็นศูนย์กลางการจัดงานเชื่อมไปกับย่านการค้าใจกลางเมือง และสถานีรถไฟ ซึ่งจัดมาได้ 3 ปีแล้ว
นอกจากมีอนุสรณ์สถานผู้ประสบภัยทางอากาศช่วงสงครามโลก วัดแก่งคอยยังมีพระธาตุเจดีย์ศรีป่าสัก อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงยังมีชื่อเรื่องการทำน้ำมนต์และเขียนผ้ายันต์มาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อลา เล่ากันว่าเวลาที่หลวงพ่อท่านเขียนยันต์ พอน้ำตาเทียนไหล เวลาลูกศิษย์วัดจับ ท่านจะรู้ทันทีว่าถ้าน้ำตาเทียนออกมาเป็นสีแดงจะมีเคราะห์ ถ้าเป็นสีเหลืองจะแคล้วคลาด ถ้าเป็นคนที่มาทำกับท่านแล้วเป็นสีแดง ท่านจะอาบน้ำมนต์ให้ สะเดาะเคราะห์ไปในตัว สิ่งที่ร้ายก็จะหาย ขึ้นโรงขึ้นศาล คดีความ หรือเจ็บป่วยอะไรต่างๆ จะทุเลา
นายควง อภัยวงศ์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปจนถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่างก็มาเป็นลูกศิษย์ มาให้หลวงพ่อลาท่านอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้ หรือเรื่องผ้ายันต์ ก็เล่ากันว่าที่ระเบิดของสัมพันธมิตรด้านตอนสงครามโลกก็มาจากผ้ายันต์ของหลวงพ่อลา ผ้ายันต์จึงเป็นอีกสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะแวะมาบูชากลับไปจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ดี วัดเราก็ยังมีจุดที่ต้องแก้ไขอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าแก้ไขได้ จะส่งผลบวกต่อเมืองของเราด้วย เพราะช่วงหลังมานี้ วัดได้รับความนิยม ประชาชนหลั่งไหลมามาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุด รถจะติดยาวไปถึงตลาด และเมืองเราเล็กแค่นี้ มันจึงกระทบไปทั้งเมือง ผมจึงมีความคิดว่า ถ้าเราประสานกับเทศบาลเมืองแก่งคอย ให้มีการจัดหาที่จอดรถข้างนอกเขตตลาดให้ และมีรถพ่วงหรือรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ารับนักท่องเที่ยวจากที่จอดรถมาส่งยังวัดหรือตลาด ตรงนี้มันกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมเมืองหรือจับจ่ายใช้สอยร้านรวงในเมืองได้มาก
ซึ่งอย่าลืมว่าไม่เพียงวัดเราติดตลาด ยังอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ใกล้ศาลเจ้า ตลาดท่าน้ำแก่งคอยที่เป็นตลาดโบราณ และสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย ทั้งหมดสามารถเที่ยวชมด้วยการเดินเท้าได้ภายในครึ่งวัน ถ้าเทศบาลทำรถรับ-ส่ง และทำทางเท้าให้น่าเดิน แก่งคอยเราน่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เยอะ คนในเมืองก็ไม่ต้องเจอปัญหารถติด แถมยังมีทางเท้าที่ชวนให้เดิน ไม่ต้องใช้รถส่วนตัวอีก ผมเห็นว่าเทศบาลเขาก็มีแผนจะทำวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็อยากเสนอความคิดนี้ให้เขาไปพิจารณาด้วยครับ”
โชค มะลิซ้อน
ไวยาวัจกรวัดแก่งคอย และประธานชุมชนหลวงปู่พรหม