แก่งคอย…ย้อนรอยสงครามโลกเปลี่ยนบาดแผลประวัติศาสตร์สู่เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต

Start
402 views
48 mins read

นอกจากจะถูกจดจำจากเพลงดังที่มีชื่อเดียวกับชื่ออำเภอของ ก้าน แก้วสุพรรณ และเพลงฮิตของคาราบาว ซึ่งสื่อถึงที่มาของชื่อ ‘แก่งคอย’ อย่าง ‘แร้งคอย’ หากไม่ใช่คนในพื้นที่ อาจนึกภาพไม่ออกว่าอำเภอของจังหวัดสระบุรีที่เป็นปากทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และประตูสู่ภาคอีสาน มีความสำคัญอย่างไร?

ไม่เพียงเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำป่าสักและทางรถไฟ อำเภอแก่งคอย ยังเป็นจุดเริ่มต้น (ต่อจากอำเภอเมืองสระบุรี) ของถนนมิตรภาพ ถนนสายสำคัญที่รถทุกคันต้องวิ่งผ่านจากกรุงเทพฯ สู่ภาคอีสาน ไม่เพียงเท่านั้น อำเภอแห่งนี้ยังเรียงรายไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงงานปูนซีเมนต์ อันเป็นแหล่งผลิตปูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นั่นทำให้ที่นี่ยังเป็นอีกจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศด้านการก่อสร้างมาช้านาน

ขณะเดียวกัน ผ่านแง่มุมประวัติศาสตร์ นอกจากแก่งคอยและอีกหลายเมืองในสระบุรี รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงจะเป็นเมืองที่รัฐสยามได้กวาดต้อนชาวลาว ไทพวน และไทดำจากที่ต่างๆ มาตั้งรกรากในสมัยธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเข้มแข็งส่งผ่านมาถึงปัจจุบัน ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ดังที่กล่าวว่าแก่งคอยเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของการขนส่ง นั่นทำให้กองทัพญี่ปุ่นมาตั้งค่ายภายในอำเภอแห่งนี้ กระทั่งวันที่ 2 เมษายน 2488 กองทัพสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดปูพรมใส่เมืองริมแม่น้ำป่าสักที่เคยสุขสงบจนราบเป็นหน้ากลอง

จากบาดแผลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ชาวแก่งคอยได้ร่วมมือกันเปลี่ยนโศกนาฎกรรมครั้งนั้นเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม จากการจัดพิธีกรรมรำลึกสู่เทศกาลประจำปีที่นำเสนอ ‘ของดี’ ของเมืองไปพร้อมกับการรำลึกประวัติศาสตร์ จนเกิดเป็นงาน ‘เมืองแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลก’ ซึ่งจัดขึ้น ณ วัดแก่งคอย และย่านการค้าใจกลางเมืองในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี

อย่างไรก็ดี เมืองแห่งนี้ก็หาได้มีเพียงประวัติศาสตร์บาดแผลจากสงครามและโรงงานปูนซีเมนต์ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ขอรับงบประมาณงานวิจัยจาก บพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่เทศบาลเมืองแก่งคอยให้กลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างกระบวนการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน ก่อตั้ง ‘มหาลัยแก่งคอย’ กลุ่มคนที่ชวนกันสำรวจต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของเมือง ไฮไลท์จุดเด่นและหาแนวทางแก้จุดด้อย เพื่อพัฒนาให้แก่งคอยกลายเป็นที่พร้อมรองรับการเจริญเติบโต พร้อมกับการเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

ก่อนที่จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักชุดโครงการวิจัย ‘กลไกความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองแก่งคอยกับประชาชนในการจัดการเรียนรู้ของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองแก่งคอยให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ WeCitizens อาสาพาไปสำรวจพื้นที่เรียนรู้ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของเมืองแห่งนี้ อันเป็นต้นทุนพื้นฐานของการพัฒนาเมืองไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาเมืองดังที่ทีมงานวิจัยตั้งใจในบทความต่อจากนี้

แก่งคอยมาจากไหน?

หลายคนจดจำชื่อ ‘แก่งคอย’ มาจากเพลงแร้งคอยของวงคาราบาว ซึ่งมีเนื้อหาบอกเล่าถึงที่มาของชื่ออำเภอแห่งนี้ ส่วนทำไมต้อง ‘แร้งคอย’ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ด้วยชัยภูมิของพื้นที่ดังกล่าวเป็นปากทางเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากภาคกลางมาแต่โบราณ กองคาราวานนักเดินทางจำต้องรอนแรมผ่านป่าใหญ่ที่ชื่อว่า ‘ดงพญาไฟ’ หลายครั้งที่กองคาราวานต้องเสียชีวิตระหว่างเดินทางด้วยไข้ป่าหรือไม่ก็ถูกปล้นฆ่า เมื่อมีผู้คนถูกพรากชีวิตในบริเวณนี้กันมาก อีแร้งจึงมักมาชุมนุมเพื่อรอคอยกินซากศพ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ผู้คนจดจำพื้นที่แห่งนี้ในชื่อแร้งคอย ก่อนจะถูกเรียกกร่อนมาจนเป็นแก่งคอยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ความเจริญมาถึง มีผู้คนมาสร้างบ้านแปงเมืองริมแม่น้ำป่าสักเป็นจำนวนมาก พื้นที่ที่ผู้คนขนานนามว่าแร้งคอยก็กลายเป็นชุมชนการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับบริเวณดงพญาไฟ ที่เมื่ออันตรายลดน้อยลงและไข้ป่าสร่างซาไป รวมถึงมีการตัดเส้นทางรถไฟจากสระบุรีไปสู่นครราชสีมาได้สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ดงพญาไฟจึงไม่ใช่ดินแดนอาถรรพ์อีกต่อไป และชื่อของมันก็ถูกจดจำใหม่ในนาม ‘ดงพญาเย็น’ มาถึงปัจจุบัน

ขณะที่ในอีกที่มาหนึ่งของชื่ออำเภอแห่งนี้ มาจากบริเวณลำน้ำป่าสักที่ตัดผ่านเมือง แม่น้ำสายนี้แต่เดิมเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญของนักเดินทางและพ่อค้าจากเพชรบูรณ์ ชัยบาดาล สระบุรี เสาไห้ และอยุธยามาช้านาน ความที่แม่น้ำป่าสักช่วงที่ผ่านอำเภอแก่งคอยมีแก่งหินขนาดใหญ่ขวางลำน้ำอยู่ ซึ่งในฤดูแล้งที่ระดับน้ำป่าสักต่ำกว่าปกติ แก่งหินดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคสำคัญของการเดินเรือ นักเดินทางจึงต้องจอดเรือคอย เพื่อรอให้ระดับน้ำขึ้นสูงจนสามารถสัญจรผ่านได้ เป็นที่มาให้ผู้คนเรียกชุมชนบริเวณนี้ว่า ‘แก่งคอย’

ทว่า เมื่อภายหลังมีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้เกิดการควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักไม่ให้ต่ำเกินไปในฤดูแล้งได้สำเร็จ ชื่อแก่งคอยในเชิงกายภาพจึงเหลือเพียงตำนาน และเหลือเพียงชื่อเรียกอำเภอแห่งนี้อย่างเป็นทางการในที่สุด

สำรวจต้นทุนพื้นที่เรียนรู้แก่งคอย

วัดแก่งคอย และอนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่ 2

วัดแก่งคอยตั้งอยู่ติดกับตลาดเทศบาลใจกลางเมืองแก่งคอย เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวเมืองแก่งคอยและแม่เหล็กทางการท่องเที่ยวของเมือง รวมถึงจังหวัดสระบุรี ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และความเชื่อ หรือที่คนรุ่นใหม่รู้จักกันตามนิยามว่า ‘สายมู’

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2330 หรือราวต้นยุครัตนโกสินทร์ และเป็นเฉกเช่นชื่อเมือง แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า ‘วัดแร้งคอย’ เนื่องจากสมัยที่ชาวบ้านเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินในบริเวณนี้ใหม่ๆ ได้มีการตัดไม้เพื่อแผ้วถางพื้นที่ไปไม่น้อย คงเหลือไว้แต่เพียงต้นไม้ใหญ่ริมแม่น้ำป่าสักด้านหลังวัดไม่กี่ต้น ด้วยความที่เป็นต้นยางสูงใหญ่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเป็นที่สถิตของรุกขเทวดา จึงไม่มีใครกล้าตัด และนั่นทำให้ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้กลายมาเป็นที่อยู่ของอีแร้งที่มาคอยหาอาหารบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดแร้งคอย ก่อนจะเปลี่ยนชื่อวัดตามชื่อชุมชนว่าวัดแก่งคอยในที่สุด

วัดแก่งคอยเป็นที่ศรัทธาของชาวแก่งคอยมาช้านาน โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรพบว่าทหารญี่ปุ่นมาตั้งค่ายในเมืองแก่งคอย ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2488 จึงมีการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B24 ทั้งเมือง ส่งผลให้สถานที่ราชการ ตลาด และบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ระเบิดที่ตกลงมาที่วัดแก่งคอยกลับไม่ทำงาน ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อลา (พระครูสุนทรสังฆกิจ พ.ศ. 2428-2497) เจ้าอาวาสวัดแก่งคอยในสมัยนั้น ซึ่งทำให้ชาวบ้านที่หนีระเบิดมาหลบในวัดรอดชีวิต

ภายหลังสงครามยุติ ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตได้รวบรวมอัฐิของผู้วายชนม์มาไว้บริเวณวัด และจัดสร้างอนุสาวรีย์ผู้ประสบภัยทางอากาศ โดยจำลองลูกระเบิดที่ด้านลูกนั้นขึ้นมาเป็นอนุสาวรีย์ ก่อนจะมีการจัดพิธีรำลึกถึงผู้ประสบภัยในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

โดยบริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์ยังมีโมเดลหัวรถไฟแบบเครื่องจักรไอน้ำเขียนข้างตัวรถว่า ‘ร.ฟ.ล.’  ฉากหลังเป็นงานศิลปะวาดรูปพื้นที่รางรถไฟในอำเภอแก่งคอยขณะที่ถูกทิ้งระเบิดลงมา กำแพงด้านหลังอนุสาวรีย์ฯ ก็มีงานศิลปะนูนต่ำสีเงินจำลองพื้นที่ชุมชน ตลาด และวัดในแก่งคอย  

นอกจากนี้ วัดแก่งคอยยังเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์ศรีป่าสัก เจดีย์องค์ใหญ่สีขาวตัดขอบทอง สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยผนังรอบด้านในองค์เจดีย์ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพุทธชาดกและตำนานเทวดาต่างๆ และรอบระเบียงคดขององค์พระธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางประจำวันเกิดพร้อมโอ่งใส่น้ำและแก้วใบเล็กวางไว้ด้านข้าง เปิดให้ประชาชนได้รดน้ำขอพร

พระพุทธไสยาสน์นิมิตมงคลมุนีศรีแก่งคอยที่ประดิษฐานภายในพระวิหารของวัดแก่งคอย ยังเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่เมือง โดยเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) ลักษณะสมบูรณ์สวยงามมาก โดยพระพักตร์หันไปทางด้านแม่น้ำป่าสัก

ทั้งนี้ ล่าสุดทางวัดแก่งคอยยังมีการต่อเติมพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักเป็น ‘ถ้ำนาคา’ จำลองวังบาดาลของพญานาคพร้อมประดับด้วยหลอดไฟหลากสีสัน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสายมูได้เข้ามาเช็คอินและสักการะขอพร รวมถึงบริเวณเหนือถ้ำยังเป็นที่ตั้งของพระธาตุอินทร์แขวนที่จำลองต้นแบบมาจากเมียนมาร์อีกด้วย

วัดแห่งนี้จึงเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงพื้นที่การเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเมือง ไปจนถึงคติความเชื่อของสายมูไปพร้อมกัน เป็นแลนด์มาร์คที่หากใครเดินทางผ่านแก่งคอยเพื่อเข้าสู่ภาคอีสาน ก็มักจะต้องแวะมาขอพรให้ได้สักครั้ง

สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย

ด้วยทำเลที่อยู่ปากทางเข้าภาคอีสานของไทย กระทั่งก่อนมีการสร้างทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ 5 อำเภอแก่งคอยยังถือเป็นทางแยกสำคัญของการสัญจรทางน้ำที่สามารถเชื่อมไปทางฝั่งตะวันออกและภาคเหนือได้ โดยเฉพาะบริเวณหน้าวัดแก่งคอยที่เป็นที่ตั้งของเกาะแก่งตามลำน้ำอันเป็นที่มาของชื่อแก่งคอย

และนั่นเอง เมื่อความเจริญนำมาซึ่งทางรถไฟและสถานีรถไฟในอำเภอแห่งนี้ สถานีรถไฟแก่งคอยจึงเป็นชุมทางสำคัญของนักเดินทางในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเป็นชุมทางแยกไปถึง 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางผ่านอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ กับเส้นทางผ่านอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (ปลายทางจังหวัดอุบลราชธานี) ก่อนจะไปบรรจบกันที่สถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา (ปลายทางจังหวัดหนองคาย)

นั่นหมายความว่านักเดินทางที่จะเดินทางไปภาคอีสานหรือจากอีสานเข้ากรุงเทพฯ จะต้องมาเปลี่ยนเส้นทางยังสถานีรถไฟแห่งนี้มาแต่ไหนแต่ไร โดยในสมัยก่อน ผู้โดยสารจำเป็นต้องพักค้างแรมที่อำเภอแก่งคอย เพื่อรอเปลี่ยนขบวนโดยสารในเช้าวันถัดไป จึงทำให้เศรษฐกิจของอำเภอมีความคึกคักมากๆ อันปรากฏให้เห็นถึงตึกรามบ้านช่องเก่าแก่อันสวยงามรอบสถานีรถไฟ (ก่อนที่ส่วนหนึ่งจะถูกไฟไหม้ไป) และทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญของอำเภอแก่งคอยมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เรายังสามารถใช้สถานีแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินเล่นชมเมืองเก่าแก่งคอยได้ทั่ว ทั้งการเดินเท้าไปตามถนนเลียบสันติสุข ซึ่งเป็นถนนสายที่เชื่อมสถานีรถไฟเข้ากับท่าน้ำป่าสัก หรือจะเดินไปยังถนนโภคสุพัฒน์ยามเย็น ที่นั่นก็มีสตรีทฟู้ดอร่อยๆ ให้เลือกกินเพียบ โดยทั้งสองเส้นทางยังเชื่อมไปหาวัดแก่งคอย ศาลเจ้าปุงเถ่ากง-ม่า ตลาดเทศบาล และตลาดท่าน้ำแก่งคอย โดยระหว่างทางก็จะเห็นตึกรามบ้านช่องแบบดั้งเดิมผสมผสานกับอาคารที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ พอที่จะเห็นร่องรอยของพัฒนาการของเมืองได้อย่างอิ่มเอม

ตลาดท่าน้ำแก่งคอย

หากอยากเห็นภาพเมืองแก่งคอยในอดีตที่ใกล้เคียงที่สุด แนะนำให้เดินจากตลาดสดเทศบาลแก่งคอยมาทางแม่น้ำป่าสัก ผ่านตลาดลาว และเลี้ยวซ้ายไปอีกหนึ่งล็อค จะพบซอยเล็กๆ ที่เรียงรายด้วยอาคารไม้สูงสองชั้นสองข้างทาง นั่นคือตลาดท่าน้ำแก่งคอย อดีตศูนย์กลางความเจริญของเมืองในยุคที่ผู้คนยังสัญจรด้วยทางเรือเป็นหลัก

แม้จะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (อาคารเดิมถูกระเบิดเผาไหม้ไปหมดแล้ว) แต่ตึกรามบ้านช่องในซอยแห่งนี้ก็ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี ในยุคที่เมืองมีการสร้างสถานีรถไฟแล้ว หากผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงสัญจรไปมาในระยะใกล้ทางเรือ ที่นี่จึงเป็นท่าน้ำที่เป็นเหมือนสถานีหลักของเมืองแก่งคอย ปัจจุบันกลุ่มหอการค้าแก่งคอย และมหาลัยแก่งคอย ได้บูรณะตึกเก่าภายในตลาดแห่งนี้ให้กลายเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และคุณค่าของเมืองแห่งนี้ รวมถึงแสดงภาพถ่ายเก่าๆ ของบรรพบุรุษหลายครอบครัวในพื้นที่

ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี พร้อมกับการจัดงานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลก กลุ่มหอการค้าแก่งคอยก็ได้จัด ‘ถนนคนอยากเดิน’ ชักชวนชาวบ้านและพ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นมาออกร้านขายของในบรรยากาศย้อนยุคบนถนน ขณะที่ในวันปกติ นอกจากจะได้ชมนิทรรศการเมืองแล้ว หากเดินลงบันไดไปยังตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก ที่นั่นยังมีทางเดินเลียบแม่น้ำ ให้ได้เดินชมทิวทัศน์หรือวิ่งออกกำลังกายในบรรยากาศสบายๆ ด้วย โดยล่าสุด ทางเทศบาลเมืองแก่งคอย ยังมีแผนจะเชื่อมทางเดินเลียบแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่บริเวณโรงสีกาแฟไปถึงวัดแก่งคอยอีกด้วย 


ผาเสด็จ
ผาเสด็จตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย ห่างจากเขตเทศบาลเมืองแก่งคอยราว 20 กิโลเมตร โดยผาเสด็จตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟผาเสด็จไม่ไกล มีลักษณะเป็นก้อนหินขนาดยักษ์ริมทางรถไฟที่ส่วนปลายของมันดูเหมือนจะยื่นมาเกือบชิดเส้นทางที่รถไฟผ่าน

ผาเสด็จถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเจริญของเมืองแก่งคอย ไม่เพียงเพราะเป็นสถานที่รับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้นประพาสเมืองแก่งคอย แต่การเสด็จครั้งนั้นยังถือเป็นการมาสร้างขวัญและกำลังใจให้คนงานก่อสร้างทางรถไฟเพื่อตัดผ่านดงพญาเย็นเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมาอีกด้วย

ขอขอบคุณภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

ดังที่เล่าไปในตำนานเรื่องชื่อเมืองแก่งคอย ดงพญาเย็น (หรือดงพญาไฟในอดีต) ที่อยู่ติดกับเขตอำเภอแก่งคอย เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยไข้ป่าหรือมาลาเรีย มีคนงานหลายคนจำต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่จนเกิดเป็นตำนานแร้งคอย กระทั่งรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชดำริให้สร้างทางรถไฟไปยังมณฑลนครราชสีมา แต่คนงานส่วนใหญ่ที่เป็นคนจีนต่างเข็ดขยาดในการสร้างทางรถไฟสายนี้ เพราะถูกฤทธิ์ของไข้ป่าเล่นงาน จนไม่มีใครกล้ารับงานต่อ เพราะเชื่อว่าเส้นทางดังกล่าวมีภูติผีปีศาจคอยคุกคาม 

ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงเสด็จประพาสแคมป์สร้างทางรถไฟด้วยพระองค์เอง และทำพิธีบวงสรวงขอทางต่อเจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อเปิดทางให้ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง จุดที่ทำพิธีดังกล่าวคือบริเวณแท่นหินขนาดยักษ์ที่ต่อมากลายมาเป็นพื้นที่ของสถานีรถไฟผาเสด็จ หลังจากนั้นคนงานชาวอีสานก็ต่างเข้ามาช่วยกันถางเส้นทางและต่อเติมทางรถไฟจนผ่านดงพญาไฟ เปลี่ยนความหมายของดงพญาไฟ ให้กลายเป็นดงพญาเย็น และนำความเจริญจากกรุงเทพฯ เข้าถึงแก่งคอยและจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานในที่สุด 

ขอขอบคุณภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

หอมนสิการ (Manasikarn Hall)

ข้ามแม่น้ำป่าสักจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกราว 10 กิโลเมตร บริเวณเขาพระพุทธบาทน้อย แนวเขาหินปูนที่เป็นพื้นที่ปีนเขาขึ้นชื่อของเมือง และที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทโบราณภายในวัดพระพุทธบาทน้อย ยังเป็นที่ตั้งของหอมนสิการ (Manasikarn Hall) สถานที่ปฏิบัติธรรมและแหล่งเรียนรู้ด้านพุทธศาสนาร่วมสมัยแห่งใหม่ของเมือง ภายในอาคารสีขาวอันโอ่อ่าที่มีสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยผูกลายกับศิลปะสุโขทัย อินเดีย และวิกตอเรีย เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ‘มรรคาของพระพุทธเจ้า’ นำเสนอพุทธประวัติในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟร่วมสมัย เปลี่ยนเรื่องราวจิตรกรรมฝาผนังที่หลายคนคุ้นชินสู่การนำเสนอทั้งภาพ เสียง และสัมผัสอย่างชวนให้เพลิดเพลิน ขณะที่ด้านข้างยังเป็นคาเฟ่ และแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับพุทธศาสนา โดยหอมนสิการแห่งนี้เป็นผลงานรังสรรค์ของอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล วิปัสสนาจารย์ผู้ก่อตั้งสายธรรมเตโชวิปัสสนา และประธานมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า (Knowing Buddha) และมูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต 

ขอขอบคุณภาพจาก http://manasikarn.com

อ่านรายละเอียดของหอมนสิการเพิ่มเติมได้ที่ https://manasikarn.com/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย