[ ผู้คน – การเดินทาง – การพัฒนาเมืองของเราทุกคน ] อ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม

Start
4 views
30 mins read

สร้างเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดด้วยงานวิจัย : Livable and Smart City by Research


ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม 
รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กรหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ในแวดวงงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย หลายคนจะคุ้นชินกับชื่อของ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม  ในฐานะนักวิชาการผู้คร่ำหวอดกับงานพัฒนาเมืองมาร่วม 30 ปี นับตั้งแต่งานพัฒนาเมืองผ่านทุนทางวัฒนธรรมเมืองแม่ฮ่องสอน การพัฒนาเมืองด้วยกลไกบริษัทพัฒนาเมือง และการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ตามกรอบวิจัยของ บพท. 

ปีนี้ ดร.ปุ่น ในบทบาทรองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับคณะทำงาน ได้ริเริ่มโปรแกรมวิจัยใหม่ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสมาคมเทศบาลนครและเมือง องค์กรที่เป็นดั่งหัวใจหลักในการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้นำเมืองระดับท้องถิ่นครอบคลุมทั่วประเทศ กับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ สร้างโปรแกรมที่มาพร้อมเป้าหมายการผลักดันศักยภาพท้องถิ่น สร้างผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวังว่าจะนำพามิติใหม่ของการพัฒนาเมืองกระจายไปใน 18 เมืองทั่วประเทศ ในชื่อ “โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด”

: ที่มาของโปรแกรม “บ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด”
“ภาพรวมของการเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย และองค์ความรู้เท่าที่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมและติดตาม ได้เห็นว่าที่ผ่านมาร่วม ๆ 30 ปี งานวิจัยมีส่วนเข้าไปมีบทบาทช่วย Set Up ติดตั้งเครื่องมือความรู้ เทคโนโลยี และกลไกในระดับพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งเรามองว่าจากฐานการทำงานเดิม มีความเป็นไปได้ที่ บพท. จะเข้าไปมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเมือง จากเดิม ๆ ไปเรื่อย ๆ สู่ทิศทางใหม่ เร่งกระบวนการให้เกิดการเติบโตและแข็งแรง 

ย้อนกลับไปในงานพัฒนาเมืองเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นทาง บพท. และผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมหลักในการทำงานกับภาคเอกชนในหลายพื้นที่ เพราะเราเห็นแล้วว่า การเคลื่อนตัวแบบเอกชนนั้นรวดเร็ว คล่องตัว และเปลี่ยนเมืองได้จริง โดยเฉพาะการเปลี่ยนเมืองเชิงเศรษฐกิจ ภาคเอกชนในท้องถิ่นถ้าไม่นับกรุงเทพฯ คือ พวกเขาเป็นผู้นำ และเก่งฉกาจ มีเครือข่ายเชื่อมโยงมากมาย และรู้จักกันหมด ที่สำคัญเขาห่วงใยบ้านเมือง และคนของเขา ส่วนใหญ่ก็มีความฝันถึงการพัฒนาเมืองที่ดีกว่า แบบที่วิญญูชน ผู้มีหัวจิตหัวใจรักบ้านเกิดเมืองนอนเท่าที่ควรจะต้องเป็น 

พอเราเริ่มทำงานไปสักระยะ เราก็เริ่มค้นพบ ว่าสมดุลของอำนาจในท้องถิ่นก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่ภาพความเข้าใจของชาวบ้านในบางครั้งก็ไม่ได้เท่าทัน ไม่เป็นภาพเดียวกับภาคเอกชน หรือบริษัทพัฒนาเมือง ชาวบ้านเขาคิดเรียบง่ายกว่าว่า – ก็มันไม่เห็นเกี่ยวกับเขา และมันดูจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทพัฒนาเมือง กับเอกชนมากกว่า อะไรแบบนี้ก็มี อีกส่วนหนึ่งประสบการณ์สอนเราว่า ถ้าการรวมตัวของภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ที่จะเคลื่อนงานพัฒนาเมืองให้ได้มรรคผล การมีกองทุนพัฒนาเมืองที่จดทะเบียนเป็น Social Enterprise (SE) จะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่า ซึ่งที่เคลื่อนไหวกันอยู่ส่วนใหญ่ก็ยังไปไม่ถึง SE พอจะขยับเรื่องความยั่งยืนกับการทำงานอย่างต่อเนื่องก็อีกเป็นเรื่องหนึ่งที่ยังทะลุทะลวงไปไม่ได้  

อีกกลไกสำคัญที่เรามองเห็น ก็คือกลไกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เราพบว่าหากเมืองไหนมีมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกับท้องถิ่นสามารถทำงานเข้าขากันอย่างดี โอกาสในการเคลื่อนงาน และความสำเร็จของงานพัฒนาเมืองจะเป็นไปได้สูง 

: โอกาส และความหวังของกลไกการพัฒนาเมืองในวันนี้ 
อย่างที่บอกว่ากลไก 3 ฝ่ายนี่สำคัญมาก 2 กลุ่มแรก ประชาชน และมหาวิทยาลัย อันนี้เราเห็นความพร้อม และความมุ่งมั่นตั้งใจอยู่แล้ว ส่วนที่ 3 คือองค์กรปกครองท้องถิ่น ส่วนนี้แหละคือตัวจริงที่จะใช้อำนาจรัฐ และงบประมาณที่ใกล้ชิดประชาชน ในการสนองตอบโจทย์การพัฒนาเมืองได้อย่างทันท่วงที และเป็นระบบ และมีความหวังเรื่องกลไกผู้รับผิดชอบกับความต่อเนื่อง ที่พูด ๆ กันว่า นำร่อง หรือ Sand Box เนี่ย ส่วนนี้คือ ต้องอาศัยผู้นำเมือง ได้แก่ นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่เทศบาล ต้อง All In กับเรา จึงจะทำให้เกิดบรรยากาศแบบนั้นขึ้นมาได้ ปัจจัยหลัก คือ ต้องจับเข่าคุยกัน อธิบาย สร้างความเข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับ แบ่งประโยชน์กันให้ลงตัว เราโชคดีที่สมาคมเทศบาลนครและเมือง เห็นความสำคัญเรื่องนี้ และมี 18 อปท.ที่อาสาสมัครเข้ามาร่วมโปรแกรมวิจัยครั้งนี้ เพื่อร่วมทดลองใช้โปรแกรมบ่มเพาะ และเร่งรัดฯ เริ่มจากการ X-ray ข้อมูลเมือง หรือที่เราเรียกว่า City Scan การใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์โจทย์การพัฒนาเมือง และกำหนดเครื่องมือที่ใช้ พร้อมเปิดให้สาธารณะได้รับรู้ และสามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้ จะเป็น Dashboard หรือฐานข้อมูลในระบบก็ได้ แต่คนในเมืองต้องเข้าถึงได้ง่าย และเข้าใจเมืองของเขาได้ดียิ่งขึ้น ท้องถิ่นจึงเป็นกลไกที่จะมาตรึงงานให้มีโครงสร้างหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน โดยมีอีก 2 ฝ่ายเข้ามาสนับสนุน ทั้งการใช้ข้อมูล และการชักชวนกันไปทดลองนำร่องรูปธรรม ซึ่งอย่างน้อยๆ ตอนนี้ถือว่าเรายังมีหวัง เพราะมี 18 เมืองแล้วตั้งต้นท่ามกลางอีก 200 กว่าเมืองทั่วประเทศ ถ้า 18 เมืองสามารถเดินหน้า เรียนรู้ มีประสบการณ์ เราเชื่อว่าความรู้ที่ถูกติดตั้งในท้องถิ่น จะสามารถขยายจากผู้นำเมือง และประชาชน เผยแพร่ออกไปสู่วงกว้างได้มากขึ้น 

เราจึงมาถึงข้อสรุปว่างานพัฒนาเมืองต้องการสมดุล และความร่วมมือจาก 3 ส่วนสําคัญ กลุ่มที่ 1 ภาคประชาชน ประชาสังคม หรือเอกชน กลุ่มที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ และกลุ่มที่ 3 คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราจึงกลับมาทบทวนกระบวนการ เครื่องมือ และวิธีการเคลื่อนงานพัฒนาเมืองที่เราทำกันใหม่ และอาศัยกรอบคิดเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (Livable & Smart City) เข้ามาวางทิศทาง กำหนดตัวชี้วัด กับเป้าหมาย และด้วยอาศัยวิธีคิดแบบนี้จึงได้สร้างโปรแกรม “บ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด” ขึ้นมา และใช้ทำงานร่วมกับท้องถิ่นเป็นหลัก ผ่านการเชื่อมโยงความร่วมมือ และ MOU กับสมาคมเทศบาลนครและเมือง พร้อมกับได้ 18 เมืองนำร่อง ที่เหมือนเป็น Sand Box ให้เราได้ลองร่วมกันทำงานทั้ง 3 ฝ่าย 

: เครื่องมือ วิจัย และการใช้องค์ความรู้ 

Local Study (การศึกษาท้องถิ่น) ที่เราช่วยกันทำมาหลายปีก่อน คือสารตั้งต้นที่ดี แล้วปีนี้เราเติม City Scan (การตรวจตราและรวบรวมข้อมูลท้องถิ่น) ทำ City Profile (การจัดทำคุณลักษณะข้อเด่น ข้อด้อยของเมือง-ผู้เรียบเรียง) มีทีมวิจัยกลางจาก บพท. เข้าไปเสริม ยิ่งจะทำให้ User ผู้ใช้ข้อมูล ซึ่งก็คือคนในเมืองรู้จักเมืองของตนเองดีมากขึ้น ถือเป็นหมุดหมายแรกที่ต้องทำให้สำเร็จ หมุดหมายที่สอง พอเปิดข้อมูลเมืองมาแล้ว จะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ การใช้เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเชื่อมโยงความเป็นไปได้ที่หลากหลาย เช่น คุณค่าของพื้นที่และท้องถิ่น เชื่อมกับทักษะความรู้ความสามารถของคนในพื้นที่ เรียกว่า Cross Ability ให้สัมพันธ์ตามบริบทและโจทย์การพัฒนาพื้นที่ ตรงนี้แหละที่จะเป็นหมุดที่นำพาไปสู่การพัฒนากลไก และกรุยทางไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ และเมืองที่ชาญฉลาด 

เราจึงคาดหมายว่า งั้นขอให้เกิด Data Learning Platform ในแต่ละเมืองนำร่องให้ได้ก่อน เพื่อให้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และการใช้ข้อมูลกันอย่างจริงจัง เพื่อไปช่วยขับเคลื่อนเมือง ตามโจทย์ที่คนในเมืองสะท้อนผ่านผู้นำเมือง หรือนายกเทศมนตรี หยิบโจทย์นั้นขึ้นมาลองทำด้วยกันดู 

: ความคาดหมายกับเมืองในอนาคต

Key Messages สำหรับของโปรแกรมนี้ จึงอยู่ที่การมี Agenda ร่วมกันแล้วไปทดสอบ Agenda นั้นด้วยวิธีการ เครื่องมือ ข้อมูล ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อจะก้าวพ้นขีดจำกัด จากรูปแบบการตั้งโจทย์ และการทำงานเดิม ๆ ที่อย่างไรก็ไม่มีทางได้คำตอบใหม่ 

Key Messages แรก จึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ของคน จากรับรู้ข้อมูล วิเคราะห์ ออกแบบตัดสินใจ และทดลองทำ คนกลุ่มนี้ก็คือ พลเมือง ที่เขายี่หระกับเมืองของเขา เป็นคนที่ลุกขึ้นมาสนใจ และเป็นห่วงเป็นใยเรื่องของประโยชน์สาธารณะ คนที่เห็นความสำคัญว่าต้องมาช่วยกันทำ ทั้ง ๆ ที่เขาจะไม่ทำก็ได้ 

Key Messages ที่สอง คือ กลไก เพราะการจัดการหลาย ๆ อย่างในเมือง ไม่อยู่ในมือเรา เราต้องอาศัยทั้งกลไกทางสังคม ที่มาจากภาคประชาชนที่มันออร์แกนิกเข้าไปช่วย อย่างช่วงเชียงใหม่ เชียงรายโดนน้ำท่วมหนัก เราเห็นกลไกนี่ชัดมาก เมื่อขนาดปัญหามันใหญ่และฉุกเฉินเกินกำลังรัฐ ประชาชนก็ออกมาช่วยกันเอง ตรงนี้แหละเราจะเชื่อมผสานกับกลไกรัฐ กลไกเชิงเศรษฐกิจที่อยู่ในพื้นที่ได้อย่างไร เพื่อช่วยกันลองขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองร่วมกัน  ความฝันร่วม ข้อตกลงและเป้าหมายร่วม กับการสร้างโอกาส และการมีพื้นที่กลางในการหารือ กับลองทำจริงจึงเป็นตัวเร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกเมืองได้เป็นอย่างดี และต้องทำให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นก็ต่างคนต่างทำ สุดท้ายไม่มีใครรอด 

Key Messages ที่สาม คือ เมืองต้องมีแผน มีนโยบาย แผนปฏิบัติการ และงบประมาณรองรับแผน เมื่อข้อมูลชี้ชัด กลไกเกิดและร่วมมือกันได้ ช่วยกันทำให้เป้าหมายชัดเจน แผนเมือง จะต้องเข้ามาตรงนี้เพื่อเป็นแผนผังแสดงแนวทาง และขั้นตอน งบประมาณ การปฏิบัติการ การแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชัดเจน ทิศทางเป้าหมายที่จับต้องได้ รวมถึงการวัดผลความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง 

และ Key Messages สุดท้าย คือ การเฉลิมฉลอง เมื่อทดลองทำสิ่งใดเมื่อเกิดผลสำเร็จไม่ว่ามากน้อย เราควรให้ความสำคัญกับการเฉลิมฉลองด้วยกันทุกฝ่าย การเฉลิมฉลองไม่ใช่ Event แต่คือกระบวนการสอบทาน เป็น Feedback Loop ที่ให้เราได้มองย้อนกลับไป เป็นการทำ AAR (After Action Research) และถอดบทเรียนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อช่วย Recheck Key Messages ทั้งหมดที่เดินทางผ่าน ข้อมูลถูกต้องเพียงพอ และเข้าถึงและเข้าใจชัดเจนไหม เครื่องมือ ความรู้ที่ใช้ถูกต้องหรือต้องเพิ่มเติมอะไรไหม กลไกเข้มแข็ง หรือต้องเพิ่มเติมกลุ่มใดเข้ามา และเมืองมีเป้าหมายร่วม แผนงาน และงบประมาณสนับสนุนหรือไม่ 

ทั้งหมดนี้ผมอยากเปรียบให้เห็นภาพว่ามันคือความสัมพันธ์และคุณค่าของ

ผู้คน การเดินทาง และการพัฒนาเมือง ของเราร่วมกัน”