“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน

ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ชวนผมร่วมทำงานในโครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนเยาวชนลำพูนสู่การเป็นพลเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ผมเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนในบ้านเกิด และทำให้อัตลักษณ์ของเมืองลำพูนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของโครงการนี้คือการจัด ‘Youth Festival: เทศกาลเยาวชนนักจัดการเมือง’ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ที่ศูนย์การค้าแจ่มฟ้า มอลล์ งานนี้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการนำเสนอจุดเด่นของลำพูน ผ่านแนวคิด ‘อาหาร อาคาร อาภรณ์’ ซึ่งทำให้พวกเราได้กลับไปศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งเรียนรู้แนวทางการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน
การจัดเทศกาลนี้ทำให้ผมและทีมงานสภาฯ มองเห็นความสำคัญของเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเป็นผู้กำหนดทิศทางของบ้านเกิดตัวเอง มันไม่ใช่แค่การเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองลำพูนเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาทักษะการจัดการและความเป็นผู้นำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของพวกเราทุกคน
เมื่อพี่อรริเริ่มโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร่วมกับเทศบาลเมืองลำพูน ทีมงานสภาเด็กฯ ก็ตัดสินใจเข้าร่วม สิ่งที่ทำให้ผมสนใจเป็นพิเศษคือแนวคิด ‘โมเดลเทศกาลบนฐานวัฒนธรรม’ ปัจจุบันเทศบาลเมืองลำพูนมีความร่วมมือกับชุมชนในการจัดเทศกาลใหญ่ เช่น ‘เทศกาลโคมแสนดวง’ ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียง แต่ที่ผ่านมาบทบาทของเยาวชนในเทศกาลเหล่านี้ยังจำกัดอยู่แค่การแสดงศิลปะการแสดง หรือเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในขณะที่หากเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเทศกาล เทศกาลเหล่านี้อาจมีมิติที่หลากหลายขึ้น และช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ดีขึ้น
ผมเชื่อว่าหากเยาวชนมองเห็นศักยภาพของบ้านเกิดตัวเอง พวกเขาอาจเลือกที่จะกลับมาทำงานหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับลำพูน แทนที่จะมองว่าต้องออกไปหาความเจริญจากที่อื่นเพียงอย่างเดียว
ใครว่าการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น? ผมเชื่อว่าการพัฒนาเมืองคือการร่วมกันฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้น และเยาวชนต้องเป็นกำลังสำคัญในกระบวนการนี้ ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้รับฟัง แต่ต้องเป็นผู้ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อให้ลำพูนเป็นเมืองที่คนรุ่นใหม่อยากอยู่และเติบโตไปพร้อมกับมัน”
#สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน #เทศบาลเมืองลำพูน #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #บพท #pmua #wecitizens