[THE KEY SUCESS]
18 เทศบาลนำร่อง & CIAP
[ Ep.1 มุมมองผู้นำเมือง ภาคเหนือ และภาคอีสาน]

Start
8 views
44 mins read

ก้าวสู่ความสําเร็จของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม บพท. |

ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2564- มีนาคม 2568)

เทศบาลนครลำปางในปี 2567-2568 เราได้ร่วมงานกับ บพท. ในการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยบริหารจัดการเมืองของเราให้เดินหน้าสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่เรากำลังทำกันอยู่ที่ ด้วยเป้าหมายสิ่งที่เราปรารถนาที่สุดคือ จะทำให้เมืองของเราเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ เป็นเมืองที่น่าอยู่ เป็นบ้านที่มีความสุขของทุกทุกคน นี้คือเป้าหมาย และวิสัยทัศน์การทำงานของเรา คือ เราจะทําเมืองนครลําปางให้เป็นบ้านที่มีความสุขของทุกทุกคน ใครก็ตามที่อยู่เมืองลําปางตั้งแต่เด็กตัวเล็ก ๆ  คนแก่คนเฒ่า จนถึงนอนในสุสานก็ต้องนอนเลยแบบมีความสุข คนมาเที่ยวก็มีความสุข

การที่จะทําให้เมืองเป็นเมืองแห่งความสุข จะมีบทประกอบหนึ่งเรื่อง คือ การเป็นเมืองที่สิ่งแวดล้อมดี มีพื้นที่ชีวิต มีพื้นที่สาธารณะที่ดี และสร้างโอกาสทํามาหากิน มีที่ให้บ่มเพาะเด็กเยาวชนทั้งที่กำลังเรียนหนังสือในระบบ และนอกระบบ การส่งเสริมทักษะชีวิต จนกระทั่งจนกระทั่งคนค้าคนขายจะทำยังให้ช่วยส่งเสริมพวกเข้าให้สามารถทำธุรกิจและเติบโตได้ในเมืองนี้ เรื่องที่ 2 คือ เรื่องคุณภาพชีวิต หมายถึงการดูแลสุขภาพ การอยู่กินบริโภค และคุณภาพของสังคม กับการส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่ 

การจะทำให้ความสุขมันเกิดขึ้นจะต้องอาศัยกลไก และระบบการดำเนินงานของเทศบาล ที่จะต้องยกระดับศักยภาพให้เป็น Smart Organization เป็น High Performant เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนงานอย่างมีประสทิธิภาพสูง เพราะเก่งคนเดียวแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องอาศัยระบบ และควรเป็นระบบที่ดีที่สุด เพื่อสร้างการบริการและประทับใจให้กับประชาชน ข้อมูล ระบบ และการประเมินวิเคราะห์ต้อง Digitalized เพื่อช่วยในการวางยุทธศาสตร์ที่รอบคอบ และตรงเป้าหมาย 

ปีนี้ตัวโครงการวิจัยของ บพท.ก็เข้ามาช่วยตรงจุดนี้ คือ การช่วยเทศบาลจัดการเรื่องข้อมูล การเข้าพื้นที่เพื่อระดมความเห็น และข้อมูล ข้อเท็จจริงในพื้นที่ นำความต้องการของชาวบ้าน และข้อมูลกายภาพ สังคม ศักยภาพเมือง มาทำให้เห็นเป็นภาพ มีการสัมภาษณ์ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนี้แหละที่ช่วยงานเทศบาลได้เป็นอย่างดี และชวนเราคิดต่อว่า ปัญหามันคือสิ่งนี้ เรามีศักยภาพแบบนี้ เราเป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีคุณค่ามากมาย แล้วเราจะไปอย่างไรกันต่อ”

____ 

คุณสุทธินี สุริยกุล ณ อยุธยา รองนายกเทศบาลเมืองลำพูน  (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2564- มีนาคม 2568)

การเชื่อมต่อระหว่างเจเนอเรชันและการพัฒนาท้องถิ่นในลำพูนปัจจุบัน เราอยู่ในยุคที่มีเพียง 3 เจเนอเรชันเท่านั้นที่มีบทบาทอย่างชัดเจน แต่ลำพูนกำลังกลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ถ้าเราไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เราคงไม่รู้เลยว่าการเตรียมความพร้อมในระดับแพลตฟอร์มต้องมีมากแค่ไหน

เรามีพรรคประชาชนที่มีนายก อบจ. ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองทั้งเมืองได้อย่างแท้จริง ภายใต้บริบทของ 3 เจเนอเรชันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับยุคที่มีถึง 6 เจเนอเรชัน แนวคิดและมุมมองของคนก็แตกต่างกันอย่างมาก

ต้องขอขอบคุณนักวิจัยที่ลงพื้นที่ เพราะช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น นักวิจัยบางท่านที่แม้ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม เพราะความแตกต่างระหว่างบทบาทในรั้วมหาวิทยาลัยกับการทำงานในพื้นที่จริงนั้นถือเป็นบริบทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เมื่อนักวิจัยลงพื้นที่จริง ก็จะเห็นปัญหาหลากหลาย และกลุ่มนักวิจัยที่ทำงานในลำพูนก็สามารถเชื่อมต่อเจเนอเรชันต่าง ๆ ได้ดีมาก อาจารย์บางท่านนำความรู้นั้นไปพัฒนาต่อในรูปแบบบอร์ดเกม แม้จะยังทำไม่เป็นก็ตาม ขณะที่เด็ก ๆ ก็เริ่มนำความรู้ทางวัฒนธรรมไปสร้างสรรค์เป็นบอร์ดเกม หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เราเองอาจยังไม่คุ้นเคย

ดังนั้น งานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญในการลงพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงเจเนอเรชันและสนับสนุนในสิ่งที่เรายังไม่ถนัด ตอนนี้ เรากำลังเผชิญความขัดแย้งระหว่างระดับส่วนกลางกับท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายก อบจ. ที่บทบาทและหน้าที่ไม่ชัดเจน จนบางครั้งแค่เหตุการณ์เพลิงไหม้ ก็ยังไม่รู้ว่าใครควรรับผิดชอบ และใครควรเป็นผู้ให้ข่าว ทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน

แม้เราจะอยู่ในโลกออนไลน์ โลกดิจิทัล แต่เรายังไม่เคยจัดระเบียบหน้าที่ให้ชัดเจน การพัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแข่งขันข้อมูลเท่านั้น แต่ต้องรู้ด้วยว่าจะเอาข้อมูลเหล่านั้นไปทำอะไร เช่น น้ำท่วมที่ลำพูน ซึ่งไม่ได้เกิดจากพื้นที่นี้โดยตรง แต่เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากเชียงใหม่

หลายพื้นที่กำลังเปลี่ยนแปลง และเช่นเดียวกับที่หลายท่านพูดว่า ปีนี้จะต้องเปลี่ยนแน่นอน ลำพูนเองก็ถูกวางให้เป็นโมเดลในการพัฒนา แต่ในความเป็นจริง บางนโยบาย เช่น การทำระบบประปาเพื่อประชาชน ก็ต้องล่าช้าออกไปเพราะติดขัดด้านกฎระเบียบของท้องถิ่น ในหลายเรื่องจึงต้องมาทบทวนผ่านกระบวนการ PPP (Public-Private Partnership) ว่าจะทำได้หรือไม่  ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป

การพัฒนาเมืองนั้นต้องใช้เวลา และต้องอาศัยการเชื่อมต่อระหว่างเจเนอเรชันทั้ง 6 เจเนอเรชัน นอกจากการเชื่อมต่อผู้คนแล้ว ยังต้องเชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือด้วยกัน เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

___

คุณกริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีแม่เหียะ บทบาทของเทศบาลเมืองแม่เหียะในแนวทาง “Green City” เทศบาลเมืองแม่เหียะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ และถือเป็นพื้นที่ป่าผืนสุดท้ายของเมืองเชียงใหม่ จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแนวทาง “Green City” หรือเมืองสีเขียว โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

ในกระบวนการพัฒนานี้ เทศบาลเมืองแม่เหียะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน ภายใต้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ตามนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ

เทศบาลเมืองแม่เหียะมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการเป็นสภาตำบล ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลในปี 2538 และกลายเป็นเทศบาลตำบลในปี2549 ก่อนจะได้รับการยกระดับเป็นเทศบาลเมืองในปี 2555 การเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “ขยะ” ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทาย

เทศบาลให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะเปียก ซึ่งเป็นต้นตอของกลิ่นเหม็นและเพิ่มน้ำหนักของขยะอย่างมาก ผมเองในฐานะผู้บริหาร ยังต้องลงไปพูดคุยกับชุมชนและร้านค้าต่าง ๆ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข เราได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งหากมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก

เรามองเรื่องการพัฒนาเป็น “เหรียญสองด้าน” ที่แยกจากกันไม่ได้ คือ “ผู้นำท้องถิ่น” และ “ประชาชน” ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งฝ่ายบริหาร ส่วนราชการ และภาคประชาชน จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง

วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมานำเสนอแนวคิดในเวทีนี้ และหวังว่าจะได้นำแนวทางและข้อเสนอแนะจากทุกท่านไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาเทศบาลเมืองแม่เหียะให้เป็นเมืองสีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไป

___

คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีร้อยเอ็ด (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2564-มีนาคม 2568)

การพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน เมืองร้อยเอ็ดเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้รับการวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อยกระดับสู่การเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และเมืองที่น่าอยู่อย่างปลอดภัย การวิจัยในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมืองในทุกมิติ โดยเฉพาะการสร้างความปลอดภัย ความเจริญทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

ที่ผ่านมา เมืองร้อยเอ็ดเคยเป็นเมืองที่ขาดโอกาส ทั้งที่มีศักยภาพและทรัพยากรดี ๆ อยู่ในตัว แต่กลับถูกมองข้าม วันนี้ เรากำลังพลิกโฉมเมืองให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน โดยใช้วัฒนธรรมที่โดดเด่นของเราเป็นจุดขาย และสร้างแลนด์มาร์กใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับเมือง

จากเมืองที่ไม่เป็นที่รู้จักหรือไม่มีใครมองว่าเป็นจุดหมายปลายทาง ร้อยเอ็ดกำลังกลายเป็นเมืองท้าทายแห่งการท่องเที่ยว แต่คำถามคือ เมืองของเราพร้อมหรือยัง? เพราะต่างจากเมืองท่องเที่ยวอื่นที่มีพื้นฐานรองรับมาก่อน เมืองร้อยเอ็ดยังต้องปรับตัวอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านวิถีชีวิต เศรษฐกิจชุมชน หรือโครงสร้างพื้นฐาน

ดังนั้น การพัฒนาเมืองต้องมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ผู้บริหารท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ประชาชน และนักวิจัย โดยใช้เครื่องมือและองค์ความรู้ที่มีอยู่ มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “เมืองเศรษฐกิจใหม่ที่น่าอยู่และปลอดภัย”

ความน่าอยู่ของเมืองไม่ได้หมายถึงเพียงแค่สิ่งแวดล้อมหรือความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องรวมถึง “การอยู่ดีและมีสุข” ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ

การอยู่ดี หมายถึงประชาชนมีความสะดวกสบาย มีอิสระในการดำเนินชีวิต มีพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต

การมีสุข คือความรู้สึกปลอดภัยจากภัยคุกคามทั้งเล็กและใหญ่ เช่น ความเดือดร้อนรำคาญ หรือภัยที่ประชาชนไม่สามารถจัดการเองได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือเครือข่ายท้องถิ่นเข้ามาดูแลอย่างเป็นระบบ

ตัวอย่างหนึ่งคือโครงการที่ดูแลเรื่องความเดือดร้อนหรือภัยในชุมชนที่เทศบาลสามารถบริหารจัดการได้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ ซึ่งช่วยลดปัญหาและสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน

ท้ายที่สุด แต่ละเมืองก็มีทิศทางการพัฒนาของตัวเอง ร้อยเอ็ดเองก็กำลังก้าวไปในทิศทางนั้น พัฒนาเมืองภายใต้บริบทของตนเอง เพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์ให้ตรงจุด มุ่งสู่การเป็นเมืองที่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน

___

คุณจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2564-มีนาคม 2568)
เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์มุ่งสู่ Smart City อย่างยั่งยืน

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้รับรางวัลพระราชทานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ “เมืองน่าอยู่ยอดเยี่ยมยั่งยืนระดับประเทศ” ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวกาฬสินธุ์และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ในทุกมิติ

หนึ่งในโครงการสำคัญที่เทศบาลดำเนินการ คือ การขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็น Smart City โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (บพท.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เมืองขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัดอย่างเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม เทศบาลต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ เนื่องจากมีผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพียงประมาณ 5,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 30,000 คน หรือคิดเป็นเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่งผลให้รายได้ของเทศบาลมีจำกัด และไม่สามารถลงทุนได้เต็มศักยภาพ

เพื่อให้การพัฒนา Smart City เป็นไปได้จริง บพท. ได้เร่งสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม โดยตัวอย่างหนึ่งของโครงการที่กำลังดำเนินการ คือ การจัดทำระบบข้อมูลดิจิทัลโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีการเสนอโครงการเช่าใช้โปรแกรมระบบข้อมูลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในอัตราปีละ 300,000 บาท โดยในปีแรกจะมีการจัดเก็บและกรอกข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมด

โปรแกรมดังกล่าวจะมีความสามารถในการบริหารจัดการหลายด้าน เช่น การดูแลผู้สูงอายุ

การรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การจัดการขยะ เช่น ตรวจสอบปริมาณขยะในถังว่ามีมากน้อยเพียงใด หรือเต็มแล้วหรือยัง รวมถึงค่าบริการที่เกี่ยวข้อง

เทศบาลได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อม และเริ่มขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นรูปธรรม แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบในทุกมิติ แต่ถือว่าได้เริ่มก้าวแรกของการเป็น Smart City แล้วอย่างชัดเจน

แม้ระยะทางสู่ Smart City แบบเต็มรูปแบบอาจยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่การเริ่มต้นที่ชัดเจนและมีผลลัพธ์ในระดับหนึ่งแล้ว ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ และคาดว่าจะสามารถพัฒนาและต่อยอดได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

___

ดร.ฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2564-มีนาคม 2568)

สำหรับจังหวัดศรีสะเกษนั้น ลักษณะของการทำงานก็คล้ายกับหลายพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือ การทำงานของเรานั้นไม่ได้ทำเพียงลำพัง เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน เช่น หอการค้า สมาคมกีฬา และสภาวัฒนธรรม ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานร่วมกันกับเรา

การมีเครือข่ายและความร่วมมือเหล่านี้ ทำให้เราได้รับทั้งข้อมูลและบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาช่วยเสริมงาน ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมา เราได้จัดงานเกี่ยวกับกาแฟ แม้สภาพเศรษฐกิจจะไม่ดีนัก แต่กิจกรรมก็ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ในปีแรกของการจัดงานกาแฟ เราจัดเพียงวันเดียว แต่มีผู้เข้าร่วมงานถึงประมาณ 10,000 คน และจากกระแสตอบรับที่ดี ทำให้ปีถัดมาต้องขยายเวลาเป็นสองวัน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20,000 คน และสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ได้มากกว่า 2 ล้านบาท ร้านกาแฟจากจังหวัดศรีสะเกษเข้าร่วมงานกว่า 100 ร้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเรา

อีกงานหนึ่งที่เราจัดคือ ” Sound of Sisaket ซาวสีเกด” ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก TCDC ในช่วงแรกจัดเพียงวันเดียว แต่ต่อมาได้ขยายเป็นสองวัน โดยมีร้านค้าเข้าร่วมจำนวนมาก ขายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารการกิน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก หลายร้านขายดีจนไม่คาดคิด 

ความสำเร็จของงานทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมสนับสนุน และในปีถัดไป ผู้ประกอบการก็ร้องขอให้เราจัดงานเพิ่มเป็น 4 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการและศักยภาพของพื้นที่

จากการจัดกิจกรรมเหล่านี้ เราเริ่มมองเห็นตัวตนของจังหวัดศรีสะเกษมากขึ้น เช่น กลุ่มเยาวชนให้ความสนใจกับดนตรีและอยากเป็นนักดนตรี เราเองก็ได้ประสานงานกับ TCDCเพื่อส่งเยาวชนในจังหวัดเข้าร่วมประกวดกับ UNESCO ถึงแม้ปีแรกจะยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ได้รับโอกาสให้ลองใหม่ในปีถัดไป

สำหรับผู้สูงอายุ สิ่งที่เราพบคือความต้องการด้านสุขภาพ เราต้องขอขอบคุณ บพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) ที่เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเทศบาล ซึ่งทำให้เราสามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น

#บพท #CIAP #เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #สมาคมเทศบาลนครและเมือง