หัวหน้าโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) และหัวหน้าคณะประสานโปรแกรมฯ ภาคอีสาน
“4 เมืองในอีสาน ต่างมุ่งไปที่เรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ
เพราะผู้นำเมือง มองเห็นแล้วว่า
เมืองรองของอีสานวันนี้มีโอกาส และเติบโตได้จริง”
เมืองในภาคอีสาน
“โปรแกรมนี้ เรื่องสำคัญ คือ โจทย์วิจัยเพื่อการพัฒนาเมืองต้องมาจากตัวเทศบาลเป็นหลัก เราจะไม่เอานักวิจัยเป็นตัวตั้ง ตัวหลักต้องเป็นเทศบาล คำถามง่าย ๆ แต่สำคัญมาก ๆ คือ “เขาต้องการอะไร” “อะไรคือสิ่งที่เขาสนใจ” และ “เรากับวิธีวิจัยจะมีส่วนช่วยพัฒนาเมืองของเขาได้อย่างไร” พอตอบเรื่องพวกนี้ได้ เราค่อยหานักวิจัยที่เชี่ยวชาญ หรือมีศักยภาพเข้าไปประกบทำงานด้วย
เรื่องต่อมา คือ ก่อนจะเริ่มงาน หรือตัดสินใจว่าจะขึ้นโครงการแบบไหน ตั้งแต่ Day One ทีมโปรแกรม CIAP และบพท. เราช่วยกันคุยกับนายกฯ เครียร์ให้ชัดว่าโจทย์ที่อยากได้คืออะไรกันแน่ นายกฯ และเจ้าหน้าที่ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้าใจโจทย์นั้นจริง ๆ และลุยไปด้วยกัน ไม่เช่นนั้นความคาดหวังและเป้าหมายก็จะไม่สำเร็จ
ในพื้นที่ภาคอีสาน โปรแกรม ฯ เข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนอยู่ทั้งหมด 4 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองศรีสะเกษ และเทศบาลเมืองสกลนคร โดยภาพรวมแล้ว ทุกเมืองมุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างเมืองของตนเองให้น่าอยู่ แต่ละที่อาจจะมีความหลากหลายในเรื่องกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ ระดับปัจเจก ครัวเรือน ไปจนถึงโครงข่ายระดับเมือง โดยใช้เครื่องมือ หรือประเด็นที่ตนเองสนใจ เช่น กาฬสินธุ์ใช้เรื่องการจัดการขยะ เผิน ๆ ดูจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จริง ๆ ก็พุ่งเป้าไปที่การสร้างรายได้ให้คนในชุมชนที่เกี่ยวข้อง และจัดการข้อมูลขยะจากต้นทางโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยวางแผนอนาคต หรืออย่างเทศบาลเมืองสกลนครก็จะเป็นเรื่องการยกระดับ Smart Government เขาอยากเอาระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เข้ามาใช้ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่ แต่ภายในระหว่างสำนักและกองต่างๆ การเชื่อมโยงข้อมูลก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็น เราก็ไปเป็นตัวกลางชวนขยับเรื่องการใช้และเชื่อมข้อมูลเน้นจุดเล็กๆ และเชื่อมต่อประโยชน์กับการบริการประชาชนให้สำเร็จเห็นภาพก่อน ส่วนศรีสะเกษก็เป็นเรื่องการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของคนเป็นแนว Life Long Learning เพื่อผลักดันสินค้าชุมชนสู่ตลาดออนไลน์ โดยใช้ทรัพยากร และ Function ของเทศบาลเป็นเจ้าภาพหลัก และเมืองที่กำลังบูม อย่างร้อยเอ็ด ก็เลือกมุ่งเป้าไปที่การเชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจในพื้นที่ใจกลางเมือง ว่าจะมีส่วนเข้ามาช่วยเคลื่อนเมืองอย่างไร ให้เสริมแรงกันไปกับแผนพัฒนาที่เขาวางไว้กันเป็นสิบ ๆ ปี
จะเห็นได้ว่า 4 เมืองในอีสานที่ร่วมโปรแกรมฯ ต่างมุ่งไปที่เรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยเครื่องมือ และประเด็นที่หลากหลาย แต่ทั้งหมดมีที่มาร่วมกัน เพราะผู้นำเมือง และทุกฝ่ายมองเห็นแล้วว่า เมืองรองของอีสานวันนี้มีโอกาส และเติบโตได้ ถ้าทำได้และให้ทุกคนได้ประโยชน์ เราจึงบอกกับทุกคนตั้งแต่แรกว่า งานวิจัยต้องตอบคนในเมืองให้ได้ว่า เขาจะได้ประโยชน์อะไร และเมืองได้ประโยชน์อะไร สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ