เทศบาลเมืองสระบุรีโจทย์อันท้าทายการรับมือสภาวะเมืองหดตัว
จังหวัดสระบุรีมีจุดแข็งเชิงยุทธศาสตร์หลายด้านทั้งเป็นพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง อุตสาหกรรมการขนส่ง และเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงในอนาคตกำลังมีการพัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่งตามนโยบายอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดีเจ้าพระยาแม่น้ำโขง (Ayeyawady Chao Phraya Mekong Exonomic Cooperation Strategy: ACMECS) กำหนดให้จังหวัดสระบุรีเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ผ่านเส้นทางถนนสายเอเชียและโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ที่เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงในสปป.ลาว โดยเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) เริ่มจากเมืองเมาะลำไย-ตาก-สุโขทัย-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร-สะหวันนะเขต-วังตี-ดานัง ผนวกกับเส้นทางจากเวียงจันทน์-หนองคาย-อุดรธานี-ขอนแก่น-นครราชสีมา-สระบุรี ซึ่งเส้นทางนี้จังหวัดสระบุรีจะได้รับประโยชน์โดยตรง ส่วนประเทศเวียดนามเริ่มจากเมืองดานัง-เมืองวิน-ฮานอย-ไฮฟอง เป็นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เต็มรูปแบบ อันทำให้เดินทางโดยรถยนต์ระหว่างกันได้ผ่านถนนสายเอเชีย ส่งผลให้จังหวัดสระบุรีได้ประโยชน์มากที่สุด และมีความพร้อมในการพัฒนาจังหวัดในเชิงรุกสู่เมืองศูนย์กลางการขนส่งของประเทศที่เชื่อมโยงกับเมืองหลักและแหล่งการผลิตในประเทศและสู่ประเทศเพื่อนบ้าน


ขณะเดียวกัน เทศบาลเมืองสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรมของจังหวัดและเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ได้แก่
– ประชากรในท้องถิ่นเทศบาลเมืองสระบุรีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี พ.ศ. 2557-2566 ส่งผลให้พื้นที่เทศบาลเมืองสระบุรีกำลังประสบกับปรากฏการณ์เมืองหดตัว
– สัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรในเทศบาลเมืองสระบุรีสูงกว่าภาพรวมประเทศไทย และอยู่ในระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 20) ตั้งแต่ปี 2561 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
– อาคารพาณิชยกรรมในพื้นที่ไม่ได้รับการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ค่อนข้างทรุดโทรม และถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก
– การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเดินทาง ได้แก่ การพัฒนารถไฟทางคู่แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย และโครงการทางพิเศษสายใหม่ฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี (ทางด่วน) เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านระบบคมนาคมต่อเมืองสระบุรี และส่งผลให้การสัญจรผ่านพื้นที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรมเทศบาลเมืองสระบุรีมีแนวโน้มลดลง
ด้วยศักยภาพและประเด็นความท้าทายดังกล่าว เทศบาลเมืองสระบุรีจึงวางแผนพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรมเทศบาลเมืองสระบุรีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ร่วมกับคณาจารย์ผู้วิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบพท. ในโครงการ “การพัฒนาฟื้นฟูศูนย์กลางพาณิชยกรรมเมืองสระบุรีเพื่อรับมือกับสภาวะเมืองหดตัว” ผ่านกระบวนการหารือร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเมืองสระบุรีสู่เมืองน่าอยู่ (Livable City) ที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน บนฐานความเข้าใจในบริบทของการศึกษาท้องถิ่นและภูมิสังคมในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนในพื้นที่และผู้มาเยือน โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากอาคารและพื้นที่ร้าง และการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะไปสู่พื้นที่เพื่อให้บริการที่เหมาะสมกับบริการพัฒนาใหม่ ในฐานะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรับมือกับสภาวะเมืองหดตัว
ภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ศึกษาและออกแบบ โดยประสานความร่วมมือในการศึกษาและออกแบบการพัฒนาข้อมูลเมืองจากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม (City Data Platform) กล่าวคือ การบ่มเพาะเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยในกรอบการวิจัยและการดำเนินงานหลายมิติ อาทิ กระบวนการหรือกิจกรรมการสำรวจเมือง การพัฒนาระบบข้อมูลเมืองด้วยการจัดทำระบบนำเสนอชั้นข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดสภาวะเมืองหดตัว การแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพัฒนา (City Open Data) การพยากรณ์และวิเคราะห์ทิศทางเมือง ผ่านการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย แนวทางการพัฒนา และการวางแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเมือง เช่น การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกแบบเทคโนโลยีในการพัฒนาเมือง (City Sensors and City Media) การสร้างภาพลักษณ์ของเมือง (City Branding) พร้อมการกำหนดแนวทางการติดตั้งและติดตามผลลัพธ์จากการติดตั้งเทคโนโลยีระบบข้อมูลเมืองที่เหมาะสมในพื้นที่ศึกษา (City MRV – Monitoring, Reporting and Verification) เป็นต้น นำมาสู่การสร้างข้อสรุปแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะในศูนย์กลางพาณิชยกรรมเมืองสระบุรีให้มีความสอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของเทศบาลเมืองสระบุรี




วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. จัดตั้งโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาดในระดับพื้นที่ โดยการพัฒนาฐานข้อมูลเมืองส่งเสริมการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองสระบุรีร่วมกันกับภาคีเครือข่าย
2. ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระดับพื้นที่โดยทำงานร่วมกับโครงการกลางของโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด
3. เพื่อกำหนดแนวทาง แผนพัฒนา พร้อมทิศทางและเป้าหมายของพื้นที่ยุทธศาสตร์ รวมถึงกำหนดลำดับความสำคัญของการพัฒนาโครงการและกำหนดมาตรการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรมเมืองสระบุรี
4. เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเมืองในการประเมินผลลัพธ์และตรวจวัดผลจากการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย
5. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์ในศูนย์กลางพาณิชยกรรมเทศบาลเมืองสระบุรี
#เทศบาลเมืองสระบุรี #คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาดในระดับพื้นที่ #CIAP #บพท #wecitizens