จักสาน อาหารถิ่น ดินแดนเอ็งกอ ทุนวัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“เครื่องจักสาน” “อาหารท้องถิ่น” “เอ็งกอ” และ “ผู้คน” ร่วมสำรวจต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมที่ช่วยเติมเต็มความสมาร์ทให้กับเมืองน่าอยู่
เมืองจักสาน กับการเริ่มต้นตั้งถิ่นฐานชาวพนัสฯ
จากเมืองที่สันนิษฐานกันว่าเป็นที่ตั้งของเมืองพระรถเมื่อกว่า 1,000 ปีก่อน พนัสนิคมได้รับการสถาปนาเป็นเมืองชั้นจัตวาเมื่อปี 2371 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยท้าวทุม (พระอินทอาษา) เป็นผู้นำชาวลาวเข้ามาสวามิภักดิ์ และตั้งเมืองขึ้น โดยชาวลาวที่เข้ามายังได้นำภูมิปัญญาด้านการจักสานไม้ไผ่เข้ามาด้วย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ “เมืองจักสานพนัสนิคม”
ทั้งนี้ จากเดิมที่ชาวพนัสนิคมได้สานไม้ไผ่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องมือจับสัตว์น้ำส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ปี 2521 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ ได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการยกระดับงานหัตถกรรมพื้นบ้านและเปิดสอนทักษะออกแบบลวดลายเฉพาะตัว โดยเฉพาะ “ลายดอกพิกุล” ที่ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเมืองพนัสนิคม ในปี 2548 นับจากนั้น เครื่องจักสานของพนัสนิคมก็ถูกวางจำหน่ายไม่เพียงภายในประเทศ หากยังถูกส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลกและมีกลุ่มตลาดที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ ที่ทำสินค้าระดับพรีเมียม ศูนย์จักสานใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีจุดเด่นในการหลอมรวมภูมิปัญญาพื้นบ้านเข้ากับเทศกาลประจำปีของเมือง ต่อยอดไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยอีกนับไม่ถ้วน
หมี่แดงแกงลาว รสชาติของพหุวัฒนธรรม
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวลาวในพนัสนิคม ไม่เพียงนำมาซึ่งภูมิปัญญาการทำเครื่องจักสาน แต่พวกเขายังนำอาหารการกินแบบคนลาว เข้ามาในเมืองแห่งนี้ด้วย เช่นเดียวกับที่ชาวจีนเข้ามาตั้งรกราก ก็นำเมนูอาหารและขนมจากเมืองจีน เข้ามาเติมรสกลมกล่อมให้กับวิถีคนเมืองเช่นกัน ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด ขนมก้นถั่ว หอยทอด ฯลฯ ในขณะที่เมนู “หมี่แดงแกงลาว” หนึ่งในอาหารขึ้นชื่อของเมือง ก็เป็นผลลัพธ์ของการผสมผสานที่คนพนัสนิคมภาคภูมิใจ
หมี่แดงแกงลาว คือเมนูที่ปรุงขึ้นจากเส้นหมี่สีแดงอันเหนียวนุ่ม กับเครื่องแกงลาวที่หอมอร่อยจากเครื่องเทศ สมุนไพร และปลาร้า เป็นเมนูที่ไม่ปรากฏที่มา หากทราบอีกที คนพนัสนิคมก็อิ่มอร่อยกับเมนูที่มีมาหลายชั่วอายุไปแล้ว
เอ็งกอ ศิลปะการแสดงเพาะต้นกล้าเยาวชน
“เอ็งกอ” คือการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายจีนในอำเภอพนัสนิคม ซึ่งแสดงเฉพาะในงานสำคัญ เช่น งานบุญกลางบ้าน ที่จัดประจำทุกปี โดยเทศบาลยังจัด “มหกรรมเอ็งกอ” ซ้อนเข้าไปในงานใหญ่ดังกล่าวด้วย การแสดงนี้มีเอกลักษณ์ที่ผู้แสดงทาหน้าด้วยสีสันสดใส แต่งกายแบบจอมยุทธ์ และจำลองเหตุการณ์ตามตำนานของเหล่า 108 วีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซานที่รวมพลังกันต่อสู้ขับไล่ทรราช
การแสดงเอ็งกอใช้ทั้งการเต้นตีไม้ ตีกลอง และโบกธงบนยอดไผ่ โดยผู้แสดงส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย ตามต้นฉบับจากเมืองจีน กระนั้นเมื่อเอ็งกอมาเบ่งบานในวัฒนธรรมของคนพนัสฯ จึงมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างเพื่อสะท้อนตัวตนของคนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีเขียวและเหลืองที่เป็นสีประจำเมืองในเครื่องแต่งกาย หรือการใช้หมวกสานที่สะท้อนเอกลักษณ์ของเมืองจักสาน เป็นต้น
ปัจจุบันพนัสนิคมมีคณะนักแสดงเอ็งกอที่มีการสืบทอดอย่างจริงจัง รวมถึงยังมีการบรรจุเอ็งกอเข้าไปในหลักสูตรวิชากิจกรรมชุมนุมในโรงเรียนเทศบาลบางแห่ง ซึ่งถือเป็นการเพาะต้นกล้าให้กับคนรุ่นใหม่ในเมืองนี้ เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเมืองต่อไป
“แต้มต่อทางวัฒนธรรมของพนัสนิคมที่ชัดเจน ได้สะท้อนภาพของความร่วมแรงร่วมใจของคนพนัสฯ ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ ประเพณี “งานบุญกลางบ้านและเผยแพร่เครื่องจักสานพนัสนิคม” งานประจำปีที่จัดขึ้นทุกวันศุกร์-อาทิตย์ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ณ สวนสาธารณะเทศบาลเมืองพนัสนิคม ของดีของเมือง ความน่าสนใจของกิจกรรมนี้ไม่เพียงแค่ฉากหน้าที่นำเสนอความชาญฉลาดในการประยุกต์ประเพณีบุญกลางบ้านของคนไทยภาคกลางในแบบฉบับเฉพาะตัว หากเป็นความร่วมแรงร่วมใจของผู้คนทั้ง 12 ชุมชนย่อยในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม และชาวอำเภอพนัสนิคมที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสร้างสรรค์งานประจำปีนี้ให้เป็นรูปธรรมในทุก ๆ ปี จนเกิดเป็นภาพสะท้อนของเมืองที่ขึ้นชื่อว่าน่าอยู่ที่สุดในประเทศ – เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องสิ่งแวดล้อมดี และความสามัคคีของผู้คนที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคง”