ตั้งอยู่บนพื้นที่ 38.90 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 5 ตำบล ได้แก่ สวนใหญ่ ตลาดขวัญ บางเขน บางกระสอ และท่าทราย ขณะที่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเทศบาลนครนนทบุรีติดแม่น้ำเจ้าพระยา ชายแดนทางทิศตะวันออกและทิศใต้ยังเชื่อมติดกับกรุงเทพมหานคร ทำให้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในปริมณฑลสำคัญที่รองรับประชากรที่ขยายตัวมาจากเมืองหลวง พร้อมกับการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในพื้นที่เอง จากการเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทขนาดใหญ่ ศูนย์ราชการแห่งใหม่ ศูนย์การค้าชั้นนำ ไปจนถึงการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม
กระนั้น ดังที่กล่าวในตอนต้น แม้จะเป็นมหานครที่ทันสมัย และเป็นเทศบาลนครที่สามารถจัดเก็บรายได้สูงที่สุดในประเทศ หากก็เฉกเช่นเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก นนทบุรีกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ในปี 2566 นนทบุรีถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย โดยอยู่ในอันดับที่ 9 มีจำนวนผู้สูงวัยรวมทั้งจังหวัด 280,166 คน เฉพาะในเขตเทศบาลนครนนทบุรี จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ที่มี 63,302 คน จนถึงปี 2566 ที่มี 76,570 คน โดยปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็น 31% ของประชากรทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าเมืองได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว เทศบาลนครนนทบุรีจึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข และการให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ผ่อนคลายทั่วเมือง
พร้อมกันนั้น กองการแพทย์ เทศบาลนครนนทบุรี ก็ยังได้ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพเชิงรุก ทั้งการนำแนวคิด “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” (Lifestyle Medicine) มาใช้ดูแลสุขภาพผู้คนตั้งแต่ต้นทาง การส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้และตรวจสุขภาพของประชาชนในชุมชน และโปรแกรมสุขภาพอื่น ๆ รวมถึงยังมีการนำเทคโนโลยี NakornNont Smart GIS มาใช้คัดกรองสุขภาพผู้สูงวัยแบบออนไลน์ และระบบ GIS Application Gallery ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพกับพื้นที่บริการ รวมถึงระบบ e-Service สำหรับการลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิ์เบี้ยยังชีพผู้สูงวัย ฯลฯ
แม้การดำเนินงานเหล่านี้จะทำให้เทศบาลนครนนทบุรีได้รับการยอมรับ และกลายเป็นต้นแบบของเมืองที่มีระบบดูแลผู้สูงวัยอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในระดับประเทศ กระนั้นก็ตาม เทศบาลนครนนทบุรีก็หาได้หยุดเพียงเท่านี้ ด้วยความตระหนักดีว่า สังคมสูงวัยหาใช่ “ปลายทาง” แต่หากมีกลไกรอบด้านมาช่วยขับเคลื่อน นี่จะเป็น “โอกาส” ใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง
เทศบาลฯ จึงได้ร่วมกับ บพท. และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขับเคลื่อนโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ทั้งการเก็บข้อมูลประชากรอย่างละเอียด การยกระดับแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในเขตเทศบาลให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมการใช้งาน และการส่งเสริมนิเวศด้านการดูแลสุขภาพ ภายใต้กรอบแนวคิด “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” ที่เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกองการแพทย์
ข้อมูลเมือง แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพ และเวชศาสตร์วิถีชีวิต จะเปลี่ยนสถานการณ์สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบของนนทบุรีให้กลายเป็นต้นทุนใหม่ของการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และชาญฉลาดได้อย่างไร WeCitizens อาสาไปหาคำตอบพร้อมกัน
#เทศบาลนครนนทบุรี #บพท #pmua #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #wecitizens