default

[CITY OVERVIEW นครปากเกร็ด] ปากเกร็ด นครแห่งสายน้ำกับการเป็นต้นแบบจัดการภัยพิบัติระดับสากล

Start
70 views
22 mins read

น้ำเป็นทั้งพรและภัยของผู้คนในเทศบาลนครปากเกร็ด เมืองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเมืองนี้เติบโตมาจากหมู่บ้านชาวสวนในสมัยอยุธยา โดยสายน้ำไม่เพียงหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ยังหลอมรวมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวไทย จีน และมอญ เข้าด้วยกัน กลายเป็นอัตลักษณ์และรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมืองจนถึงปัจจุบัน

แต่ดังที่กล่าว น้ำก็เป็นภัยคุกคามที่ไม่อาจมองข้าม ในพื้นที่ 36 ตารางกิโลเมตรของเทศบาลนครปากเกร็ด แนวริมน้ำยาวกว่า 15 กิโลเมตรคือแนวหน้าที่ชุมชนหลายสิบแห่งต้องเผชิญกับมวลน้ำมหาศาลของเจ้าพระยา แม้ชาวบ้านหลายรุ่นจะคุ้นชินกับน้ำที่ท่วมเรือกสวนและบ้านเรือนในฤดูน้ำหลาก หากไม่ใช่กับปัจจุบัน เมื่อชุมชนปากเกร็ดกลายมาเป็นนครขนาดใหญ่ที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการบริหารจัดการระดับประเทศเช่นนี้

เทศบาลนครปากเกร็ดเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดนนทบุรี ครอบคลุม 5 ตำบล ได้แก่ ปากเกร็ด บางตลาด คลองเกลือ บางพูด และบ้านใหม่ มีชุมชนด้วยกันทั้งหมด 66 ชุมชน และมีประชากรราว 190,000 คน (ไม่นับประชากรแฝง) ซึ่งมากเป็นอันดับสองของประเทศ (รองจากเทศบาลนครนนทบุรี) โดยมีพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพฯ ทางทิศตะวันออก และเทศบาลนครนนทบุรีทางทิศใต้

ที่นี่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการกลางของประเทศ ศูนย์การค้า สถานศึกษา สถานีรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อเข้าสู่เมืองหลวง ไปจนถึงศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าระดับนานาชาติอย่างอิมแพ็ค เมืองทองธานี ขณะเดียวกัน ปากเกร็ดก็ยังคงเปี่ยมเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม ผ่านชุมชนเก่าแก่ของชาวมอญ วัดวาอารามในสมัยอยุธยา ไปจนถึงสวนผลไม้และพื้นที่ทางการเกษตรที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน การปล่อยให้น้ำจากเจ้าพระยาเอ่อล้นข้ามชายฝั่ง หมายถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและส่งผลกระทบอย่างมหาศาล

ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกผู้คน และการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ ภารกิจที่เทศบาลนครปากเกร็ดให้ความสำคัญเสมอ คือการทำให้ปากเกร็ดแคล้วคลาดจากอุทกภัย ภารกิจนี้ประจักษ์ชัดจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ที่มวลน้ำมหาศาลเข้าท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ หลายจุด แต่กลับไม่สามารถฝ่าปราการอันแน่นหนาของเทศบาลฯ ไปได้

ความสำเร็จนี้ไม่เพียงสร้างชื่อเสียงให้ปากเกร็ด แต่ยังผลักดันให้เทศบาลฯ พัฒนา “ปากเกร็ดโมเดล” ระบบจัดการน้ำที่ผสานเทคโนโลยี GIS และกล้องวงจรปิดเพื่อเฝ้าระวังและรับมือน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ต่อมาได้ยกระดับสู่ “ปากเกร็ดโมเดลใหม่ (ICS Pakkret Model)” เพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน ก่อนจะร่วมมือกับ บพท. ในโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด พัฒนาระบบแจ้งเตือนสาธารณะ และจัดทำหลักสูตรป้องกันภัยพิบัติสำหรับนักเรียน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่คนรุ่นใหม่

พร้อมไปกับการสำรวจว่าเหตุใด เทศบาลที่มีประชากรหนาแน่นและมากเป็นอันดับสองของประเทศ อีกทั้งยังคงต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางน้ำ กลับยังคงสถานะความเป็นเมืองน่าลงทุนและน่าใช้ชีวิตสำหรับผู้คนทุกวัย รวมถึงยังได้รับรางวัลระดับประเทศ (ชนะเลิศด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ และรองชนะเลิศอันดับ 1 เทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ประเภทเทศบาลนคร ปี 2564) WeCitizens ฉบับนี้จะพาไปลงลึกถึงโครงการที่ช่วยเสริมศักยภาพปากเกร็ด ให้เป็นมากกว่าเมืองน่าอยู่ แต่ยังเป็นเมืองต้นแบบของการรับมือกับภัยพิบัติในระดับสากลต่อไป

Quick Facts

เทศบาลนครปากเกร็ด มีพื้นที่ สีเขียวรวมทุกประเภท 9,729,798 ตร.ม. 
คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่สีเขียวรวมทุกประเภทต่อพื้นที่เมือง 9,729,798 : 36,040,000 ตร.ม.
หรือร้อยละ 26.99

ข้อมูล ณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
ที่มา https://www.pakkretcity.go.th/index. php?option=com_content&view=article&lay- out=edit&id=2836  

ตำบลคลองเกลือ และตำบลบางพูด 
เป็นที่ตั้งของ “เมืองทองธานี” โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมบนพื้นที่ 4,700 ไร่ เป็นที่ตั้งของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยศิลปากร City Campus นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานราชการ และสนามกีฬามาตรฐานระดับสากล

วัดกู้ (วัดพระนางเรือล่ม)
วัดกู้ ตั้งอยู่ในตำบลบางพูด ซอยปากเกร็ด 3 มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับพระนางเรือล่ม (สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในรัชกาลที่ 5) และเป็นที่ประดิษฐานของ“หลวงพ่อสมหวัง” พระนอนองค์ใหญ่ที่เป็นที่ศรัทธาของชาวปากเกร็ด

ตำบลปากเกร็ด
ที่ตั้งของสำนักงานเทศบาลนครปากเกร็ด โดยด้านหลังของวัดบ่อบริเวณริมน้ำเจ้าพระยา คือ “ตลาดเก่าริมน้ำเจ้าพระยา” ศูนย์กลางทางการค้าดั้งเดิมของชาวปากเกร็ดที่มีอายุกว่า 100 ปี รวมถึงยังมีท่าเรือที่ข้ามไปยังเกราะเกร็ด บริเวณหลังวัดสนามเหนือ แหล่งชุมชนชาวมอญดั้งเดิม และแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ

เขื่อนริมท่าน้ำปากเกร็ด
ระยะทางรวม 446 เมตร ทอดยาวริมเจ้าพระยาในตำบลปากเกร็ด (จากสะพานพระรามสี่ ถึงท่าเรือข้ามเกาะเกร็ดวัดสนามเหนือ) ปัจจุบันเทศบาลฯ ได้ปรับปรุงให้เป็นทางเดินริมน้ำสำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ 

ตำบลบ้านใหม่
ที่ตั้งของ “สวนสมเด็จฯ” หรือ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี ทั้งยังเป็นสวนพฤกษศาสตร์ และ ‘โครงการศูนย์การเรียนรู้ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี’ รวบรวมทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองสำหรับคนรักธรรมชาติ

ตำบลบางตลาด
ที่ตั้งของ “ศูนย์เรียนรู้รีไซเคิลขยะชุมชนพบสุข” เป็นศูนย์ที่มีนวัตกรรมในการจัดการขยะชุมชนโดยการมีส่วนร่วมจากชุมชนเอง พร้อมพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการขยะเพื่อให้ผู้มาศึกษานำไปปรับใช้ในชุมชนของตน

นวัตกรรม “ปากเกร็ดโมเดลใหม่” อยู่กับน้ำอย่างยั่งยืน
ระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System : ICS)
ช่วยให้หน่วยต่าง ๆ ที่มีระบบการปฏิบัติภารกิจแตกต่างกัน สามารถมาทำงานภายใต้โครงสร้างเดียวกัน โดยมีระบบการสื่อสาร และระบบการส่งกำลังบำรุงร่วมกัน

กล้อง CCTV จำนวน 264 ตัว ติดตั้งใน 66 ชุมชน เสริมความปลอดภัย รวมถึงยังมีกล้องติดตั้งตามลำคลองและแม่น้ำ เพื่อมอนิเตอร์ระดับน้ำแบบเรียลไทม์

LINE OA “Pakkret Connect” เปิดให้ประชาชนแจ้งเหตุ และรายงานสถานการณ์ระดับน้ำแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

Flood Data 
ชุดข้อมูลเพื่อบริหารสถานการณ์น้ำท่วมในเขต ทน.ปากเกร็ด แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. ข้อมูลจากเทศบาลฯ รวบรวมจาก 22 สถานีและ 23 บ่อสูบ โดยติดเซ็นเซอร์ทุกจุด ส่งข้อมูลผ่านไฟเบอร์ออปติกไปยังศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝนที่แม่นยำใน 5 จุดสำหรับวางแผนการจัดการน้ำ
  2. ข้อมูลจากกรมชลประทานและ thaiwater.net นำมาประมวลผลตามเงื่อนไขของโปรแกรมที่ติดตั้งไว้

ปากเกร็ดสู่เมืองยั่งยืนระดับประเทศ
อปท. แห่งแรกของไทยที่ได้รับรองมาตรฐานสากลด้านการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (ISO 27001) จาก British Standards Institution (BSI)
– ชนะเลิศ อปท. ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประเภททั่วไป 2565
– ชนะเลิศเทศบาลด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน 2564
– รองชนะเลิศอันดับ 1 เทศบาลน่าอยู่ยั่งยืน ระดับเทศบาลนคร 2564
– หน่วยงานต้นแบบการจัดซื้อจัดจ้าง SME สูงสุด 2564
– รางวัลประกาศเกียรติคุณ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น 2563 – 2564

#เทศบาลนครปากเกร็ด #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #PMUA #บพท #Wecitizens