Enjoy your time in Chiang Mai เชียงใหม่: เมืองแห่งการเรียนรู้ไม่รู้จบ

Start
717 views
37 mins read

จากยอดดอยสู่สายน้ำ สำรวจพื้นที่แห่งการเรียนรู้ตามคำขวัญเมืองเชียงใหม่

10 ล้านคนต่อปีคือจำนวนโดยเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มาเยือนเชียงใหม่ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ข้อมูลจากสื่อท่องเที่ยวระดับสากลยังระบุอีกว่าเชียงใหม่ได้รับการโหวตให้ติดอันดับ top 10 เมืองน่าเที่ยวที่สุดในเอเชียต่อเนื่องมาหลายปี กระนั้นก็ตาม เชียงใหม่ก็หาได้มีดีแค่การท่องเที่ยว

          อดีตเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา เมืองต้นธารทางศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือ ศูนย์กลางของสล่าหัตถกรรม นครแห่งศิลปะ พื้นที่บุกเบิกการปลูกพืชเมืองหนาวไปจนถึงเมืองต้นแบบของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศ และแน่นอน เมืองหลวงของภาคประชาสังคม ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงบางนิยามของจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศและเป็นบ้านของประชากรเกือบ 2 ล้านคนแห่งนี้

          ว่าแต่อะไรที่ทำให้เชียงใหม่เปี่ยมไปด้วยความหมายอันหลากหลายที่ว่า?

เราคิดว่านอกจากการเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตอันเกิดจากการสั่งสมมากว่า 700 ปี การเป็นเมืองแห่ง ‘การศึกษา’ ยังเป็นฐานรากสำคัญที่ทำให้เมืองเชียงใหม่เช่นทุกวันนี้

          เพราะไม่ใช่แค่ในแง่ปริมาณจากการที่เชียงใหม่มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่เกือบ 10 แห่ง (เป็นรองแค่กรุงเทพฯ เมืองเดียว) หรือในแง่ของคุณภาพ ที่สถาบันเหล่านี้ผลิตงานวิจัยจำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งมีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ แต่เพราะด้วยมิติทางศิลปวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เมืองที่เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือแห่งนี้ยังเอื้อให้เกิด ‘พื้นที่แห่งการเรียนรู้’ ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เปิดให้ผู้คนทุกเพศทุกวัย รวมถึงทุกระดับทางสังคมสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ มากมายไม่จบสิ้น

          WeCitizens ฉบับปฐมฤกษ์ จะพาไปสำรวจพื้นที่แห่งการเรียนรู้ดังกล่าว โดยอ้างอิงตามคำขวัญของจังหวัด คำขวัญที่เราอาจจะเคยจดจำในฐานะเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว หากอีกนัย คำขวัญชุดเดียวกันนี้ก็ยังสะท้อนศักยภาพของการเรียนรู้ที่เมืองเมืองนี้มีได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

“ดอยสุเทพเป็นศรี”
ห้องเรียนธรรมชาติและประวัติศาสตร์ที่ชื่อดอยสุเทพ

            ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ด้วยทำเลซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทุกมุมในตัวเมือง อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของหนึ่งในวัดสำคัญของเมืองอย่างวัดพระธาตุดอยสุเทพ ดอยสุเทพจึงเปรียบเสมือนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนเชียงใหม่มาช้านาน

          หลายคนทราบดีว่าการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.1839 โดยพระญามังราย เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับที่ตั้งของดอยสุเทพ ทั้งในแง่มุมด้านตำนานความเชื่อ การเป็นปราการธรรมชาติ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญโดยเฉพาะแหล่งต้นน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงเมือง และเพราะดอยสุเทพนี้เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมนครโบราณแห่งนี้จึงยังคงมีชีวิตอยู่ได้มากว่า 726 ปีจนถึงปัจจุบัน

          นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ดอยสุเทพจะกลายเป็นแหล่งสั่งสมองค์ความรู้ของเมืองมากมาย ทั้งในแง่มุมของประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมือง การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาในล้านนาจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ งานพุทธศิลป์ ไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ภูมิปัญญาด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง และอื่นๆ

          อีกทั้ง ในปี พ.ศ. 2520 ยูเนสโกยังประกาศให้พื้นที่ดอยสุเทพ-ปุยและใกล้เคียง เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า พื้นที่ต้นแบบในการศึกษาและวิจัยด้านลุ่มน้ำธรรมชาติและอุทกวิทยา และเป็นต้นแบบของการจัดการลุ่มน้ำ รวมทั้งเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์

          ด้วยเหตุนี้ นอกจากเป็นป่าหลังบ้านและเป็นปอดของคนเชียงใหม่ ดอยสุเทพจึงเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่อยู่ใกล้ชิดกับเมืองมากที่สุด และจุดประกายให้เกิดเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักในความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ที่ชักชวนเยาวชนเข้ามาศึกษาธรรมชาติและดูนกประจำถิ่นภายในพื้นที่ดอยสุเทพ โครงการ ดอยสุเทพศึกษา วิชาของทุกคน โดยเครือข่ายสภาลมหายใจเชียงใหม่ ที่จัดกิจกรรมชวนชาวเชียงใหม่ไปเรียนรู้มิติต่างๆ ของดอยสุเทพอย่างรอบด้าน

หรือในทางกลับกัน เมื่อดอยสุเทพถูกคุกคามโดยไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ คนเชียงใหม่ก็พร้อมร่วมใจออกมาปกป้องภูเขาลูกนี้ เช่นกรณีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเมื่อรัฐรุกล้ำพื้นที่บางส่วนของดอยสุเทพไปทำโครงการบ้านพักอาศัยเมื่อปี 2561 ชาวเชียงใหม่ก็รวมตัวกันในนาม เครือข่ายขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ เพื่อกดดันให้รัฐหยุดการก่อสร้าง และคืนพื้นที่ดังกล่าวกลับสู่ธรรมชาติ กล่าวได้ว่าผลสำเร็จของเครือข่ายดังกล่าว หาได้เพียงเกิดจากความรักความศรัทธาเพียงลำพัง แต่เป็นเพราะกระบวนการสั่งสมการเรียนรู้เกี่ยวกับเทือกเขาแห่งนี้ อันนำมาสู่ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญที่แปรเปลี่ยนมาเป็นพลังขับเคลื่อนเมืองเรื่อยมา

“ประเพณีเป็นสง่า”
เรียนรู้ฐานรากประเพณีผ่านภูมิปัญญาหัตถศิลป์จากสล่าพื้นเมือง

          เนื่องด้วยเชียงใหม่เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา หนึ่งในอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองที่สุดในอดีตก่อนการเกิดขึ้นของรัฐไทย ที่นี่จึงพร้อมพรั่งไปด้วยภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เพียงเป็นหลักฐานของความรุ่งเรืองในอดีต แต่ยังเป็นต้นธารของการศึกษาในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ส่งต่อมาถึงยุคปัจจุบัน

          ประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมากว่าเจ็ดร้อยปีนี้ ยังมีส่วนทำให้เมืองแห่งนี้รุ่มรวยไปด้วยประเพณีที่เชื่อมโยงกับพุทธศาสนาและวิถีชีวิตของผู้คนอันโดดเด่นเป็นสง่าในทุกๆ เดือนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะประเพณีปีใหม่เมืองที่จัดขึ้นในเดือนเมษายน และประเพณียี่เป็งที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และที่สำคัญคือภูมิปัญญาด้านหัตถศิลป์และการแสดงที่จำเป็นต่อการจัดประเพณีนั้นๆ ซึ่งชาวล้านนาได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การตัดตุง การทำโคมประดับ ไปจนถึงการฟ้อนรำ เพลงซอ และดนตรีพื้นเมือง เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี การก่อตั้งขึ้นที่เกิดจากอุดมการณ์ของพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาที่ตั้งใจจะรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมล้านนาในวาระเชียงใหม่ครบ 700 ปี เมื่อ พ.ศ.2539 อาจกล่าวได้ว่า โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โดยมูลนิธิสืบสานล้านนา คือหนึ่งในพื้นที่การเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ โรงเรียนของคนทุกเพศทุกวัยภายในสวนที่รายล้อมด้วยเรือนโบราณล้านนาแห่งนี้ เปิดสอนสรรพวิชาที่เปรียบเสมือนรากเหง้าทางวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่ ตั้งแต่การอ่าน-เขียนอักษรล้านนา ไปจนถึงการฟ้อนรำและงานหัตถศิลป์ ในขณะที่ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ โดย เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ยังเป็นอีกหนึ่งตัวตั้งตัวตี สร้างความร่วมมือกับเยาวชนจากสถาบันศึกษาต่างๆ อบรมด้านศิลปะพื้นถิ่นโดยเฉพาะการฟ้อน เพื่อหวังสร้างช่างฟ้อนรุ่นใหม่มาช่วยกันสืบสานประเพณีของเมืองเชียงใหม่

          และที่เห็นได้ชัดคือโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้ง 2 โครงการที่ได้รับทุนจาก บพท. ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แก่ผู้คนผ่านประเพณีของเมืองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทำดอกไม้พันดวง เพื่อเป็นสัญลักษณ์การจัดเทศกาลยี่เป็งโดยชาวชุมชน ของ ดร.รชพรรณ ฆารพันธ์ หรือการสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการรุ่นใหม่กับชาวบ้านในชุมชนช้างม่อย ผ่านประเพณีกวนข้าวยาคู้ที่วัดชมพู ของ ดร.จิรันธนิน กิติกา (อ่านเพิ่มเติมได้ในเล่ม)

“บุปผชาติล้วนงามตา”

วิชาพืชพรรณที่มากไปกว่าความงามของไม้ดอก

            ดอกไม้ เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ ด้วยความที่เมืองรายล้อมไปด้วยหุบเขาที่เหมาะแก่การปลูกดอกไม้เมืองหนาว ที่นี่จึงเป็นแหล่งส่งออกไม้ดอกระดับประเทศ เช่นเดียวกับเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนที่หลงใหลในความงามของดอกไม้ให้มาเยือนผ่านอีเวนท์และสถานที่ต่างๆ อาทิ มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ  เทศกาลดอกไม้ประจำปี และฟาร์มดอกไม้เมืองหนาวรอบตัวเมืองที่กำลังเป็นที่นิยมของหมู่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่

          ไม่เพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่ตราตรึงไปด้วยรูปและกลิ่น เชียงใหม่ก็ยังมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้และจัดแสดงเกี่ยวกับดอกไม้และพรรณไม้ต่างๆ อย่างรอบด้านที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานราชพฤกษ์ ในอำเภอหางดง และสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ในอำเภอแม่ริม รวมถึงสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในอำเภอฝาง เป็นต้น

          และเมื่อกล่าวถึงพรรณไม้แล้ว อีกเรื่องที่ไม่กล่าวไม่ได้คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้านการเกษตร เพราะไม่เพียงจะมีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนมากมาย เครือข่ายเหล่านี้ยังเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษากระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เกษตรธรรมชาติแม่ออน, ‘ม่วนใจ๋’ กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว, กลุ่มแม่ทาออร์แกนิก หรือ Organic Farm ที่อำเภอดอยสะเก็ด เป็นต้น

“นามล้ำค่านครพิงค์”

ชั้นเรียนบนลำน้ำปิง

          หากเปรียบดอยสุเทพที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเป็นปอดที่ทำหน้าที่ฟอกอากาศให้ผู้คนในเมือง แม่น้ำ ‘พิงค์’ หรือแม่น้ำปิงที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกก็คงเป็นคล้ายเส้นเลือดใหญ่ของเมืองเชียงใหม่มาช้านาน ทั้งในฐานะหนึ่งในชัยภูมิการตั้งเมือง เส้นทางคมนาคมหลักในอดีต แหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก ไปจนถึงการเป็นพื้นที่รองรับและระบายน้ำ และพื้นที่พักผ่อนของคนเชียงใหม่ในปัจจุบัน

          บนระยะทางทั้งสิ้น 658 กิโลเมตรจากจุดกำเนิดในอำเภอเชียงดาวไปสิ้นสุดยังปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ลำพังแค่การจำกัดขอบเขตเพียงไม่กี่กิโลเมตรของลำน้ำที่ไหลผ่านเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ก็มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในหลากมิติเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมฝั่งน้ำ ประวัติศาสตร์ในยุคสัมปทานค้าไม้ที่นำความทันสมัยให้แก่เมืองเมื่อศตวรรษก่อน ระบบชลประทานที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายลำเหมือง คลองแม่ข่า และคูเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงภูมิปัญญาเหมืองฝาย ซึ่งมีหลักฐานประจักษ์ชัดจาก ‘ฝายพญาคำ’ ฝายโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่ซึ่งยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทั้งนี้ ไม่มีกระบวนการเรียนรู้หรือสื่อการเรียนเรื่องแม่น้ำปิงสื่อไหนที่จะดีไปการนั่งเรือเพื่อล่องแม่น้ำ

เรือหางแมงป่องล่องแม่ปิง เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ขับเคลื่อนโดยเอกชน ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้นั่งเรือหางแมงป่องโบราณรูปแบบเดียวกับเรือที่เคยใช้สัญจรในลำน้ำสายนี้ในอดีต พร้อมฟังวิทยากรบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับสายน้ำ และทำกิจกรรมเรียนรู้วิถีชาวล้านนาแต่ดั้งเดิม

          กลุ่ม SUP CNX กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจสอนพายเรือ sup board ยังมีการจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่ม Trash Hero ชักชวนชาวเชียงใหม่มาร่วมพายเรือและเก็บขยะที่ตกค้างในลำน้ำร่วมกันในโครงการ SUP Mae Ping Cleaning

          และล่าสุด เมื่อทราบว่าทางเทศบาลนครเชียงใหม่อนุมัติให้มีการก่อสร้างสวนน้ำปิง สวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำปิง โครงการ ‘การพัฒนาเมืองเชียงใหม่นครแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเมืองพลวัตที่ยั่งยืน’ ยังได้ร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานต่างๆ จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยการพาผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบสวนสาธารณะแห่งนี้ไปศึกษาระบบนิเวศริมแม่น้ำด้วยการนั่งเรือสำรวจแม่น้ำปิง เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมได้ในเล่ม)

          เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้งหมดที่แฝงฝังเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในเชียงใหม่ พื้นที่เล็กๆ ที่บ้างก็เชื่อมโยง บ้างก็ไม่เกี่ยวพัน หากทุกๆ แห่งก็ล้วนส่งพลังที่มีส่วนขับเคลื่อนให้เชียงใหม่กลายเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ – จุดหมายของผู้ที่หลงใหลในการเรียนรู้ และเมืองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ

          ขอต้อนรับสู่เชียงใหม่ เมืองแห่งการเรียนรู้ไม่รู้จบ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย