/

Saraburi Food Valley
สนทนากับ อรอุษา จึงยิ่งเรืองรุ่ง ว่าด้วยการขับเคลื่อนสระบุรีให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหารยั่งยืนของประเทศ

Start
238 views
38 mins read

นิ่ม – อรอุษา จึงยิ่งเรืองรุ่ง เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดและทำงานในสระบุรี เธอเป็นรองประธานหอการค้าจังหวัด รวมถึงหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ร่วมกับ หม่อง – นพดล ธรรมวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้แก่งคอย

เมื่อต้นปี 2566 คุณนิ่มและคุณหม่องในฐานะตัวแทน บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการขับเคลื่อนโครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและการยกระดับพื้นที่จังหวัดสระบุรี สู่การสร้างมาตรการส่งเสริมการลงทุน ‘อุตสาหกรรมความมั่นคงทางอาหาร’ หรือ ‘หุบเขาอาหาร’ ของประเทศไทย ร่วมกับทางจังหวัดสระบุรี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี, สมาคมธนาคารจังหวัดสระบุรี และหอการค้าจังหวัดสระบุรี ผ่านการสนับสนุนของ บพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) 

โดยการศึกษาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงรูปแบบและโครงสร้างภาคการเกษตรของพื้นที่ การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์และออกแบบแผนผังพื้นที่ Food Valley รวมถึงการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของแผนการลงทุน (Feasibility) ในการพัฒนาพื้นที่ Food Valley ในจังหวัดสระบุรีให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย

“จริงอยู่ ที่ผ่านมาสระบุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักที่สร้าง GDP ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่คำถามคือ ในช่วงหลายปีหลังมานี้ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าอุตสาหกรรมที่เรามีจะยั่งยืน ในเมื่อประเทศเพื่อนบ้านเขาก็สามารถผลิตสิ่งเดียวกับเราในราคาที่ย่อมเยากว่า?” คุณนิ่มตั้งคำถาม และนั่นเป็นเหตุผลหลักที่สระบุรีได้ทำการสำรวจทรัพยากรและศักยภาพที่จังหวัดมี ก่อนจะพบถึง ‘มูลค่า’ ของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่กระทั่งคนสระบุรีเองหลายคนอาจมองข้าม

WeCitizens ชวนคุณนิ่มสนทนาถึงศักยภาพดังกล่าว และมุมมองต่อการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทเฉพาะตัวของสระบุรีในบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้

ก่อนอื่น อยากให้เล่าบทบาทของคุณนิ่มใน บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ครับ
นิ่มเป็นประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YEC) ของหอการค้าจังหวัดสระบุรีก่อนค่ะ ตอนนั้นพี่หม่อง (นพดล ธรรมวิวัฒน์) เป็นประธานหอการค้าจังหวัด พี่หม่องเห็นว่าการพัฒนาเมืองสระบุรีที่ผ่านมา มันยังมีช่องว่างที่เชื่อมระหว่างรัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าด้วยกัน เขาก็เลยชวนเพื่อนนักธุรกิจมาตั้ง บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ขึ้น

บทบาทของนิ่มคือความพยายามเชื่อมแหล่งทุนจากองค์กรต่างๆ เข้ากับโครงการพัฒนาเมือง ดูว่าตรงไหนจะเหมาะไปหนุนเสริมหรือพัฒนาเรื่องอะไร อย่างการเชื่อมทุน บพท. เข้ากับโครงการศึกษาการจ้างงานในจังหวัด หรือโครงการ City Lab ของ สสส. เราก็ดึงงบนี้มาร่วมทำกับเทศบาลเมืองสระบุรี เป็นต้น เห็นโอกาสทุนจากที่ไหน ถ้าดึงมาใช้กับท้องถิ่นเราได้ ก็ดึงมา  

เพราะเป้าหมายของเราคืออยากให้สระบุรีพัฒนาไปภายใต้แผนแม่บทที่ผู้คนทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดขึ้น การวิจัยถึงศักยภาพต่างๆ ของเมืองร่วมกับภาครัฐที่เป็นฝั่งกำหนดนโยบาย จึงเป็นเรื่องสำคัญ  

ล่าสุด บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด กำลังศึกษาเรื่องการขับเคลื่อนเมืองให้เป็น Food Valley เลยอยากให้เล่าว่าเห็นโอกาสอะไรจากโครงการนี้ครับ
ต้องเกริ่นก่อนว่า แต่ไหนแต่ไร สระบุรีเป็นเมืองที่ GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ 1-12 ของประเทศ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามีแหล่งอุตสาหกรรมหนักอย่าง โรงปูน โรงงานเซรามิก หรือโรงงานใหญ่ๆ มากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายปีหลังมานี้ กำลังผลิตของเราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างกระเบื้องนี่ก็ผลิตในไทยน้อยลงเยอะแล้ว เพราะตลาดหันมารับของจากจีนและเวียดนามมากกว่า รวมถึงโรงงานอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่ปัญหาว่ารายได้จากโรงงานหายไป แต่ยังหมายถึงรายรับของประชากรด้วย เพราะสระบุรีประชากรประมาณ 600,000 กว่าคน ไหนจะประชากรแฝงอีกเยอะ คนย้ายมาเพื่อทำงาน พองานไม่มี ผู้คนก็จำต้องย้ายออกไปหาโอกาสที่อื่น

จริงอยู่ทุกวันนี้โรงงานปูนของเรายังมั่นคงเพราะเป็นของบริษัทใหญ่ระดับประเทศ และจากการที่นิ่มเคยทำวิจัยเรื่องแรงงาน เด็กที่เรียนในสระบุรีส่วนใหญ่ก็มีความฝันที่จะทำงานโรงปูน เพราะมีรายได้มั่นคง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะได้เข้าไปทำงานที่นี่ แล้วที่เหลือเขาจะทำอะไรล่ะ? คือนอกจากโรงงานกับงานราชการ สระบุรีก็แทบไม่มีอาชีพอื่นให้เด็กๆ ที่นี่ได้ทำเลย เราเห็นว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป คนรุ่นใหม่ก็ย้ายออกหมด ซึ่งปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงหลายปีหลังมานี้ จึงเป็นที่มาในการหารือกันว่าเราควรดึงต้นทุนอื่นที่จังหวัดมีมาเพิ่มมูลค่า ทั้งในแง่ของการส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมและสร้างงานสร้างอาชีพให้คนสระบุรี

นั่นจึงเป็นที่มาของการมองไปยังอุตสาหกรรมอาหาร?
ใช่ค่ะ จากสถิติคนในสระบุรีอยู่ในภาคการเกษตรถึง 70-80% และผู้คนในอุตสาหกรรมเกษตรนี้เกือบทั้งหมดเป็นคนไทยในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบกันว่าก็เป็นเหมือนอีกหลายๆ จังหวัดในประเทศไทยที่การมีอาชีพเกษตรกรประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอ

แต่อย่าลืมว่า สระบุรีเป็นแหล่ง supply ด้านอาหารระดับประเทศมานานมากแล้ว โคนมสระบุรีผลิตได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ปศุสัตว์อย่างไก่และหมูก็มาจากฟาร์มในจังหวัดเรา ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอื่นๆ นี่คือสิ่งที่เรามีมานานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกประกาศออกไป แบรนด์ผลิตอาหารระดับอาเซียนหลายแบรนด์ก็ตั้งโรงงานที่นี่ คือเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว จะดีกว่าไหม ถ้าเราผลักดันให้สระบุรีเป็น food hub หรือศูนย์กลางอาหารไปเลย แต่ที่เรากำลังจะทำเนี่ย ไม่ใช่การสนับสนุนทุนใหญ่ที่เป็นเจ้าของโรงงานซึ่งพวกนี้เขาลอยตัวอยู่แล้ว แต่เป็นการเชื่อมศักยภาพของเกษตรกรให้พวกเขาสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สิ่งที่กำลังผลิตอยู่ รวมถึงทำให้เกิดความยั่งยืนในภาคการเกษตร

เข้าใจว่าในตัวโครงการคือการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนให้สระบุรีเป็น Food Valley เลยอยากรู้ว่าเราจะเริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้อย่างไรครับ
เราอยู่ในระหว่างการศึกษาระดับปากทาง สิ่งที่เราค้นพบคือ ถ้าเราจะสร้างระบบนิเวศของ Food Valley ให้ได้ดี เราต้องมีพาร์ทเนอร์เป็นภาคการศึกษา สระบุรีเราโชคดีมีศูนย์การเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ที่อำเภอแก่งคอย ซึ่งมีห้องทดลองและเครื่องมือด้านงานวิจัยพร้อมสรรพ โดยเราก็ได้จุฬาลงกรณ์มาเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญในโครงการนี้ด้วย

ขณะเดียวกันเราก็สำรวจเกษตรกรรายย่อยในจังหวัด ซึ่งเราพบว่าสระบุรีมีกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่อยู่มาก เพียงแต่ที่ผ่านมาเขายังเข้าไม่ถึงโอกาสในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น อย่างสระบุรีเราเป็นแหล่งผลิตนมใช่ไหม ผลิตภัณฑ์หลักของเราคือนมโรงเรียน แต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา โรงเรียนปิด เราเลยส่งนมโรงเรียนไม่ได้ เกษตรกรก็แย่เลยเพราะเขาส่งอยู่ช่องทางเดียว

ก่อนหน้านี้ ตอนที่นิ่มอยู่ YEC เคยเสนอโปรเจกต์ให้สระบุรีเป็นศูนย์กลางด้านแดรี่ (dairy) หรือนมและผลิตภัณฑ์ใกล้เคียง ซึ่งประเทศไทยเราก็เป็นแหล่งผลิตนมสำคัญส่งไปทั่วอาเซียน รวมถึงสิงคโปร์ ฮ่องกง และจีนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เราส่งออกนมจะได้ราคาหนึ่ง แต่ถ้าเราแปรรูปนมเป็นเนย เป็นไอศกรีม หรือเบเกอร์รี่ มูลค่าก็จะสูงขึ้น ตรงนี้แหละ คือประเด็นที่เรากำลังทำ คือการ matching กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ ห้องทดลอง และงานวิจัย เข้ากับเกษตรกรในสระบุรี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่แล้วให้สร้างมูลค่าเพิ่มได้ 

เราเชื่อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ากับกลุ่มเกษตรกร เพื่อหาวิธีเพิ่มมูลค่า และช่วยเขาหาตลาด
และไม่ใช่แค่โคนมอย่างเดียว สระบุรีมีผลิตภัณฑ์เกษตรที่เป็น GI อยู่หลายตัว (Geographic Indication –  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เช่น ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ที่อำเภอหนองแซง เป็นข้าวที่มีน้ำตาลต่ำ โปรตีนสูง เหมาะสำหรับคนที่มีอาการเบาหวาน ถ้าเราขายสิ่งนี้เป็นข้าวสาร ก็จะได้ราคาหนึ่ง แต่ถ้าเราทำเป็นแป้งล่ะ นิ่มเคยถามทางนักวิจัยของจุฬาฯ อย่างช่วงที่มีสงครามรัสเซีย แป้งสาลีขาด ชาวต่างชาติต้องกินขนมปัง นิ่มถามว่าข้าวไทยทำเป็นแป้งขนมปังไม่ได้หรือ? ถ้าทำได้เนี่ย ก็จะสามารถทดแทนข้าวสาลีจากรัสเซียได้ คือเราจะได้ไม่ต้องขายแค่ข้าวเจ้า ถ้าเราขายเป็นแป้งขนมปังด้วย เราก็จะมีตลาดที่เติบโตขึ้นมหาศาล ข้าวเราอาจจะแพ้ประเทศเพื่อนบ้านไปแล้ว เราอาจจะต้องคิดมูลค่าเพิ่มให้ออก นอกจากนี้ เรายังมีมะม่วงมันหนองแซง รวมถึงเผือกหอม ที่เป็น GI ของบ้านเราด้วย 

และจริงๆ เราไม่ได้มองแค่การเป็นแหล่งผลิตอย่างเดียว เพราะข้อได้เปรียบสำคัญของเราอีกเรื่องคือเรามีทำเลที่ดี อยู่จุดกึ่งกลางของประเทศ เรามีทางหลวงหมายเลข 1-2 ที่แยกไปทางภาคเหนือและภาคอีสาน เรามีชุมทางรถไฟที่อนาคตจะมีทั้งรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเชื่อมไปถึงจีน ทำเลการขนส่งจึงพร้อมมาก  

เป็นทั้งแหล่งผลิตและ logistic ขนส่งไปในตัว
ไม่ใช่แค่นั้น ด้วยทำเลตรงกลาง เรายังสามารถรวบรวมวัตถุดิบจากรอบข้างมาผลิตที่เรา สามารถทั้งรับและกระจาย โลเคชั่นแบบนี้เราจะขนส่งอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่เราอยากพัฒนามันควรจะเป็นด้านอาหาร ด้วยต้นทุนของจังหวัดเรามีมาด้านนี้

ถ้าเราได้พบข้อมูลที่มายืนยันจากการศึกษานี้ว่าสมควรแก่การลงทุนให้เกิดเป็นรูปธรรม โครงการนี้จะไปต่อยังไงครับ
ก่อนหน้านี้เราคุยเรื่องนี้กับจังหวัดไปแล้ว ในฐานะหอการค้าจังหวัดสระบุรี และบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เราก็มีส่วนช่วยทางจังหวัดร่วมทำแผนพัฒนา 20 ปี และจากการทำ MOU กับจังหวัด ก็ยืนยันในระดับหนึ่งว่าถ้าการศึกษาสำเร็จ สิ่งนี้จะไปอยู่ใน master plan ของเขา และอีกทางหนึ่งเราก็หวังว่าข้อมูลพวกนี้จะถูกส่งขึ้นไปในระดับนโยบาย ไปทางสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ กระจายให้ไปทุกหน่วยงานเลย ให้เขาเข้าใจว่านี่คือศักยภาพของสระบุรีนะ มันส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศ เรามาร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน

เรื่องอาหารก็เรื่องหนึ่ง แล้วในมุมมองภาคธุรกิจด้านอื่นล่ะครับ หอการค้าจังหวัดสระบุรีเองได้พูดคุยกันไหมว่าปัญหาที่เผชิญอยู่ตอนนี้คืออะไร และเราจะจัดการกันอย่างไร
สระบุรีกำลังประสบปัญหาแบบเดียวกับอีกหลายจังหวัดในประเทศ คือย่านธุรกิจเก่าๆ ใจกลางเมืองกำลังจะตายลง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป รวมถึงการมาของโมเดิร์นเทรดและอี-คอมเมิร์ซ ทั้งหอการค้าและบริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เคยทำโครงการฟื้นฟูย่านเก่ามาแล้ว ซึ่งเราพบว่านี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นระดับประเทศ รวมถึงระดับนานาชาติ ลูกหลานเข้าไปทำงานเมืองใหญ่ เพราะไม่มีงานให้ทำที่บ้านเกิด และไม่อยากจะสานต่อธุรกิจที่บ้าน เมืองใหญ่กระจุกตัว เมืองเล็กๆ เงียบเหงาเพราะร้านรวงต่างๆ ถูกปิดไว้

แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้แก้ไขไม่ได้ สิ่งที่เราพบคือเรื่องการศึกษาในระดับท้องถิ่นที่ไม่สอดรับกับบริบทของเมืองนั้นๆ ยกตัวอย่าง สระบุรีมีวิทยาลัยอาชีวะศึกษาที่เปิดสอนด้านการโรงแรม แต่ถ้าคุณเรียนโรงแรมที่นี่จบออกมา คุณจะทำงานโรงแรมในสระบุรีไหม ในเมื่อเมืองของเรามีโรงแรมจำกัด และไม่มีโรงแรมหรือรีสอร์ทระดับ 5 ดาวที่ต้องการบุคลากรเฉพาะทางเลย หรือสระบุรีกำลังจะเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งทางราง เรามีสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่ช่วยสร้างบุคลากรที่ไปป้อนอุตสาหกรรมนี้หรือยัง ที่ผ่านมาเราก็ยังไม่เห็น

สระบุรีเรามีวิทยาลัยอาชีวะของทั้งรัฐและเอกชนทั้งหมด 9 แห่ง ทุกแห่งสอนเหมือนกันหมดเลย เป็นหลักสูตรที่ทำขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ช่างยนต์ก็เป็นช่างยนต์เหมือนเดิม บัญชีก็ยังบัญชีเหมือนเดิม ซึ่งสัก 10 ปีก่อนมันอาจจะเวิร์ค แต่กับสถานการณ์โลกที่เป็นอยู่ตอนนี้ เราช้ากว่าที่เป็นอยู่ไปมาก

เปลี่ยนหลักสูตรในสถาบันการศึกษาท้องถิ่นให้เท่าทันโลกและสอดรับกับบริบทท้องถิ่นด้วย
ใช่ค่ะ อย่างที่เราพยายามขับเคลื่อน Food Valley หรือโครงการต่างๆ ก็เพื่อทำให้สระบุรีเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อยากให้คนรุ่นใหม่ที่นี่จากที่เคยคิดว่าถ้าไม่ทำงานโรงปูน ก็คงจะไปหางานทำในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่น กลับมาค้นพบเส้นทางในอนาคตของพวกเขาที่สระบุรี หรือคุณเป็นลูกหลานเกษตรกรที่นี่ ก็สามารถสร้างรายได้ได้ดีไม่ต่างจากคนทำงานโรงปูน

ความตั้งใจของเราคือการที่คุณเป็นลูกหลานคนสระบุรี มีอาชีพที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง และมีความภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ซึ่งนั่นแหละ การมี master plan ในการพัฒนาเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญ  

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย