“เมืองปากเกร็ดมีความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากวัฒนธรรมเก่าที่คนโหยหาและมีราคา เรายังมองเห็นประสบการณ์บางอย่างที่คนรุ่นเก่ามีอยู่ และดูมีประโยชน์กับกลุ่มคนใหม่ ๆ โดยต้องหาวิธีจัดการองค์ความรู้นั้นมาใช้ให้ได้ เราจะพาวิธีคิดแบบพิเศษของคนกลุ่มนั้นมาสู่ Digital Workflow ได้อย่างไร ในแบบที่คนรุ่นหลังจะนำไปใช้งานต่อยาว ๆ
อย่างแรกไปดูก่อนว่าใครเชี่ยวชาญในด้านอะไร แล้วถอดมาเป็น Knowledge Management (การจัดการความรู้ – ผู้เรียบเรียง) แล้วนำไปส่งต่อให้เมือง อย่างเมื่อปี 2554 ทำไมน้ำถึงไม่ท่วมเมือง เขามีวิธีคิดจัดการอย่างไร ทำไมวางกระสอบทรายแบบนี้ เตรียมการอะไรบ้าง พวกนั้นไม่มีในตำรา แต่มีอยู่ในคนทำงานเหล่านี้
หน้าที่ของเราคือหาโซลูชันที่เหมาะสมกับเมือง ทำตัวเหมือนล่ามที่ดี เพื่อให้รู้ว่าเมืองต้องการอะไร มีปัญหาอะไรอยู่ เรามีทักษะอะไรที่จะมาใช้แก้ปัญหาเมืองได้
อย่างไรก็ดี ปากเกร็ดก็ยังติดปัญหาสำคัญคือ แม้เราจะสามารถเก็บข้อมูลเมืองได้มหาศาล แต่เรายังขาดวิธีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดปีที่ผ่านมา (2567) เราจึงร่วมกับทีมนักวิจัยหาวิธีสร้าง Data Culture (วัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล – ผู้เรียบเรียง) เพื่อให้ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลที่มีในการออกแบบนโยบาย ไปจนถึงการจัดการเมือง ให้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มการทำงานไปเลย คือต่อให้ในอนาคตทีมบริหารรุ่นใหม่อาจจะไม่เก่งเท่าปัจจุบัน แต่พวกเขาก็ยังมีข้อมูลและบทเรียนจากคนรุ่นก่อนที่พร้อมสนับสนุนการตัดสินใจได้อยู่ นั่นทำให้การบริหารเมืองเป็นเรื่องง่าย
เมื่อผสานฐานข้อมูลจากการส่งต่อบทเรียนกับคนรุ่นก่อนหน้า เข้ากับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการรับมือกับภัยพิบัติใหม่ ๆ ผมคิดว่าปากเกร็ดจะเป็นเมืองที่มีความพร้อมต่อภาวะโลกรวนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ และความพร้อมนี้แหละที่กระตุ้นให้ผู้คนอยากมาลงทุนในเมืองของเรามากขึ้น
นั่นล่ะครับ ความสำเร็จในการรับมือกับภัยพิบัติ มันส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ”
ณัฐพงศ์ ศรีสว่าง
นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ เทศบาลนครปากเกร็ด
#เทศบาลนครปากเกร็ด #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #PMUA #บพท #Wecitizens