“ชุมชนโยกย้ายตั้งอยู่ที่ตำบลสวนใหญ่ ไม่ไกลจากท่าน้ำนนท์ บ้านเราเป็นทาวน์เฮาส์ริมถนนพิบูลสงคราม ตรงข้ามตลาดเทศบาลนนทบุรี
เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นสวนทุเรียน ก่อนจะกลายมาเป็นศูนย์ราชการเมืองนนท์ กระทั่งมีการย้ายศาลากลางออกไปและเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนพื้นที่รอบ ๆ ก็กลายเป็นตลาดเก่าที่ค่อย ๆ ซบเซา โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ที่ทำให้พื้นที่ตรงนี้ดูเหมือนจะค่อย ๆ ตายลง ประชากรส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือผู้สูงอายุและแรงงานต่างด้าว
ในความเป็นจริง ย่านนี้มีศักยภาพมาก เรามีอาคารศาลากลางหลังเก่าอายุ 115 ปี (สร้างเมื่อ พ.ศ. 2453) ซึ่งมีสถาปัตยกรรมสวยงาม และโดยรอบก็มีวัด คูคลอง และวิถีชุมชนที่ผูกพันกับสายน้ำ ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มที่
เวลามีคนถามว่าไปเที่ยวนนทบุรีไหนดี คนส่วนใหญ่มักนึกถึงแค่เกาะเกร็ด ทั้งที่จริง ๆ ในเขตเทศบาลนครของเรา ถ้ามีการประชาสัมพันธ์และจัดระบบให้ดี เราก็มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไม่แพ้กัน
หากเทศบาลฯ บูรณะอาคารศาลากลางหลังนี้อย่างเต็มรูปแบบ จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสม และมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนโปรแกรมท่องเที่ยว เช่น วันเดย์ทริป ล่องเรือชมวัดโบราณริมคลอง กินอาหารท้องถิ่นแถวท่าน้ำนนท์ เที่ยวชมศาลากลางหลังเก่า หรือพักค้างในโฮมสเตย์สวนผลไม้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างแรงดึงดูด และฟื้นฟูย่านได้อย่างมีพลัง
ในฐานะคนที่อยู่เมืองนนท์มาหลายสิบปี เราเห็นว่าปัญหาใหญ่อีกเรื่องคือ การแบ่งเขตเทศบาลและการบริหารจัดการที่ไม่เชื่อมโยงกัน เช่น สวนสาธารณะของเทศบาลฯ ใหม่แม้จะใหญ่โต แต่กลับถูกล้อมด้วยการจราจรคับคั่ง ทำให้คนไม่อยากไป ขณะเดียวกัน อีกฝั่งแม่น้ำ เช่น วัดเฉลิมพระเกียรติ กลับมีบรรยากาศสงบงามเหมือนชนบท แต่ไม่มีเรือโดยสารเข้าถึง และการขับรถไปก็หาที่จอดลำบาก
ด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่ตอบโจทย์ความเป็นจริง ตัวอย่างชัดเจนคือ แม้เมืองจะมีสะพานลอย แต่กลับขาดทางม้าลายที่มีสัญญาณไฟและใช้งานได้จริง ซึ่งไม่เอื้อต่อผู้สูงอายุ อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายของเทศกิจ เช่น บริเวณหอนาฬิกาที่มีร้านอาหารตั้งของขวางทางเท้า ทำให้คนต้องลงไปเดินบนถนน ทั้งที่เคยมีการร้องเรียนหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
หากเทศบาลฯ ตั้งเป้าจะเป็นเมืองต้นแบบด้านสุขภาวะของผู้สูงอายุ การพัฒนาบริการสุขภาพหรือการขยายพื้นที่สีเขียวที่กำลังดำเนินอยู่ถือเป็นเรื่องดีมาก แต่อยากให้ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของคนในชุมชนด้วยเช่นกัน”
#เทศบาลนครนนทบุรี #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #บพท #pmua #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…