[THE CITIZENS นครปากเกร็ด] รศ.ดร.สมพร คุณวิชิต หัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens สนทนากับ รศ. ดร.สมพร คุณวิชิต หัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด เทศบาลนครปากเกร็ด ถึง “โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดและการพัฒนาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการความเสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลนครปากเกร็ด” ที่เขาขับเคลื่อน ว่าด้วยจุดเริ่มต้นและเป้าหมายในการทำให้ปากเกร็ดเป็นเมืองต้นแบบของการจัดการภัยพิบัติในระดับนานาชาติ เทศบาลนครปากเกร็ดมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน และการจัดการน้ำท่วมส่งผลต่อการทำปากเกร็ดให้เป็นเมืองน่าอยู่ได้อย่างไร ไปติดตามกัน

ก่อนอื่น ในฐานะที่คุณเป็นอาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ทำไมจึงเลือกมาทำงานวิจัยไกลถึงเทศบาลนครปากเกร็ด  

ต้องเท้าความก่อนว่าผมจบปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ สาขาการจัดการภัยพิบัติจากสหรัฐฯ (Public Management & Emergency Management, University of North Texas) โดยในช่วงที่ทำวิจัย ผมได้กลับเมืองไทยมาทำเรื่องเมืองที่สามารถฟื้นตัวหลังเหตุอุทกภัยได้ดี โดยมีกรณีศึกษาคือเทศบาลนครนครสวรรค์ที่ถูกน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 โดยระหว่างนั้น ผมยังมีโอกาสมาเก็บข้อมูลที่เทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครปากเกร็ด เนื่องจากที่นั่นก็โดนน้ำท่วมหนักในปี 2554 และสามารถจัดการแก้ปัญหาหลังวิกฤตได้ดีด้วยเช่นกัน

หลังจากเรียนจบเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยก็ยังคงทำวิจัยเรื่องเมืองยืดหยุ่นต่อภาวะภัยพิบัติ (Disaster Resilient City) และมีโอกาสเข้าร่วมเวิร์กช็อปโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดของ บพท. จึงมีโอกาสได้พบกับนายกฯ วิชัย บรรดาศักดิ์ (นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด) ที่มีโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม จึงมีโอกาสได้ร่วมทำวิจัยด้วยกัน

การแก้ปัญหาน้ำท่วมมีความเชื่อมโยงกับการเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดอย่างไร

      ข้อแรกคือคนปากเกร็ดมองตรงกันว่าปัญหาอุทกภัยคือภัยคุกคามที่สำคัญของพวกเขา โจทย์ของเมืองนี้จึงเป็น เราจะทำอย่างไรให้เมืองสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ส่วนข้อสองคือ ผมชอบที่นายกฯ วิชัย ท่านให้ความเห็นไว้ว่า เนื่องจากเทศบาลนครปากเกร็ดที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และกรุงเทพฯ ถ้าเทศบาลฯ สามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้ดี เมืองจะสามารถตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจของผู้คนได้หมด และเนื่องจากปากเกร็ดค่อนข้างมีสาธารณูปโภคครบอยู่แล้ว การแก้ปัญหาน้ำท่วมคือโจทย์หลักที่จะนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่

อยากให้อาจารย์อธิบายความหมายของเมืองยืดหยุ่นต่อภาวะภัยพิบัติ (Disaster Resilient City) และที่ผ่านมาปากเกร็ดมีความพร้อมต่อการรับมือน้ำท่วมมากแค่ไหน

Disaster Resilient City คือเมืองที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วหากเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบน้อย สามารถปรับตัว และฟื้นสภาพได้เร็ว นี่คือหัวใจสำคัญของการเป็นเมืองสมัยใหม่ในโลกที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากความแปรปรวนของธรรมชาติ เพราะเมืองเป็นศูนย์รวมของผู้คน ธุรกิจ และการบริหารจัดการ หากเกิดภัยพิบัติก็จะส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก และผลกระทบจะส่งต่อไปอย่างเป็นลูกโซ่

ผมมีโอกาสได้ทำเวิร์กช็อปการพัฒนาแผน Resilient City กับสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) และเรียนรู้เกณฑ์ Resilient Scorecard โดยนำเกณฑ์ 10 ตัวในบริบทของอุทกภัยมาเทียบเคียง พบว่าเทศบาลนครปากเกร็ดค่อนข้างมีความพร้อม และสามารถเป็นเมืองต้นแบบในการจัดการอุทกภัยได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้จะเข้ามาหนุนเสริมให้ระบบมีความเข้มแข็ง และตอบโจทย์กับการใช้งานของผู้คนในเขตเทศบาลฯ ได้เพิ่มขึ้น

งานวิจัยของคุณจะเข้ามาหนุนเสริมระบบของเทศบาลฯ ได้อย่างไร

      เทศบาลฯ มีเครื่องมือรับมือกับภัยพิบัติที่ค่อนข้างครบพร้อมอยู่แล้ว เช่น มีกล้องที่คอยมอนิเตอร์ระดับน้ำ มีเครื่องวัดมลภาวะทางอากาศ มี Dashboard และ LINE OA ที่คอยอัปเดตสถานการณ์แก่ชาวบ้าน แต่ต้องยอมรับว่า สิ่งที่เค้ามีอยู่ก็ไม่ได้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ หากยังมีอะไรที่สามารถปรับปรุงพัฒนาให้ดีได้ขึ้นอีก…

ยกตัวอย่าง แม้เทศบาลฯ จะมีระบบแจ้งเตือนผ่านไลน์ แต่มันก็ยังเป็น One Way Communication หรือการสื่อสารจากเทศบาลฯ ฝั่งเดียว ซึ่งถ้าประชาชนเจอเหตุภัยพิบัติในพื้นที่ที่กล้องของเทศบาลฯ ไม่สามารถจับภาพได้ และเขาอยากแจ้งเตือนให้คนอื่นได้รับรู้ หรือขอความช่วยเหลือ ในขณะเดียวกัน ถ้าชาวปากเกร็ดสามารถแจ้งข่าวสารในไลน์นี้ได้ มันยังส่งผลต่อการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กลายเป็นหู เป็นตา หรือร่วมคิดในการแก้ปัญหาเมืองในมิติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน เราก็เสนอให้มีการแยกแอปพลิเคชันที่มอนิเตอร์ระดับน้ำ กับปริมาณฝุ่นควันออกจากกัน โดยมีฟังก์ชันแบบเดียวกัน แต่แยกเนื้อหา เพื่อทำให้ทีมงานของเทศบาลฯ สามารถแบ่งแยกทีมรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ ถ้าชุมชนไหนเจอปัญหาฝุ่นควัน ทีมนึงก็อาจเข้าไปหาทางแก้ไข ถ้าชุมชนไหนที่มีพนังกันน้ำชำรุด ก็จะมีอีกทีมเข้าไปเร่งซ่อม หรือกระทั่งอพยพชาวบ้านในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง เป็นต้น

นอกจากแอปพลิเคชันไลน์ อาจารย์มองถึงเครื่องมือการแจ้งเตือนอื่น ๆ อีกไหม

      เรามองว่าไลน์มันเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับสังคมเมืองใหญ่ จริงอยู่ บางชุมชนอาจมีเสียงตามสาย แต่มันก็อาจไม่ครอบคลุมถึงภาพรวมของเมือง หรือที่ผ่านมาเทศบาลเขาใช้เว็บไซต์และเฟซบุ๊กเป็นอีกสื่อสำหรับแจ้งข่าวสาร แต่ต้องยอมรับว่าผู้สูงวัยหลายท่านเขาก็อาจไม่เชี่ยวชาญเครื่องมือนี้เท่ากับที่ใช้ไลน์ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และเข้าถึงง่ายกว่า

งานวิจัยเราจึงมุ่งพัฒนาระบบไลน์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งเตือน ตอนนี้ LINE OA ของเราจะมีการบรอดแคสต์แจ้งเตือน เช่น ช่วงเวลาที่น้ำจะท่วม ระดับของน้ำ และวิธีเตรียมตัว แต่ปัญหาคือสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ฝนที่ตกอย่างไม่คาดคิด ยังไม่มีการแจ้งเตือนแบบต่อเนื่อง เราตั้งใจจะทำให้ระบบนี้มอนิเตอร์สถานการณ์ได้ตลอดเวลา เพื่อให้ข้อมูลมีความเรียลไทม์ นี่เป็นการ “อัปเลเวล” การใช้งานไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการปรับตัวเข้าสู่ยุคข้อมูลเปิด (Open Data) ซึ่งภาครัฐก็สนับสนุนแนวทางนี้ การรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ในช่องทางเดียว จะช่วยให้ประชาชนรับข้อมูลได้ง่ายและทันเวลามากขึ้น

แล้วเครื่องมืออื่น ๆ ในการช่วยยกระดับการป้องกันน้ำท่วม นอกจากเครื่องมือแจ้งเตือนล่ะครับ

      อันนี้สำคัญไม่แพ้กัน ตอนนี้เทศบาลฯ กำลังพัฒนาระบบ City Data Platform เพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วมโดยเริ่มจากการสำรวจและประเมินศักยภาพของท่อระบายน้ำใต้ดิน เช่น การตรวจสอบความลึกของท่อและปริมาณสิ่งอุดตันในระบบระบายน้ำ หากทราบระดับการอุดตัน เช่น 50% 25% หรือ 10% ก็จะช่วยวางแผนการขุดลอกและบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีแผนการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจด้วยเลเซอร์หรือโซนาร์ เพื่อติดตามความเสี่ยงอุทกภัย โดยข้อมูลจะถูกเชื่อมโยงกับฐานข้อมูล GIS เพื่อแสดงสถานะของท่อระบายน้ำ (สีแดง สีเหลือง สีเขียว) ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนการขุดลอกล่วงหน้าและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

และสำคัญที่สุด ผมคิดว่าคือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกิจกรรมที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ การแยกขยะ ไปจนถึงการตระหนักรู้ในการสร้างสมดุลคาร์บอน โดยเรามีแผนทำโครงการอบรมจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติผ่าน Metaverse ให้เด็ก ๆ จากโรงเรียนของเทศบาลได้เรียนรู้นำร่องก่อน เช่น ถ้าน้ำท่วมหนักมา พวกเขาจะรับมืออย่างไร เมื่อจบหลักสูตร จะได้รับใบรับรอง (Certificate) ได้สถานะเป็น Ready Kid เยาวชนที่มีความตระหนักรู้ และพร้อมรับมือทุกสถานการณ์

ผมสนใจประเด็นสุดท้าย เพราะเด็ก ๆ ถือเป็นกำลังสำคัญไม่เพียงแค่รับมือกับปัญหา แต่ยังช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง

แน่นอน ถ้าเยาวชนมีสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ก็อาจมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ในด้านปลายทาง ตอนนี้เราก็คุย ๆ กับผู้พัฒนาระบบ Metaverse ว่าในงบประมาณเท่านี้ เราจะจำลองสถานการณ์ได้กี่ภัยพิบัติ แต่ที่แน่ ๆ ต้องมีน้ำท่วมเป็นอันดับแรก เพราะเป็นปัญหาสำคัญของปากเกร็ด ต่อไปอาจเป็นอัคคีภัย หรือแผ่นดินไหว ขณะเดียวกัน เราสามารถนำโมเดลนี้ไปใช้กับเมืองอื่น ๆ ได้ เช่น ถ้าคุณอยู่จังหวัดติดชายทะเล คุณก็อาจเรียนรู้เรื่องการรับมือกับสึนามิ คุณอยู่ภาคเหนือก็เรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหว เป็นต้น  

คุณมองเป้าหมายระยะยาวของโครงการวิจัยนี้อย่างไร

หลัก ๆ  ก็คือทำให้คนปากเกร็ดอยู่ดีมีสุขนั่นแหละครับ แต่ถ้ามองในฐานะนักวิจัย คืออยากทำให้ปากเกร็ดเป็นเมืองต้นแบบของการจัดการภัยพิบัติในระดับนานาชาติ ซึ่งเมืองเรามีศักยภาพนะครับ ทั้งจากเทคโนโลยี การทำงานของรัฐ และสาธารณูปโภคที่เรามี รวมถึงความร่วมมือจากภาคประชาชน อีกเรื่องคือ ผมฝันอยากให้ปากเกร็ดเป็นเมืองเครือข่าย Resilient City ของ UNDRR ซึ่งเรากำลังทำให้เมืองผ่านเกณฑ์ชี้วัดทั้ง 10 ด้าน และร่วมกับเทศบาลฯ ยื่นสมัครต่อไป รวมถึงการบรรจุเรื่องนี้เป็นนโยบาย เป็นแผนการพัฒนาเมืองด้วย

#เทศบาลนครปากเกร็ด #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #PMUA #บพท #Wecitizens

Wecitizens Editor

Recent Posts

[CITY ISSUE นครปากเกร็ด ] From Resilient to Livable Smart City

เมื่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติกลายมาเป็นต้นทุนของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด จริงอยู่ที่การเป็นเมืองติดแม่น้ำซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยจะดูไกลห่างจากความเป็น “เมืองน่าอยู่” กระนั้น เทศบาลนครปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ก็นำสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นจุดด้อย แปรเปลี่ยนเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด โครงการบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด และการพัฒนาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการความเสี่ยงอุทกภัย เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครปากเกร็ดและบพท. ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเมือง (City Data…

3 days ago

[CITY OVERVIEW นครปากเกร็ด] ปากเกร็ด นครแห่งสายน้ำกับการเป็นต้นแบบจัดการภัยพิบัติระดับสากล

น้ำเป็นทั้งพรและภัยของผู้คนในเทศบาลนครปากเกร็ด เมืองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเมืองนี้เติบโตมาจากหมู่บ้านชาวสวนในสมัยอยุธยา โดยสายน้ำไม่เพียงหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ยังหลอมรวมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวไทย จีน และมอญ เข้าด้วยกัน กลายเป็นอัตลักษณ์และรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมืองจนถึงปัจจุบันแต่ดังที่กล่าว น้ำก็เป็นภัยคุกคามที่ไม่อาจมองข้าม ในพื้นที่ 36 ตารางกิโลเมตรของเทศบาลนครปากเกร็ด แนวริมน้ำยาวกว่า 15 กิโลเมตรคือแนวหน้าที่ชุมชนหลายสิบแห่งต้องเผชิญกับมวลน้ำมหาศาลของเจ้าพระยา…

3 days ago

[THE CITIZENS นครปากเกร็ด] สุขศรี เดชฤดี ประธานชุมชนประชานิเวศน์ 2 ระยะ 3

“ป้าเป็นคนอ่างทอง แต่ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ประถมฯ พอเรียนจบ ไม่อยากอยู่เมืองที่พลุกพล่าน น้ำท่วมบ่อย บ้านแพง เลยมองหาชานเมืองที่สงบและราคาจับต้องได้ จนมาเจอปากเกร็ด ชุมชนประชานิเวศน์ 2 ระยะ 3 เป็นบ้านจัดสรรของการเคหะ ตั้งอยู่เยื้อง…

3 days ago

[THE CITIZENS นครปากเกร็ด] มังกร ช้อนแก้ว ผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล เทศบาลนครปากเกร็ด

“คลองในพื้นที่ปากเกร็ดเป็นทั้งคลองดั้งเดิมและคลองที่ขุดขึ้นใหม่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 17 คลอง รวมถึงลำราง ลำกระโดง และคูน้ำจำนวนหนึ่ง การดูแลพื้นที่ดังกล่าวเป็นงานที่ซับซ้อน เนื่องจากคลองบางแห่งมีปัญหาด้านกายภาพ ส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำและการป้องกันน้ำท่วมคลองบางพูดเป็นหนึ่งในคลองที่มีปัญหาหนักที่สุด โดยเฉพาะบริเวณใกล้ถนนแจ้งวัฒนะ เนื่องจากคลองมีลักษณะคดเคี้ยวและอยู่ติดกับบ้านเรือนประชาชน อีกทั้งประตูระบายน้ำบางแห่งยังชำรุด ส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำเป็นไปได้ยาก เราจึงต้องเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด…

3 days ago

[THE CITIZENS นครปากเกร็ด] สุรพล ปานอุทัย คนขับเรือรับจ้าง, เกาะเกร็ด

“ผมเป็นคนสุพรรณบุรี มาได้ภรรยาที่เกาะเกร็ด เลยย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่วัยรุ่น ทำอาชีพขับเรือรับส่งคนจากเกาะเกร็ดไปปากเกร็ดหรือเมืองนนท์บ้าง รับ-ส่งตามท่าเรือต่าง ๆ คล้ายกับวินมอเตอร์ไซค์นี่แหละมีเรือรับส่งทั้งหมด 14 ลำ คนขับทุกคนเป็นคนเกาะเกร็ด ในวันธรรมดา คนบนเกาะส่วนหนึ่งเขาจะเลือกเดินทางเข้าเมืองด้วยการนั่งเรือข้ามฟากที่ท่าวัดสนามเหนือ แล้วก็นั่งรถเมล์ หรือรถสาธารณะอื่น ๆ…

3 days ago

[THE CITIZENS นครปากเกร็ด] รุ่งนภา กิมง่วนสง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ เทศบาลนครปากเกร็ด

“โครงการ ‘รู้สู้น้ำ’ เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำที่พัฒนาโดยเทศบาลนครปากเกร็ด เพื่อแก้ปัญหาน้ำขังระบายไม่ทันในเขตเทศบาลฯ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 โดยพัฒนาต่อยอดจาก ‘ปากเกร็ดโมเดล’ เดิม สู่ ‘ปากเกร็ดโมเดลใหม่’ ที่ผสานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับระบบบัญชาการเหตุการณ์ (ICS)หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือความสามารถของเทศบาลฯ ในการจัดการข้อมูลจำนวนมากให้เป็นระบบ…

3 days ago