“หลังจากทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่กรุงเทพฯ ได้สิบกว่าปี มันก็ถึงจุดจุดหนึ่งที่ผมรู้สึกถึงความไม่ยั่งยืน จริงอยู่ รายการที่ผมทำค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่งานในวงการบันเทิงเนี่ยมันมีวาระของมัน ประกอบกับตอนนั้นแม่ก็เริ่มมีอายุมากขึ้นแล้ว แต่แกก็ยังคงเปิดร้าน ไม่ยอมหยุดทำงานสักที ผมจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้เขารู้สึกวางใจที่เห็นว่าเรามีความมั่นคง ความคิดเรื่องการทำธุรกิจที่พักก็เริ่มขึ้น
แต่ก่อน ผมไม่เคยมองว่าพนัสนิคมจะเป็นเมืองท่องเที่ยวเลย แต่มองอีกมุม พนัสนิคมก็ไม่เคยมีที่พักที่สามารถรับรองแขกผู้ใหญ่สักเท่าไหร่ ถ้าใครมาแต่งงานที่พนัสนิคม แขกงานแต่งเขาอาจต้องไปนอนชลบุรีแล้วขับรถมา จากเดิมที่คิดว่าเราจะปลูกบ้านสักหลังไว้อยู่เองตอนกลับมาเยี่ยมแม่ จึงแบ่งพื้นที่ทำเป็นที่พักแบบบูติกโฮเทลไปด้วย
นั่นล่ะ พอคิดจะทำโรงแรมจริงจัง คำถามก็คือแล้วถ้าแขกที่มาพักถามเราว่าพนัสนิคมมีที่เที่ยวอะไร หรือมีอะไรให้ดูบ้าง แล้วเราจะตอบเขายังไง ผมก็เลยเริ่มขี่จักรยานออกจากที่พักไปตามย่านต่าง ๆ สะพายกล้องไปตัวนึง แล้วไล่ถ่ายรูปเก็บไว้ ช่วงนั้นผมยังทำงานที่กรุงเทพฯ ก็อาศัยวันหยุดกลับมานอนบ้าน และไล่ถ่ายรูปมุมสวย ๆ เก็บไว้หมด ซึ่งผมพบว่าบ้านเกิดตัวเองเนี่ย มันมีย่าน มีตึก มีตลาด มีสะพาน มีสวน มีร้านรวงเก่าแก่ที่สวยงามไม่น้อยเลยนะ
จากนั้นก็คัดรูปที่ได้มาพรินต์ใส่กรอบ ทำเป็นแกลเลอรีภาพถ่ายที่บ้าน ชื่อ I-Destiny Gallery Resort จึงมีที่มาเช่นนี้ ผมอยากให้มันเป็นที่พักที่เป็นแกลเลอรีภาพถ่ายของดีของเมืองพนัสนิคมไปพร้อมกัน และก็ตั้งใจว่า ถ้าแขกที่มาพักกับเรา คุณไม่ต้องเอาแต่ถ่ายรูปอยู่โรงแรมหรอก ออกไปเดินเล่นรอบเมือง คุณจะเจอของดีที่ซ่อนอยู่อีกเพียบ
และกลายเป็นว่าเพจเฟซบุ๊กที่ผมตั้งใจเอาไว้ขายที่พัก ทุกวันนี้มันกลายเป็นเพจลงรูปเมืองหรือรูปเทศกาลในพนัสนิคมที่ผมถ่ายพร้อมเขียนบันทึกถึงสถานที่ต่าง ๆ ไปเสียอย่างนั้น แล้วก็ดันมีคนติดตามเยอะมากเลยนะ จากตั้งใจทำโรงแรม พอเมืองมีงานอะไร เขาก็ชวนผมไปถ่ายรูป มีกระทั่งคนพนัสฯ มาจ้างให้ถ่ายรูปให้ด้วย แต่ผมไม่รับนะ (หัวเราะ) ผมมองว่าเป็นงานอดิเรกของผมที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของเมืองให้ผู้คนได้รับรู้มากกว่า โดยหลังจากทำโรงแรมได้ 2 ปี ผมก็ตัดสินใจย้ายกลับมาบ้านเกิดอย่างถาวร
พอผมเปิดโรงแรมนี้ได้ครบ 5 ปี สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเมืองนี้ ก็ทำให้ผมมั่นใจว่าเมืองมีของดีที่พร้อมจะนำไปต่อยอดสร้างโอกาสใหม่ ๆ เลยเริ่มจัด ‘งานพนัสบันดาลใจ’ เป็นโชว์เคสเล็ก ๆ ที่ผมเปลี่ยนลานจอดรถของโรงแรม ทำเป็นตลาด Art & Craft ของคนพนัสฯ ชวนนักสร้างสรรค์นำงานจักสานที่คนบ้านเราทำอยู่แล้ว มาดีไซน์ใหม่ให้ร่วมสมัย ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีเลย จนสุดท้ายก็เลยมีอีกธุรกิจผุดขึ้นมาคือ I-Destiny Craft เป็นงานคราฟต์ร่วมสมัยของคนพนัสฯ แล้วหลังจากนั้นมันก็มีโพรเจกต์อื่น ๆ ผุดมาอีกเพียบ ทั้งการเล่าเรื่องเมือง การส่งเสริมงานหัตถกรรม ไปจนถึงอิเวนต์เกี่ยวกับ Food & Beverage
I-Destiny Gallery Resort กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 10 แล้วครับ ตอนแรกที่เริ่มธุรกิจนี้ ผมไม่มีความคิดเลยว่าเราจะเข้าถึงโอกาสได้มากขนาดนี้ จริงอยู่ ทุกวันนี้พนัสนิคมยังคงประสบปัญหาที่ว่าเมืองยังไม่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เติบโต ซึ่งมันเกิดขึ้นในแทบจะทุกเมืองเล็ก ๆ ทั่วโลก แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่ผมทำมันอาจจะไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่พอเห็นโอกาส เราอาจเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองไม่ได้ แต่เราสามารถทำในพื้นที่เล็ก ๆ ของเราได้
และที่สำคัญ เรื่องของเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การที่ผู้ใหญ่และคนในเมืองมองเห็นสิ่งที่เราทำอยู่ และเข้ามาช่วยสนับสนุน ผมว่านี่คือกำลังใจและแรงผลักดันที่ดีมาก ๆ ซึ่งต้องขอบคุณชาวพนัสทุกคน และ บพท. ที่มาช่วยส่งเสริมและต่อยอด เพื่อให้พนัสนิคมมีความยั่งยืน และสามารถเป็นต้นแบบให้ชุมชนหรือเมืองอื่น ๆ ได้
และจากที่ไม่ได้อินอะไรกับบ้านเกิดตัวเอง พอได้เรียนรู้มากเข้า มันกลับทำให้ผมรู้สึกภูมิใจที่เป็นคนพนัสฯ และมีส่วนทำให้ใครหลายคนมองเห็นมุมใหม่ ๆ ของพนัสนิคมอย่างทุกวันนี้”
___
ติดตาม I-Destiny Gallery Resort ได้ที่ https://www.facebook.com/iDestinyGalleryResort
#idestinygalleryresort #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #บพท #pmua #wecitizens
“ผมเป็นคนพนัสนิคม ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นนักผังเมืองในเทศบาลเมืองที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จริงอยู่ที่พอทำงานในเมืองใหญ่ ตำแหน่งรับผิดชอบต่าง ๆ ของหน่วยบริหารราชการจึงค่อนข้างจะครอบคลุม แต่การพัฒนาเมืองกลับไม่ได้ถูกนำโดยผู้คนท้องถิ่น มันถูกขีดมาจากระบบใหญ่จากบนลงล่าง และทิศทางการออกแบบเมืองมันจึงถูกกำหนดโดยผู้ประกอบการ ชาวบ้านหลายคนอาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ซึ่งพวกเขาทำอะไรไม่ได้มาก ข้อดีของการอยู่เมืองเล็ก ๆ อย่างพนัสนิคม คือการที่ไม่เพียงชาวบ้านทุกคนเข้าถึงทรัพยากรของเมือง…
“เราเป็นคนอำเภอเกาะจันทร์ แต่ช่วงมัธยมฯ มาเรียนที่พนัสนิคม ซึ่งเราเห็นว่าพนัสนิคมเป็นเมืองสะอาดมาตั้งแต่นั้น คือตั้งแต่ตอนเราเป็นเด็ก เมื่อหลายสิบปีก่อนแล้วนะ จนพอสอบบรรจุเป็นข้าราชการด้านสาธารณสุข ตอนเขาให้เลือกเทศบาลสังกัด เราจึงเลือกเทศบาลเมืองพนัสนิคม ซึ่งไม่ใช่เพราะที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน แต่เมื่อเราหาข้อมูล จึงรู้ว่าเมืองนี้จริงจังเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมจริง ๆ จึงรู้สึกว่างานที่เราทำมันมีคุณค่า พอได้มาทำงานเราก็เห็นแบบนั้นจริง…
“เราเป็นคนบ้านบึง พื้นเพครอบครัวเราทำงานราชการสายท้องถิ่น พอเรียนจบจึงเลือกทำงานสายนี้ เราเคยเป็นลูกจ้างประจำในสำนักงานเทศบาลอีกแห่งหนึ่ง และย้ายมาบรรจุอีกหนึ่งที่ ก่อนตัดสินใจย้ายมาบรรจุที่เทศบาลเมืองพนัสนิคม เอาจริง ๆ ถึงแม่เราเคยทำเทศบาลฯ จนเกษียณที่นี่ แต่ก่อนหน้านี้ เราไม่มีความรู้สึกอะไรเกี่ยวกับพนัสนิคมเลย เราก็เคยขับรถผ่านและแวะกินก๋วยเตี๋ยวเป็ด และซื้อปลาร้า จำได้แค่ว่าเมืองนี้มีตลาดเก่าที่น่ารักดี และมีเครื่องจักสานขายเยอะเท่านั้นเอง…
ภายใต้โจทย์ในการแก้ปัญหาสภาวะ “เมืองหด” และทำให้เมืองที่น่าอยู่อยู่แล้วอย่างพนัสนิคม มีความน่าอยู่ที่ครอบคลุมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ เทศบาลเมืองพนัสนิคมจึงร่วมกับ บพท. ผ่านทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขับเคลื่อน โครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อบูรณาการคนรุ่นใหม่ภายใต้แนวทางการมีส่วนร่วมของเขตพัฒนาเทศบาลเมืองพนัสนิคม เพื่อย้อนกลับมาสำรวจต้นทุนของเมือง รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และร่วมกับเครือข่ายชุมชนในการรวบรวมและนำเสนออัตลักษณ์ของเมือง เพื่อสร้างแม่เหล็กดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับมาช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจบ้านเกิด พร้อมบรรเทาปัญหาสังคมสูงวัยที่เมืองกำลังเผชิญ…
วิจัย อัมราลิขิต เป็นคนพนัสนิคม เริ่มทำงานการเมืองในฐานะสมาชิกเทศบาลในปี 2523 ก่อนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม เมื่อปี 2530 ความที่พื้นเพเขาเรียนมาด้านวิศวกรรมโยธา และมีความสนใจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ภายหลังที่เขาเข้ารับตำแหน่ง สิ่งแรกที่เขาให้ความสำคัญคือการจัดการระบบระบายน้ำเสียของเมือง รวมถึงการต่อยอดโครงการจากนายกเทศมนตรีคนก่อน จรวย บริบูรณ์…
แม้จะมีจุดเด่นคือความสงบและน่าอยู่ แต่ด้วยทำเลที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และเมืองหลักศูนย์กลางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างชลบุรี ฉะเชิงเทรา หรือระยอง เทศบาลเมืองพนัสนิคมจึงไม่สามารถฉกฉวยโอกาสต่อยอดฐานเศรษฐกิจจากเมืองหลักที่รายล้อม และทำให้คนรุ่นใหม่ในเมืองจำใจละทิ้งบ้านเกิดไปแสวงหาโอกาสจากเมืองเหล่านั้นแทนอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นทำให้ในขณะที่พนัสนิคมกำลังประสบกับสภาวะ “เมืองหด” จากการที่ประชากรรุ่นใหม่ย้ายออกไปทำงานต่างถิ่น ขณะที่ตัวเมืองก็เข้าสู่สภาวะสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยในปี 2564 เมืองแห่งนี้มีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 25.89…