“เราเป็นนักวิชาการสาธารณสุข ประจำกองการแพทย์ เทศบาลนครนนทบุรี งานหลักคือการดูแลแผนงานของกองการแพทย์ และรับผิดชอบโครงการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดบ้านหรือติดเตียง
บทบาทนี้ทำให้เราได้เป็นผู้ประสานงานระหว่างเทศบาลฯ กับโครงการวิจัยของ บพท.
ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบและเครื่องมือดูแลสุขภาวะผู้สูงอายุ ทำให้เราเห็นภาพใหญ่มากขึ้นว่า ในเมืองของเรา — ไม่ใช่แค่นนทบุรี แต่รวมถึงทุก ๆ เมือง — ผู้สูงอายุไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มคนที่รอการดูแล แต่พวกเขาคือข้อมูลสำคัญในการออกแบบเมืองให้น่าอยู่
ปัจจุบัน กองการแพทย์ของเรามีระบบ GIS ที่บันทึกข้อมูลผู้สูงอายุแต่ละบ้าน สามารถระบุได้ว่าผู้นั้นอยู่ที่ใด อยู่ในกลุ่มใด ยังช่วยเหลือตัวเองได้ หรือจำเป็นต้องมีคนดูแลตลอดเวลา พอมีระบบนี้ ก็ช่วยในการวางแผนเยี่ยมบ้าน การจัดการทีม อสม. และยังช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงเห็นภาพรวมของศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 11 แห่งที่ครอบคลุม 93 ชุมชนในเขต
เรายังพัฒนาต่อยอดร่วมกับแอปพลิเคชันเมือง โดยเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้กับแอปฯ ‘นครนนท์’ ของเทศบาลฯ เพื่อให้คนในพื้นที่เข้าถึงการดูแลได้ง่ายขึ้น และเจ้าหน้าที่สามารถวางแผนงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การเข้าถึงและเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบนโยบายของเทศบาลฯ ให้ตอบโจทย์ประชาชนได้ดีขึ้น เพราะเมื่อมีข้อมูลเฉพาะ เราก็สามารถส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เช่น บางชุมชนที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเสี่ยง ก็อาจเน้นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ขณะที่บางพื้นที่อาจต้องมีกายภาพบำบัดถึงบ้าน หรือแม้แต่หน่วยบริการเคลื่อนที่
นโยบายที่ชัดเจนเช่นนี้ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่โดยตรง เพราะไม่ใช่แค่การออกแบบแผนบริการ แต่ยังรวมถึงการลงทุนด้านกายภาพ เช่น การยกระดับศูนย์บริการเฉพาะทาง การเพิ่มพื้นที่กิจกรรม พื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ผ่อนคลายให้ครอบคลุมชุมชน และที่สำคัญคือ การเข้าถึงข้อมูลรอบด้าน ซึ่งช่วยให้ผู้สูงวัยและผู้ป่วยไม่หลุดรอดจากระบบดูแล
เมืองน่าอยู่สำหรับเรา คือเมืองที่ผู้คนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และมีพื้นที่พักผ่อนที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของทุกคน”
#เทศบาลนครนนทบุรี #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #บพท #pmua #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด“