“ไม่ว่าเชียงรายจะพัฒนาสู่เมืองในนิยามใด
เป้าหมายเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าผู้คนไม่รู้จักเรียนรู้ต้นทุนของเมือง
และไม่รู้จักปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง”
“เวลาพูดถึงเครื่องมือการพัฒนาเมือง ความยากของเชียงรายคือ เราต้องรับมือกับความท้าทายหลายมิติ และไม่อาจละทิ้งประเด็นใดได้เลย
เชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ (Brown City) ที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจซบเซาเหมือนหลายเมืองทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับสังคมสูงวัย (Silver City) รวมถึงภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งอุทกภัยและหมอกควันที่เกิดขึ้นทุกปี
ในฐานะคนร่วมร่างและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของเทศบาลฯ ผมจึงเข้าใจดีว่า การสร้างสมดุลในการพัฒนาแต่ละด้านเป็นเรื่องสำคัญมาก และนั่นเองที่ทำให้เทศบาลฯ ต้องโฟกัสไปที่เครื่องมือ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ เพื่อใช้เป็นร่มคลุมการพัฒนาทั้งหมด
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เชียงรายมีศูนย์การเรียนรู้หลากหลาย ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วเมือง เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้คนรู้จักเมืองมากขึ้น แต่คือการเข้าใจกลไกของเมือง หาวิธีสร้างแนวร่วมรับมือปัญหา และต่อยอดต้นทุนต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อมกัน
ไม่ว่าเชียงรายจะถูกพัฒนาไปในนิยามเมืองแบบไหน เป้าหมายเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าผู้คนไม่รู้จักเรียนรู้ต้นทุนของเมือง และไม่รู้จักปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง ผมจึงเชื่อว่า ‘การเรียนรู้’ คือต้นทางของทุกอย่าง ถ้าทุนตั้งต้นเราเข้มแข็ง ไม่ว่าเมืองจะขับเคลื่อนไปทางไหน สุดท้ายปลายทางจะพาเราไปสู่เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
#เทศบาลนครเชียงราย #มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง #หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ #บพท #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #CIAP #wecitzens