“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภค
เชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ”
“นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วย
กลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้ซื้อ รวมถึงทำตลาดถนนคนเดินทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมีพื้นที่จำหน่ายสินค้า กระทั่งต่อมา เมื่อเทศบาลฯ มีนโยบายส่งเสริมเครือข่ายอาหารปลอดภัย สหกรณ์ฯ นี้ก็มาเป็นตัวกลางในการรับซื้อผลผลิตพืชผักจากชาวบ้าน ผ่านการประกันราคา พร้อมกันนั้นเราก็ได้กองการแพทย์ ของเทศบาลฯ มาดูเรื่องการตรวจสอบสารปนเปื้อน และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ กลายเป็นพื้นที่กลางน้ำของวงจรอาหารปลอดภัยของเมืองอีกที
เมื่อเรารับซื้อพืชผักจากชาวบ้าน เราก็นำผลผลิตเหล่านี้ไปส่งครัวในโรงเรียนสังกัดเทศบาลทั้ง 8 แห่งเป็นหลัก ขณะที่อีกส่วนก็มาวางขายที่ร้านภายในศูนย์การเรียนรู้เกษตรปลอดภัย (ปากทางเข้าตลาดศิริกรณ์, ร.ส.พ.เก่า) รวมถึงตลาดนัดอาหารปลอดภัยตรงชุมชนดอยสะเก็นทุกเย็นวันศุกร์
ผมดีใจนะที่มีส่วนสนับสนุนให้เกษตรกรเชียงรายหันมาทำเกษตรปลอดภัย เพราะมันไม่ใช่แค่ทำให้พวกเขามีรายได้มากขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และกระบวนการของมันก็ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าถ้ามันแพร่หลายจนกลายเป็นทางเลือกหลักของผู้คน เมืองจะน่าอยู่กว่านี้อีกเยอะครับ”
#เทศบาลนครเชียงราย #มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง #หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ #บพท #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #CIAP #wecitzens