[The Key Success]
ภาพรวมการขับเคลื่อนโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่
เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด CIAP
ปี 2567-2568 

Start
30 views
30 mins read


การกล่าวภาพรวมการขับเคลื่อนโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดระยะที่ 1
บรรยายโดย
ผศ. ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม
หัวหน้าโครงการโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด CIAP |
นายฉัตรกุล ชื่นสุวรรณกุล
รองนายกเทศบาลเมืองสระบุรีและที่ปรึกษาโครงการฯ CIAP 

ภายในงาน เวทีแถลงความสําเร็จของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และชาญฉลาด (CIAP) วันที่ 19 มีนาคม 2568 เวลา 08.30 – 16.00 น.
ณ ห้องประชุม กมลทิพย์ 2 (Kamolthip 2) โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร

____

ผศ. ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม
หัวหน้าโครงการโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด CIAP

“แม้ตัวโครงการกำลังเดินทางเข้าสู่เดือนที่ 8 แต่จริง ๆ แล้วเราขับเคลื่อนร่วมกันมาก่อนหน้านั้นนานพอควร เรียกว่าทำงานร่วมกันมาเป็นปี วันนี้จะขอ Recap ให้ทุกท่านถึงการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา ขอเริ่มด้วยการขอบคุณผู้บริหาร นายกทุกท่าน เจ้าหน้าที่เทศบาล และนักวิจัยในพื้นที่ที่ทำงานกันอย่างหนัก รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการทุกท่าน ที่ให้ความคิดเห็นในการดำเนินงานของโครงการของเรา 

ความร่วมมือกับการดำเนินงาน 18 เทศบาลนําร่อง ในระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้ลงพื้นที่กันหนักพอสมควร ทีมของเราได้เข้าไปช่วย Scan เมือง เราร่วมปรึกษาหารือ และติดตามความก้าวหน้า พบทั้งความสำเร็จและข้อจำกัด ในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ เทศบาลเมืองแม่เหียะ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครลําปาง เทศบาลเมืองลําพูน เทศบาลเมืองแพร่ เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครนนทบุรี เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลนครสกลนคร เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองสระบุรี เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลเมืองชุมพร เทศบาลนครศรีธรรมราช และเทศบาลเมืองทุ่งสง

การทํางานเชิงพื้นที่ของ CIAP มีเป้าหมายสำคัญในเรื่องของความร่วมมือเชิงพื้นที่ แล้วนําข้อมูลที่ได้มา Mapping ในพื้นที่เมืองจริง ๆ แล้วเราได้เห็น Pain point เราได้เห็นการเติบโตในแต่ละชุดข้อมูล ก่อนจะนําเรียนให้กับท่านนายกฯ เพื่อชี้เห็นว่าจริงๆ แล้วเมืองของท่านเป็นแบบไหน นำไปสู่การวางแผนการมีส่วนร่วมการหนุนเสริมงานพัฒนาเมือง เช่น ในมิติของเอกชนควรลงทุนอะไรบ้าง หน่วยงานที่เป็นหอการค้า หน่วยงานที่เป็นบริษัทที่จะมาพัฒนาในแต่ละเมืองควรทํางานร่วมกันยังไง รวมไปถึงการติดตั้งและใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจริง ๆ ในแต่ละเมืองเราหยิบจับเอาไปใช้แต่แตกต่างกัน แล้วทางเราก็มีการทำข้อมูลป้อนกลับส่งต่อให้กับแต่ละเมืองอย่างครบวงจร จะเห็นว่าในการดำเนินงานโครงการวิจัย เราเห็นร่องรอยของการเติบโต เห็นข้อจํากัด ข้อค้นพบ หรือสิ่งที่เราควรจะนำไปใช้ในเฟสต่อไป

เรื่องแรกในส่วนของการทำงานระดับพื้นที่เราเริ่มเห็นการจัดกลุ่ม Clusters เชิงประเด็น  เช่น กลุ่มการใช้ Digital platform สำหรับการบริหารท้องถิ่น หรือรัฐบาลดิจิทัล อย่างที่เมืองสระบุรีที่ทำข้อมูลพร้อมไปกับออกแบบแผนฟื้นฟูเมืองเพื่อแก้ปัญหาเมืองหดตัว   หรือการสร้างเครือข่ายการยกระดับในเรื่องของเศรษฐกิจเมือง ความปลอดภัย เมืองทันสมัยที่เมืองร้อยเอ็ด หรือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และเมืองสีเขียว อย่างเรื่องการจัดการขยะของเมืองกาฬสินธุ์ และเมืองแม่เหียะ เรื่องพื้นที่เกษตรในเมืองที่เชียงรายกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แล้วก็เทศบาลเมืองลําปาง และเมืองลําพูน ที่มีการใช้ Platform ร่วมขาย สนับสนุนสินค้าท้องถิ่น เช่นเดียวกับ เทศบาลพิษณุโลก ที่ยกระดับงานพัฒนาเมืองไปสู่การมี Crowdfunding ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร หรือการสร้างนิเวศ E-sport ที่เทศบาลนครนครสวรรค์ ที่เทศบาลเมืองพนัสนิคม และเทศบาลนครนครนนทบุรี ก็จะเป็น Platform ติดตามสุขภาพ และที่เมืองชุมพรเป็นเรื่องผู้สูงอายุ ที่เมืองปากเกร็ด และทุ่งสง นครศรีธรรมราชจะเป็น Platform บริหารจัดการความเสี่ยงอุทกภัย 

เรื่องที่สอง การทำงานของนักวิจัยในพื้นที่ร่วมกับเทศบาล และทีมกลาง นอกจากการจัดการเรื่องข้อมูลเมือง การขับเคลื่อนประเด็นวิจัยซึ่งก็คือโจทย์ของเมืองที่ท่านนายกเลือกขึ้นมาCIAP ได้มีการนำเสนอ 18 เทคโนโลยี และ 39 Solutions เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมือง เพื่อให้เมืองต่างๆ ได้เลือกสรรนำไปใช้ ตัวอย่างเช่น การยกระดับบริการสาธารณะในเรื่องของสุขภาวะผู้สูงอายุที่นนทบุรี มีการใช้ Application ในการดูแลเมือง มีการใช้ Line OA ที่เมืองปากเกร็ดเพื่อร้องทุกข์ และวิเคราะห์ระดับน้ำและความเสี่ยง การแสดงข้อมูลจากกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามและเตือนภัย ในพื้นที่เมืองทุ่งสง นครศรีธรรมราช ที่เมืองกาฬสินธุ์ มีระบบ Monitor รถเก็บขยะที่ตระเวนเก็บขยะในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลการเก็บขยะ แจ้งว่ารถขยะ และสามารถทราบได้ว่ามีขยะอะไรมาทิ้งในพื้นที่บ้าง
อีกเรื่องที่เห็นภาพการทำงานได้ชัดเจน คือ การนำข้อมูลเมืองมาใช้ เพื่อวิเคราะห์และหนุนเสริมประเด็นการพัฒนาเมือง ซึ่งรองฯ ฉัตรกุล จะช่วยเล่าให้เราฟังต่อไปค่ะ” 

นายฉัตรกุล ชื่นสุวรรณกุล
รองนายกเทศบาลเมืองสระบุรีและที่ปรึกษาโครงการฯ CIAP 

“มีข้อสังเกตนิดหนึ่งก่อนจะพูดถึงเรื่องข้อมูล อย่างที่ทราบว่าโครงการวิจัยมันสลับซับซ้อน และกว่าเทศบาลแต่ละแห่งจะเฟ้นหา และคัดสรรประเด็นหัวข้อสำหรับดำเนินโครงการวิจัย เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้หัวข้อวิจัย เพราะแต่ละเมืองก็มีเรื่องราวหลายประเด็นก็ไม่ซ้ำกัน ต้องใช้สหวิทยาการ นี่คือสิ่งที่เราทำคู่ขนานไปพร้อมกับทํา Platform ข้อมูลอย่าง City Data Learning Platform เป็น Platform กลางที่รวมข้อมูลขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันภายในพื้นที่  

นอกจากนี้ทางสมาคมฯ และเทศบาลได้ร่วมกันพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดการใช้ Platform นำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบ ซึ่งตอนนี้ในหลายเมืองเริ่มมีความก้าวหน้าไปได้ด้วยดี ก็หวังว่าตัว Platform ที่เราร่วมกันสร้างจะช่วยพวกเราในการทำงานพัฒนาเมืองได้ง่ายขึ้น 

พวกเราทราบดีว่าข้อมูลนั้นล้ําค่าแค่ไหน การมีข้อมูลจะสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น การที่จะทํา แบบจําลองน้ําท่วมในอนาคต เราสามารถเอาข้อมูลตัวอาคาร ข้อมูลปริมาณน้ำ นำมาคาดการณ์น้ำท่วม ได้ 20 ปี 50 ปี หรือเป็น 100 ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เราสามารถที่ช่วยกันหา หรือจัดซื้อข้อมูลได้ ซึ่งมีให้ใช้กันทั่วโลก ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อมูลเชิงแผนที่ เป็นข้อมูลบ้านเรือน การใช้ประโยชน์ที่ดิน เราสามารถนํามาคาดการณ์ได้ว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมปริมาณน้ําขนาด 200 มิลลิเมตร หรือ 500 มิลลิเมตร น้ำจะท่วมถึงตรงไหน ถัดมาก็คือ การทำ MMS หรือ Mobile Mapping System (ระบบสำรวจภูมิประเทศและระบบแสดงภาพจำลองภูมิประเทศ 3 มิติ ) ก็คือ เราใช้กล้อง 360° ถ่ายภาพช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้เป็นข้อมูล นำไปสู่การคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ หรือใช้กล้องถ่ายภาพดูขนาดของป้ายได้ ความสูงของป้าย และความสูงของอาคาร ความสูงเสาไฟฟ้า ข้อมูลตรงนี้เราก็นำไปวิเคราะห์ใช้เป็นเทคโนโลยีที่เราผนวกเข้าไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารสามารถมองเห็นข้อมูล และเป็นสร้างเป็น Platform เดียวที่ดูได้ทุกเรื่อง นอกจากจะเป็นกล้องวงจรปิดที่หลาย ๆ ท่านก็ทราบว่ามันสามารถใช้ดูได้ทั้งเรื่องอุทกภัย อุบัติเหตุ การรักษาความปลอดภัย

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ตัวอย่างของเมืองกาฬสินธุ์ ที่ทำข้อมูลจุดหัวจ่ายดับเพลิง คือ หากเรารู้ว่าหัวจ่ายดับเพลิงอยู่ตรงไหนบ้าง ก็สามารถดูเรื่องการป้องกันอัคคีภัย และบรรเทาสาธารณภัยหรือเรื่องการเก็บข้อมูลขยะตามเส้นทางเก็บขยะซึ่งพอ Monitor แล้วเราก็สามารถดูข้อมูลบนแผนที่และสามารถจัดระบบการวางแผนและตัดสิตใจการจัดเก็บขยะ หรือที่ศรีสะเกษก็จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเปราะบาง ซึ่งพอมีข้อมูลก็จะช่วยสนับสนุนการให้บริการของทางด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น หรือเราสามารถใช้ข้อมูลนี้ เพื่อให้ข่าวสารข้อมูลการท่องเที่ยว เรื่องเส้นทาง สถานที่ท่องเที่ยว การจัดบริการ และระบบขนส่งต่างๆ เพื่อที่จะให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงและท่องเที่ยวในเมืองได้ 

การมี Platform แบบนี้นอกจากจะทำงานเรื่องการใช้ข้อมูล การวางแผน นโยบาย และการตัดสินใจแล้ว การมีข้อมูลแบบนี้ก็น่าจะช่วยยกระดับข้อมูลต่างๆ ในส่วนราชการที่เรามองกันว่าจะเป็นแบบไซโล เป็นภาวะแบบต่างคนต่างมีข้อมูล แล้วก็ไม่เห็นข้อมูลของกันและกัน ข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ในแฟ้ม เป็นรูปแบบกระดาษ เป็นแบบฟอร์มต่าง ๆ อยู่ในตู้ มีแบบฟอร์มหลากหลายรูปแบบและไม่เหมือนกัน ถ้าข้อมูลสามารถรวม นำเข้าและเชื่อมโยงกันได้ก็จะเป็นข้อดีที่ช่วยเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารเมือง ในการดูข้อมูล พิจารณา และออกแบบนโยบายได้ ส่วนนี้ก็จะเป็นการยกระดับการจัดการข้อมูล

เพราะถ้าเรามีระบบการจัดการข้อมูลที่ดีบนฐานเดียวกัน เรื่องนี้จะน่าสนใจมาก เพราะผู้บริหารจะสามารถวางแผนได้ พอนโยบายชัดเจน การทำงานชัดและสามารถตัดสินใจในการใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็น่าจะส่งผลดีต่อการดึงดูดการลงทุน 
เพราะเป็นการวางแผนบนสภาพข้อเท็จจริงแล้วก็สามารถตัดสินใจในการใช้งบประมาณได้อย่างมีสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่โครงการ CIAP กําลังดําเนินการอยู่แล้วมีแผนจะยกระดับขึ้นไปทุกปี ตอนนี้เรามุ่งเป้าหมายว่าเจ้าหน้าที่ของเมืองต่าง ๆ จะมีทักษะ และสามารถจัดการข้อมูลกับ Platform ได้เอง ซึ่งในหลายประเทศก็กำลังใช้ระบบแบบนี้ในปัจจุบัน 

เราก็หวังว่าโครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมเทศบาลนครและเมือง กับบพท. รวมถึงนักวิชาการต่าง ๆ จะช่วยยกระดับการจัดทําข้อมูลเมือง เพื่อให้เมืองต่าง ๆ ได้ใช้ข้อมูลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยสร้างแรงดึงดูดในการลงทุน และสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองของตนเองได้อย่างที่ต้องการ

#โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และชาญฉลาด #สมาคมเทศบาลนครและเมือง #pmua #ciap