“เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์”
เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว และหวังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
โครงการระยะยาวเริ่มตั้งแต่การปรับปรุงภูมิทัศน์บึงพลาญชัย และสวนสาธารณะกลางบึง การสร้างซุ้มประตูสาเกตนคร การขอคืนพื้นที่รอบสี่เหลี่ยมคูเมืองซึ่งเป็นเขตโบราณสถาน ไปพร้อมกับจัดสรรที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับชุมชนที่รุกล้ำพื้นที่ การก่อตั้งสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (อะแควเรี่ยม) แห่งแรกของจังหวัด ไปจนถึงการเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลและการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ ฯลฯ อย่างไรก็ดี แม้กายภาพของเมืองจะเปลี่ยนไปมาก บรรจงก็พบว่า เท่านั้นยังไม่พอ
ภายหลังที่ พ่อครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) ได้พัฒนาโหวด ที่เดิมเป็นของเล่นสำหรับเด็กเลี้ยงควาย และเครื่องมือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อพื้นถิ่น ให้กลายเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงได้สำเร็จ นายกเทศมนตรีผู้มีใจรักบ้านเกิดคนนี้ จึงเริ่มแผนการนำโหวดมาเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง
รูปลักษณ์ของโหวดได้รับการนำมาต่อยอดเป็นเสาไฟฟ้า หอนาฬิกา (ที่บอกเวลาด้วยเสียงโหวด) วงเวียน และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทั่วเมือง ก่อนที่โครงการเมกกะโปรเจกต์ระดับประเทศจะเริ่มต้น วันที่ 24 สิงหาคม 2559 บรรจงได้ร่วมกับ อนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด (พ.ศ. 2558 – 2559) นำเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด ตามโมเดลร้อยเอ็ด 4.101 ต่อคณะรัฐมนตรี ก่อนจะได้รับความเห็นชอบในการจัดสร้างหอชมเมืองรูปทรงโหวดความสูง 101 เมตร หอชมเมืองแห่งแรกของโลกที่มีรูปทรงของเครื่องดนตรี บริเวณหน้าบึงพลาญชัย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสนับสนุน และติดตามการดำเนินการก่อสร้าง ก่อนจะเปิดทำการอย่างเป็นทางการในปี 2563
‘หอโหวด ๑๐๑’ ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายในแผนงานพัฒนาสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ร้อยเอ็ด บริเวณรอบบึงพลาญชัย กระนั้น บรรจงก็มองว่าแลนด์มาร์กแห่งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการพลิกฟื้นเมือง – การเปลี่ยนเมืองอันเงียบเหงาใจกลางภาคอีสาน ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ครบพร้อมด้วยต้นทุนด้านศิลปวัฒนธรรม ชีวิตชีวา และความน่าอยู่
และนี่คือภารกิจหลังจากนี้ของเขา
คนร้อยเอ็ดหลายคนบอกว่าการมีหอโหวดที่ดึงดูดผู้คนได้กว่า 5 แสนคนต่อปี ก็ถือว่าพลิกฟื้นเมืองได้มากแล้ว แต่คุณกลับบอกว่านี่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ผมว่าหลาย ๆ เมืองในบ้านเรามีประสบปัญหาเดียวกัน การสร้างหอชมเมืองก็ดี ศูนย์การเรียนรู้ก็ดี หรือแลนด์มาร์กขนาดใหญ่ต่าง ๆ พอสร้างเสร็จ คนก็ฮือฮาอยู่สักพัก แต่เมื่อไม่มีการวางระบบบริหารจัดการพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายโครงการหลายแห่งก็ถูกทิ้งร้าง งบประมาณสูญเสียไปโดยใช่เหตุ ผมจึงคิดว่าการสร้างให้เสร็จมันเป็นแค่การเริ่มต้น แต่เราจะทำยังไงให้สิ่งที่เราสร้างมันตอบโจทย์การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนต่างหาก
แผนการของคุณคืออะไร
ต้องบอกอย่างนี้ เมืองร้อยเอ็ดเนี่ยมันเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีภูมิหลังอันยิ่งใหญ่ แต่จุดอ่อนคือ เราไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหมือนจังหวัดอื่น เราจึงจำเป็นต้องขายรากเหง้าทางวัฒนธรรมด้วยความร่วมสมัย ตอนนี้กายภาพเมืองมันพร้อมแล้ว เมืองสะอาด มีโครงข่ายคมนาคม มีพื้นที่สีเขียว และเราก็มีหอโหวด ๑๐๑ และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ร้อยเอ็ด กลางบึงพลาญชัยเป็นแม่เหล็ก แต่เราจะทำยังไงให้คนมาเที่ยวร้อยเอ็ดแล้วอยากกลับมาอีก ไม่ใช่ขึ้นมาชมวิวบนหอโหวดฯ ครั้งเดียว แล้วไม่มาอีก
นั่นเป็นเหตุผลให้เราพยายามผลักดันให้พื้นที่รองรับกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เรามีประเพณีบุญผะเหวด (งานบุญเดือนสี่) ที่ขึ้นชื่ออยู่แล้ว ส่วนเข้าพรรษา ออกพรรษา ลอยกระทง เคานต์ดาวน์ที่ไหนก็มี แต่พอเรามีหอโหวดฯ มันก็เป็นแม่เหล็กได้ จากนั้นเราก็เติมเต็มด้วยเทศกาลที่มีความร่วมสมัยขึ้น อย่างเทศกาลข้าวหอมมะลิโลกที่มาจัดบริเวณลานสาเกตนคร หน้าบึงฯ หรือการจัดแข่งกีฬาระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว เราได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดโลกระดับเยาวชน (U-19 และ U-21)
ใช่ครับ เราตั้งสนามวอลเลย์บอลชายหาดไว้ใต้หอโหวดเลย และเราจัดการแข่งขันก่อนที่ฝรั่งเศสจะทำสนามกีฬาโอลิมปิกไว้หน้าหอไอเฟลอีกนะ นักกีฬาที่มาจากทั่วโลกจะได้เห็นว่าเมืองเรามีความพร้อม และน่ามาเที่ยวด้วย
หอโหวดฯ เปิดเมื่อปี 2563 ผ่านมา 4 ปีแล้ว คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในเมืองบ้าง
ผมเห็นธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นในตัวเมือง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ก็เยอะ และเศรษฐกิจโดยรวมของเมืองก็ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีอิเวนต์ โรงแรมถูกจองเต็มทั้งเมือง แต่ที่น่าดีใจก็คือการได้เห็นคนรุ่นใหม่ได้กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด รวมถึงภาคธุรกิจนำสัญลักษณ์โหวดมาพัฒนาเป็นของที่ระลึก หรือรูปลักษณ์ของสินค้าและอาหารต่าง ๆ กลายเป็นแบรนด์ดิ้งของเมืองไป จากเมืองที่ถูกมองข้าม ผมจึงดีใจที่คนรุ่นใหม่ได้เห็นโอกาส
อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังยืนยันว่าโครงการเปลี่ยนเมืองนี้ มันยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเรา รวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ในบ้านเรา ยังขาดงานวิชาการหรืองานวิจัยด้านการพัฒนาเมืองที่เพียงพอ จนเมื่ออาจารย์อ้อม (ผศ. ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม) จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มาชวนเทศบาลฯ ทำโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดของ บพท. เราจึงพร้อมเปิดรับอย่างเต็มที่
ในมุมมองของนักพัฒนาเมืองอย่างคุณ งานวิจัยจะช่วยเรื่องนี้ได้อย่างไร
จริงอยู่ เรามีข้อมูลสำมะโนประชากร เรารู้ว่าใน 20 ชุมชนในเขตเทศบาล ใครเป็นใคร และทำอะไร หรือกระทั่งความต้องการของประชาชนขั้นต้น แต่เรายังขาดข้อมูลเชิงลึกที่จะนำไปใช้ในการกำหนดทิศทางการเติบโตของเมือง การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการต่อยอดต้นทุนที่เรามีให้มันขายได้อย่างยั่งยืน งานวิจัยจะเข้ามาเติมเต็มในเรื่องนี้
ในปีที่ผ่านมา (2566) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) ของอาจารย์แดง (ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล) เข้ามาทำวิจัยเรื่องเมืองเดินได้ในเขตเทศบาล เพราะเขาเห็นศักยภาพของการขับเคลื่อนการสัญจรด้วยเท้าในเขตสี่เหลี่ยมคูเมืองเก่า ซึ่งงานวิจัยเขาก็สะท้อนออกมาว่าระยะ 6 กิโลเมตรในพื้นที่คูเมืองเนี่ย มันเดินได้ถึงกันหมด จากที่เทศบาลฯ ให้ความสำคัญกับทางเท้าและพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว งานวิจัยก็ทำให้เรามามองเห็นจุดบกพร่องบางส่วน ทำให้เราได้ปรับปรุงจุดเชื่อมต่อ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งล่าสุดเราก็เจรจากับแฟลตตำรวจ เพื่อขอพื้นที่มาทำสวนสาธารณะแห่งใหม่ได้สำเร็จ รวมถึงหาวิธีที่ทำให้ผู้คนเดินเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย พร้อมไปกับการดูแลภูมิทัศน์ของเมืองเก่า
แล้วกับโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดของ บพท. ปีนี้ เทศบาลฯ มีส่วนร่วมอะไรบ้าง
เราขับเคลื่อนไปพร้อมกับนักวิจัยเลยครับ ทีมงานเทศบาลของเราก็เป็นหนึ่งในนักวิจัยด้วย ช่วงนี้ยังเป็นช่วงแรก ก็เริ่มเก็บข้อมูลเพื่อทำ city data เพื่อให้นักวิจัยนำไปวิเคราะห์ว่าเราจะรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคต เตรียมคนของเราอย่างไร อะไรที่เป็นสินค้าของเมืองได้อีก การออกแบบ การนำเสนอ การตลาด และอื่น ๆ เป้าหมายก็คือจะทำยังไงให้เมืองเรามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่านี้ไปอีก สอดรับกับการที่เทศบาลฯ ทำบรรยากาศเมืองให้น่าอยู่ รวมถึงการทำแพลตฟอร์มสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเราดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
ขณะเดียวกัน อีกประเด็นที่เราให้ความสำคัญคือการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างตลาดใหม่ให้ร้อยเอ็ดรองรับกับการประชุมสัมมนา ซึ่งเมืองมีความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว มีทั้งโรงแรม ห้องประชุม สถานที่ท่องเที่ยว และกายภาพเมือง เราตั้งใจให้เป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่มีราคาย่อมเยากว่า เดินทางก็สะดวก แถมมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนด้วย
คำถามสุดท้าย ภาพฝันที่คุณอยากให้บ้านเกิดของคุณเป็น…
บางส่วนมันก็เกิดขึ้นแล้ว ทั้งกายภาพเมืองที่มีความเฉพาะตัว ผู้คนภูมิใจในบ้านเกิดตัวเอง มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และน่าอยู่ ที่อยากเห็นมากกว่านี้คือความร่วมแรงร่วมใจของภาคประชาชนครับ อยากให้ทุกคนรักและพร้อมจะดูแลและพัฒนาเมืองไปด้วยกัน ทุกคนมีความมั่นคงในอาชีพ และความสุข เราก็พยายามทั้งงานเชิงนโยบาย งานวิชาการ และการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นเช่นนั้น > WeCitzens