[THE MAYOR]จารุวัฒน์ บุญเพิ่มนายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์

เมืองน่าอยู่อุดมสุข ด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อม และพลังของความร่วมมือ


สู่เมืองน่าอยู่อุดมสุข กับความความร่วมมือ บพท. 

“สำหรับการทำงานปีนี้ร่วมกับ บพท. ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะปีนี้เรานำโจทย์ของเทศบาลเป็นตัวตั้ง ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเพราะเราทำงานร่วมกันมานาน และบพท. ก็มีแนวทางที่ชัดเจนว่าอยากสนับสนุนท้องถิ่น ด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม เพื่อช่วยพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์และแนวทางการทำงานของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ของเรา  ที่เราจะพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมืองอุดมสุข  อุดมสุข นั้นหมายความว่า เป็นเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว แล้วก็น่าศึกษา หัวใจสำคัญของประเด็นทั้งหมดนี้ คือ เรื่องของ ‘คน’ เราจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนรู้สึก ‘อยากจะอยู่เมืองของตัวเอง’ ไม่อยากย้ายไปไหน ไม่ใช่อยู่เพราะจำใจต้องอยู่ แต่เลือกที่จะอยู่ เพราะอยู่แล้วมีความสุขและรักบ้านเกิด อันนี้แหละต้องตอบให้ได้ 

ปีก่อนหน้านี้เราก็พยายามทำเรื่องนี้ผ่านโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ชวนคนมารู้จักตัวตนและคุณค่าของเมือง แล้วพยายามต่อยอดทางเศรษฐกิจ พอได้ทำงานพบปะและแลกเปลี่ยนทั้งฝั่งเทศบาล ประชาชน และวิชาการ เราก็เห็นว่ากาฬสินธุ์มีโจทย์เรื่องการพัฒนาเมืองอีกมากมายหลายเรื่องที่น่าจะชวนมาช่วยกันทำ อย่างเรื่องบริการสาธารณะสุข เรื่องผู้สูงอายุ เรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในเมือง เรื่องการบริหารงานและธรรมาภิบาล  เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม อย่างการจัดการขยะ และยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่อง 

อยู่อย่างกาฬสินธุ์

“เวลาคิดถึงสภาพเศรษฐกิจรายได้ กับเงินในกระเป๋าของพี่น้องประชาชน ก็จะมีตัวเลขบอกอันดับรายได้ของคนกาฬสินธุ์ GDP ระดับจังหวัด เราจะติดอันดับ 3 ไม่ก็ 5 แถวๆ นั้นจากท้ายตาราง สิ่งนี้บอกว่าจังหวัดเราเมืองเรา ไม่ได้เป็นเมืองเศรษฐกิจ หรือท่องเที่ยวอะไรขนาดนั้น คนไม่ได้ร่ำรวย เรื่องนี้ก็ต้องพัฒนาหาลู่ทางกันไป แต่วันนี้ เดี๋ยวนี้เลย เราต้องดูแลคนของเราให้ดีสุดกำลัง ต้องไม่ทอดทิ้งใคร ไม่ปล่อยให้เขาอดตาย เราต้องช่วยเหลือดูแลเกื้อกูล ทำด้วยความจริงใจ ที่นี่เราจึงมีการตั้งกลุ่มจิตอาสาในระดับชุมชนเป็นโครงการชุมชนกรุณาเข้าไปช่วยดูแลกลุ่มคนเปราะบาง ไม่ใช่แค่ดูชั่วครั้งชั่วคราวแล้วแจกถุงยังชีพ แต่เข้าไปติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงเทศบาลก็พยายามหาวิธีการที่จะดูแลพี่น้องให้ครบวงจรตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ผ่านกลไกกองสวัสดิการสังคม และระบบสุขภาพที่เรามี” 


กาฬสินธุ์กับโจทย์การจัดการขยะของเมืองน่าอยู่

“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสําคัญ เพราะคือตัวชี้วัดบ่งบอกว่าพี่น้องประชาชนแล้วก็อนาคตของลูกหลานเราจะอยู่กันอย่างไร ก็ต้องพึ่งพาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเทศบาล ทั้งการจัดการขยะ ต้นไม้ น้ำเสีย ความเป็นระเบียบสะอาดเรียบร้อยของเมือง อย่างเทศบาลของเรา 
มีบ่อขยะซึ่งเป็นบ่อขยะที่เราดูแล แต่ไปตั้งอยู่ในเขตของเทศบาลตําบลนาจารย์ ออกไปสักสิบกิโลเมตรหน่อย ๆ เราเปิดบ่อขยะนี้ประมาณปี 2550 ตอนจะเริ่มทำนี่ต้องคิดต้องคุยกันหนักเลย เพราะไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้มีบ่อขยะในพื้นที่ตนเอง แต่พอหารือกันว่าจะต้องมี หัวใจสำคัญที่สุดเลยก็คือต้องตอบให้ได้ และรับประกันว่าจะไม่เกิดปัญหาหรือส่งผลกระทบกับชุมชนรอบข้าง 

จำได้ตอนนั้นผมเตรียมการอย่างดีเลย คุยแล้วคุยอีกไปลงพื้นที่ด้วยตนเองหลายครั้ง จนมั่นใจว่ามันจะไม่เดือดร้อน และจัดการได้ หรือเอาอยู่นั้นหละ และเราก็ตั้งคณะกรรมการจากชุมชนและท้องถิ่นรอบบ่อขยะ แล้วประชุมกันบ่อย ๆ เรื่องนั้นว่าอย่างไร อันนี้จะจัดการแบบไหน แล้วเราก็ส่งเสริมเรื่องรีไซเคิลเปิดให้ชาวบ้านในชุมชนแถวนั้นที่สนใจคัดขยะที่สามารถนำไปขาย และรีไซเคิลได้เอาไปต่อยอดสร้างรายได้ให้ตนเอง และกรรมการกับเราก็สร้างกฎกติการ่วมกันไม่ให้สิทธิ์คนนอกพื้นที่เข้ามาคัดขยะ และช่วยกันเป็นหูเป็นตาเรื่องเครื่องจักร และการจัดการฝั่งกลบ นอกจากนี้เราก็เสริมเรื่องการดูแลสุขภาพเติมความรู้เข้าไปเพราะพวกพี่น้องชาวบ้านที่เข้าไปคัดขยะต้องอยู่กับบ่อวันละหลาย ๆ ชั่วโมง เราก็ทำแบบนี้มาตลอด แล้วก็มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรก ๆ ผมเข้าติดตามด้วยตนเองบ่อยครั้ง แล้วพองานเดินได้ก็มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ช่วยดูกันแลต่อ  

ทุกวันนี้การคัดขยะมารีไซเคิลกลายเป็นอาชีพทั้งอาชีพเสริม และอาชีพหลักของชาวบ้านชุมชนแถบนั้น บางครอบครัวเข้ามาทำช่วงพักไร่ บางคนเลิกทำเกษตรไปเลยก็มี บางคนเคยทำงานที่ห้าง หรือทำงานประจำก็หันมาคัดขยะ เพราะรายได้ดีกว่า แล้วไปช่วยเรื่องความเป็นอยู่ของเขาได้จริง

การเข้าไปคัดขยะจะมีเวลา มีรอบจัดสรร ให้แต่ละชุมชนได้มีโอกาสเข้ามาทำงาน เราให้พี่น้องได้เข้าพื้นที่ในช่วงเช้า หลังเที่ยงไปเราก็จะให้รถใหญ่เข้าไปทำงานฝั่งกลบ พอเครื่องจักรทำงานฝั่งกลบไป ชาวบ้านเขาก็จะเอาขยะที่ได้มาคัดแถวนั้น แล้วก็ช่วยดูแลพื้นที่ไปด้วย คอยแจ้งเรื่องเครื่องจักรพัง หรือปัญหากลิ่น กับน้ำเสีย ชาวบ้านชุมชนโดยรอบถือว่าช่วยเราได้มาก และที่ผ่านมาเราก็บริหารจัดการบ่อขยะได้เป็นอย่างดี 

โจทย์ต่อมาคือเรื่องบ่อเต็ม พอขยะเต็มแล้วจะยังไง จะต้องไปหาซื้อที่ใหม่ แล้วก็ไปทําบ่อขยะใหม่ใช่ไหม ต้องทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ถามว่าจะมีใครที่ไหนขายที่ให้เรา ใครเขาจะยอม จึงเป็นแนวคิดที่ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อใช้บ่อขยะที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เรามีที่บ่อขยะอยู่ 100 ไร่ มีบ่ออยู่ 3 บ่อ แต่ละบ่อมีอายุใช้งานราว ๆ 7 ปี บ่อแรกเต็มและฝั่งกลบไปแล้วตอนนี้เรากำลังใช้บ่อที่ 2 จุไปกึ่งหนึ่งเห็นจะได้ อีกไม่นานก็คงเต็ม ก็ต้องย้ายไปบ่อที่ 3 นี่แหละคำถามสำคัญและเราขอความช่วยเหลือไปที่ บพท.​ว่าเราจะจัดการกับโจทย์ข้อจำกัดนี้อย่างไร”

บ่อขยะที่กาฬสินธุ์จะไม่มีวันเต็ม!

“ผมก็เลยตั้งโจทย์แบบท้าทายไปเลยว่า ‘ทำยังไงจะสร้างให้บ่อขยะของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ไม่มีวันเต็ม’
อันนี้คือคิดแบบผู้บริหาร แต่ถ้าคิดแบบผู้ปฏิบัติงาน หรือคิดแบบชาวบ้าน เราต้องใช้งานวิชาการ ความรู้ กับอ้างอิงสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ กับหน่วยงานที่มีส่วนกำกับดูแล และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนมาช่วย ว่าเราจะทำระบบบ่อหมุนเวียน จะเอาบ่อเก่ากลับมาใช้พอจะทำได้ไหม จะรื้อแล้วใช้การร่อน ฝุ่นละอองจะกระทบกับชาวบ้านไหม เรื่องนี้ก็คิดและหารือวิธีกันไว้ 

เรื่องบ่อเต็มขอย้อนเวลากลับไปนิดนึ่งว่า ตอนเราทำบ่อเมื่อปี 2550 พอได้งบมาบริหารจัดการบ่อ ทำไปได้สัก 2 ปีก็มีคำสั่งจากจังหวัดมาว่า เรามีงบและมีบ่อก็ควรเปิดให้เทศบาลหรือ อปท.อื่น ๆ ในจังหวัดของเราได้ใช้งานบ่อขยะด้วย เพราะเอาเข้าจริงๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ก็ไม่ได้มีบ่อทิ้งขยะเพียงพอ ทางเทศบาลก็รับเรื่องมาแล้วก็เปิดให้อปท.อื่น ๆ เข้ามาใช้ ปรากฏว่า ไม่ว่า อปท.นั้นจะอยู่ไกลแค่ไหนถึงเวลาเขาก็ขนขยะมาทิ้งที่เรา ตอนนี้น่าจะร่วม ๆ 40 แห่ง ขยะประมาณ 100 กว่าตันทุกวัน คราวนี้แหละบ่อมันก็มีแนวโน้มว่าจะเต็มเร็วขึ้น แล้วจะทำยังไงให้ยืดอายุการใช้งานของบ่อขยะ กับโจทย์บ่อขยะที่ไม่วันเต็ม” 

How to ทิ้ง!

“ตอนนั้นเราคิดถึงการจัดขยะก่อนมาถึงบ่อ  จึงของบสร้างโรงคัดขยะของเทศบาลขึ้นมา ขยะไหนย่อยสลายได้ก็เอาไปทำปุ๋ย เลี้ยงไส้เดือน แต่ก็ยังช่วยลดปริมาณขยะได้ไม่มากอย่างที่คาดหวัง จนผมมีโอกาสได้ปรึกษากับนักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ก็ได้รับคำแนะนำว่าควรทดลองส่งเสริมให้ชาวบ้านแยกขยะก่อนทิ้งลงถังรวมของเทศบาล คือ ให้จัดการตั้งแต่ต้นทางไปเลย เราก็จัดให้มีจิตอาสารักษาสิ่งแวดล้อม เข้าไปให้ความรู้กับชุมชน ทำโครงการถนนไร้ถังขยะ เอาถังขยะใบใหญ่ออก เอาใบเล็กไปแทนพร้อมเอกสารให้ความรู้ มีเวลาเก็บแน่นอน มีกองทุนรับซื้อขยะรีไซเคิล มีจิตอาสาเอารถไปรับซื้อขยะเหล่านี้ที่บ้าน หรือรอรับที่พื้นที่ของชุมชน ลองทำอยู่ปีครึ่งปรากฏว่าขยะภายในเทศบาลของเราลดลงเฉลี่ยวันละ 20 ตัน พอโมเดลนี้เริ่มได้ผลเราก็รุกต่อจากบ้านเรือน ไปสู่หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ อย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย บ้านพักข้าราชการ จากที่เคยต้องเอารถเข้าไปเก็บขยะทุกวัน กลายเป็น 2-3 วันครั้ง เพราะขยะมันลดลงจริง ๆ 

เราเคยทดลองกันเล่น ๆ เพื่อให้คนเห็นภาพแบบง่ายๆ เอาขยะมา 15 กิโลฯ ถ้าคัดดี ๆ จะเหลือขยะที่ต้องทิ้งและไม่ใช้แล้วแค่ครึ่งกิโลฯ เท่านั้นเอง ที่เหลือเอาไปใช้ต่อหรือขายได้  

พอทำแบบนี้ได้เราก็ช่วยยืดอายุบ่อขยะได้ อย่างบ่อแรกที่คำนวณไว้ว่าน่าจะใช้งานได้สัก 7 ปี สุดท้ายเราใช้งานไปจบได้ที่ปีที่ 10 อีกวิธีการหนึ่งคือ เนื่องจากเราต้องรับขยะจาก อปท.อื่น ๆ และก็มีการจัดเก็บค่าบริหารจัดการอยู่เล็กน้อย เริ่มปีแรก ๆ ประมาณ 100 บาทต่อ 1 ตัน แล้วเราก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นเป็น 250 เป็น 300, 400 ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 500 บาท ก็เพื่อแจ้งเป็นนัย ๆ ว่าคุณต้องลดปริมาณขยะนะต้องช่วยกัน แล้วเราก็เชิญชวนเครือข่าย อปท. ที่นำขยะมาทิ้งที่เรา เข้าร่วมอบรมการจัดการขยะกับเรา ก็มีอยู่ 10 กว่าแห่งที่เข้าร่วม แล้วเอาแนวทางจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปใช้ ตรงนี้ก็ช่วยลดขยะได้มาก ผมก็ส่งเรื่องนี้ไปประเมินขอรางวัล จนเราได้รับรางวัลชนะเลิศอาเซียน เรื่องด้านการจัดการขยะและพื้นที่สีเขียว ผมได้ไปรับรางวัลที่บรูไนดารุสซาลามเมื่อปี 2560
ทุกวันนี้เรายังรักษารูปแบบการทํางานเหมือนเดิมไว้ แล้วก็พยายามคิดต่อยอด เพราะอีกไม่นานก็ต้องเปิดใช้บ่อที่ 3 กันแล้ว”

วิจัยเพื่อพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์

“การที่ บพท.เข้ามาช่วยพร้อมกับทีมอาจารย์กมลวรรณ รัชตเวชกุล จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผ่านโครงการพัฒนากาฬสินธุ์เมืองน่าอยู่สู่เมืองอุดมสุขอย่างยั่นยืน ก็จะมาช่วยเราในเรื่องการจัดการขยะนี่แหละ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลการจัดขยะในพื้นที่ ซึ่งเรายังมีข้อมูลไม่มากพอ ทั้งปริมาณขยะ ลักษณะขยะในแต่ละพื้นที่ของเทศบาล การติดตาม Tracking รถขยะ แสดงสถานะของขยะว่าตรงไหนเก็บแล้ว ตรงไหนยังไม่ได้เก็บ รวมไปถึงการเก็บและจ่ายค่าขยะผ่าน Smart Phone และอีกเรื่องที่ผมคาดหวังคือ เราจะมีข้อมูลกับการวิเคราะห์จากข้อมูลขยะที่เราเก็บได้ มาช่วยกันออกแบบและวางแผนนโยบายให้เราสามารถดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้พี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะโจทย์ที่ยังไงเราก็หลีกหนีไม่ได้คือ บ่อขยะที่เรามีพื้นที่จำกัดจะช่วยกันสร้างให้เกิดแผนหรือการบริหารจัดการอย่างไรให้เป็นบ่อขยะที่ไม่มีวันเต็มตามที่เราต้องการ เพื่อลูกเพื่อหลานเพื่ออนาคตไม่ต้องไปเดือดร้อนหาที่แห่งใหม่ และจะได้เอาไปเป็นต้นแบบให้กับท้องถิ่นอื่น ๆ ช่วยประประหยัดเงินงบประมาณของทางราชการไปด้วยในตัว  

ผมเชื่อมั่นว่าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ได้สำเร็จ เพราะเรามีข้อมูล มีองค์ความรู้ และมีหลากหลายหน่วยงานมาช่วยกัน รวมถึงพี่น้องประชาชนที่เป็นกำลังสำคัญช่วยให้เป้าหมายการสร้างเมืองสิ่งแวดล้อมดี และน่าอยู่เกิดขึ้นจริง ๆ เป็นเมืองอุดมสุขแบบที่เราอยากให้เกิดขึ้นครับ”  

#เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ #มหาวิทยาลัยนเรศวร #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #บพท #pmua #wecitizens

Wecitizens Editor

Recent Posts

[THE CITIZENS]<br />ไชยยง รัตนอังกูร<br />ผู้ก่อตั้ง ลำพูน ซิตี้ แลป

“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…

1 day ago

[THE CITIZENS]<br />ธีรธรรม เตชฤทธ์<br />ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน

“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…

2 days ago

[THE CITIZENS]<br />ชนัญชิดา บุณฑริกบุตร<br />ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน

“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม)  จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…

3 days ago

[THE CITIZENS]<br />นงเยาว์ ชัยพรหม<br />คนทำโคมจากชุมชนชัยมงคล

“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว  สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…

3 days ago

[THE CITIZENS] อัญมณี มาตยาบุญ<br />ครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ ลำพูน ซิตี้ แลป

“ก่อนหน้านี้เราเป็นสถาปนิก และกระบวนกรจัดประชุมสัมมนาด้านวิชาการ โดยหลัก ๆ จะอยู่เชียงใหม่ ช่วงปี 2562 เรากลับลำพูนและเห็นเทศกาล River Festival Lamphun ริมแม่น้ำกวง รู้สึกตื่นตามาก ๆ ไม่เคยคิดว่าเราจะได้เห็นโชว์แสง…

4 days ago

[THE CITIZENS]<br />เจริญ คำพรหม และ แสงทอง คำพรหม <br />กลุ่มทำโคมชุมชนสันป่ายางหลวง

“ผมเคยทำงานที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมาก่อน พอเกษียณก็มาเป็นอาสาสมัครชุมชน และก็อยู่บ้านเฉย ๆ จนเทศบาลเขาชวนผมกับภรรยาไปเรียนทำโคม เพื่อจะให้ชุมชนเราผลิตโคมไปขายให้กับเทศบาลฯ ต่อ  ชุมชนเรา (ชุมชนสันป่ายางหลวง) เป็นชุมชนแรกที่เข้าไปเรียนทำโคม น่าจะ 6-7 ปีก่อนได้ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะจริงจังอะไรนัก แค่เห็นว่าเป็นงานฝีมือที่น่าสนใจ และสามารถสร้างรายได้เสริมได้ด้วย แต่ทำไปทำมาชักสนุก…

4 days ago