ไม่เพียงแต่เทศบาลนครนครสวรรค์จะเป็นหนึ่งในเทศบาลแห่งแรกที่ได้รับการคัดเลือกโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ให้เป็น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตั้งแต่ปี 2564 หากแต่ในปัจจุบัน เทศบาลนครซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของภาคกลางตอนบน ยังคงเดินหน้าพัฒนาเมืองภายใต้กรอบ Smart City ที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เปลี่ยน “เมืองต้องผ่าน” ให้กลายเป็น “เมืองต้องแวะ”
ทั้งการปักหมุด “พาสาน” แลนด์มาร์กแห่งใหม่ ที่นำไปสู่แผนการจัดตั้ง อุทยานวัฒนธรรมต้นน้ำเจ้าพระยา และการสร้างสะพานคนเดินเชื่อมจากอุทยานสู่ย่านเมืองเก่า เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและการเดินเท้า การพัฒนา Super Node ระบบโครงข่ายกล้องวงจรปิด (CCTV) และบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะครอบคลุมทั่วทั้งเขตเทศบาล จนได้รับรางวัล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการบริหารจัดการดีระดับประเทศ หรือโครงการ Smart Energy ที่ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยกระดับนครสวรรค์เป็นเมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดระดับประเทศ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาเมืองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญในยุคนี้
ล่าสุด เทศบาลนครนครสวรรค์ยังยกระดับความเป็น Smart City ขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการจับมือกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพท.) ขับเคลื่อนโครงการ เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด โดยใช้อีสปอร์ต (E-Sports) หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์เป็นกลไกสำคัญ ผ่านการสร้างระบบนิเวศและยกระดับบุคลากรในแวดวงอีสปอร์ต ตั้งแต่นักกีฬาไปจนถึงทีมงานเบื้องหลัง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า อีสปอร์ต หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เกมออนไลน์” จะมีส่วนในการพัฒนาเมืองได้อย่างไร?
WeCitizen ได้พูดคุยกับ จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ ถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ รวมถึงเป้าหมายในการผลักดันนครสวรรค์ให้เป็นทั้งแหล่งบ่มเพาะและศูนย์กลางของการแข่งขัน E-Sports ระดับภูมิภาค
“เรียนตามตรง ผมไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับอีสปอร์ตเลยครับ คนละรุ่นกันแล้ว และก็ไม่ได้เติบโตมากับการเล่นเกม แต่โชคดีที่รองนายกเทศมนตรีกับผู้อำนวยการกองการศึกษาของเรา (จตุรวิทย์ นิโรจน์ธนรัฐ) เป็นคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงความสำคัญของมัน ซึ่งมีมากกว่าการเล่นเกม เขาน่าจะให้รายละเอียดได้ดีกว่าผม
“ถามว่า ถ้าผมไม่รู้จักดี แล้วจะนำสิ่งนี้มาขับเคลื่อนเมืองได้อย่างไร? ก็เพราะผมเชื่อว่า เทศบาลไม่ควรถูกขับเคลื่อนจากคนรุ่นผมเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อเราตั้งเป้าพัฒนาเมืองด้วยกรอบ Smart City การทำงานประสานกับคนรุ่นใหม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ
“รองนายกฯ ของเรายังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้สมาคมกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้จัดการแข่งขันอีสปอร์ตในระดับจังหวัดและภูมิภาค อีกทั้งยังส่งนักกีฬาจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเข้าร่วมแข่งขันจนได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้ว ล่าสุดกองการศึกษายังมีแผนนำกีฬาชนิดนี้เข้าสู่หลักสูตรนำร่องของโรงเรียนในเขตเทศบาลด้วย
“ถึงผมจะไม่รู้ว่าเขาเล่นเกมกันอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นและส่งผลบวกต่อเมืองมีอยู่สองด้านหลัก ๆ คือ หนึ่ง พอมีการจัดการแข่งขัน นั่นหมายถึงการที่มีคนจากเมืองรอบข้างเข้ามา มีผู้ปกครองตามลูกมาให้กำลังใจ มีผู้ที่ติดตามกีฬาชนิดนี้มาเชียร์ ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของเมือง ที่ผ่านมาเราได้จัดการแข่งขันที่เซ็นทรัล นครสวรรค์ และสนามกีฬากลางหลายครั้ง ซึ่งผลตอบรับดีมาก
“สอง เวลาเราพูดถึงอีสปอร์ต หลายคนอาจนึกถึงแค่คนเล่นเกมหรือนักกีฬา แต่จริง ๆ แล้ว เบื้องหลังการแข่งขันต้องใช้ทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ทั้งทีมช่างเทคนิค คนติดตั้งจอ นักพากย์ และอีกมากมาย ซึ่งนี่แหละคือหัวใจสำคัญ
“งานวิจัยที่เราทำร่วมกับ บพท. เป็นความพยายามขับเคลื่อนระบบนิเวศนี้ ผ่านการบ่มเพาะเยาวชนในโรงเรียนสังกัดเทศบาล เพื่อให้พวกเขามีทักษะด้านดิจิทัลที่พร้อมต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต เทศบาลจึงเห็นประโยชน์ในการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตรการศึกษา ซึ่งเราเริ่มต้นแล้วที่ โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดจอมคีรีนาคพรต) พร้อมสนับสนุน ห้องอีสปอร์ต สำหรับใช้จัดเวิร์กช็อป ห้องซ้อม และห้องเรียนไปพร้อมกัน
“ระบบนิเวศนี้จะมาเติมเต็มความเป็น Smart City ของเมือง เพราะในเชิงกายภาพเราพร้อมอยู่แล้ว ทั้ง Super Node เครือข่ายกล้องวงจรปิดและอินเทอร์เน็ต เรามีระบบบำบัดน้ำเสียต้นแบบระดับประเทศจากคลองญวน มีโครงการน้ำประปาดื่มได้ และความร่วมมือกับ ปตท. ด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด แต่ที่ผ่านมา เรายังไม่มีโปรแกรมที่บ่มเพาะบุคลากรรองรับการพัฒนา Smart City เลย
“ถ้าเรามีเยาวชนในเขตเทศบาลที่มีทักษะ ความเข้าใจ และความพร้อมในโลกดิจิทัล ไม่เพียงแค่สร้างโอกาสด้านอาชีพให้กับพวกเขา แต่ยังทำให้เยาวชนเหล่านี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองต่อไปในอนาคต สร้างตลาดงาน และทำให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในการเติบโตในบ้านเกิดของตัวเอง สิ่งนี้จะตอบโจทย์การทำนครสวรรค์ให้สมาร์ท และน่าอยู่ทั้งในเชิงกายภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”
#เทศบาลนครนครสวรรค์ #มหาวิทยาลัยนเรศวร #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #บพท #pmua #wecitizens
“พื้นเพของครอบครัวผมเป็นนักการเมืองและนักธุรกิจ คุณตาของผม สันติ์ เทพมณี เป็นอดีตรัฐมนตรี สส. และ สว. ของจังหวัดลำพูน พ่อของคุณตา - สุข เทพมณี ก็เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน (พ.ศ.…
“ตอนเด็ก ๆ เราแทบไม่ได้ผูกพันกับลำพูน บ้านเกิดเลยนะ เราถูกส่งไปเรียนที่เชียงใหม่ เรียนมหาวิทยาลัยที่ขอนแก่น จบมาก็ไปทำงานกรุงเทพฯ อยู่หลายปี ระหว่างนั้นก็กลับมาเยี่ยมแม่บ้าง ไป ๆ มา ๆ ก็เริ่มรู้สึกเป็นห่วงเขา สุดท้ายเลยตัดสินใจย้ายกลับมาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ลำพูนถึงพ่อแม่เราจะรับราชการครู…
ความสําเร็จของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม บพท. คุณสมศักดิ์ ลามอ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครปากเกร็ด (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2567 - มีนาคม 2568) มุ่งยกระดับการบริการประชาชนด้วยนวัตกรรมและยุทธศาสตร์ทันสมัย เทศบาลนครปากเกร็ด ซึ่งเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร มีประชากรในความดูแลกว่า 400,000…
ก้าวสู่ความสําเร็จของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม บพท. | ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2564- มีนาคม 2568) “เทศบาลนครลำปางในปี 2567-2568 เราได้ร่วมงานกับ บพท. ในการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยบริหารจัดการเมืองของเราให้เดินหน้าสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่เรากำลังทำกันอยู่ที่ ด้วยเป้าหมายสิ่งที่เราปรารถนาที่สุดคือ จะทำให้เมืองของเราเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ…
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…