ก่อนที่ปากเกร็ดจะได้รับการเปลี่ยนแปลงยกฐานะจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบลในปี 2535 วิชัย บรรดาศักดิ์ ชาวปากเกร็ดโดยกำเนิด เคยทำงานในฐานะผู้ใหญ่บ้าน และกำนันตำบลบ้านใหม่ มาก่อนแล้วกว่า 10 ปี และเมื่อเขาได้รับเลือกดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองปากเกร็ด (ในสมัยนั้น) ประสบการณ์จากการทำงานกับชุมชน ทำให้วิชัยไม่เพียงเข้าใจปัญหาเชิงลึกของท้องถิ่น แต่ตระหนักดีว่า การทำงานพัฒนาเมือง หาใช่การตั้งรับเพื่อรอแก้ปัญหา แต่เป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อยับยั้งความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหา
แนวทางการทำงานเช่นนี้ยังปรากฏในแทบทุกมิติของเมือง ตั้งแต่การจัดการข้อมูลประชากร การดูแลถนนหนทางและพื้นที่สาธารณะ การจัดเก็บขยะ และที่สำคัญคือการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม
ปากเกร็ดมีพื้นที่ 36.04 ตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่เกือบครึ่ง หรือราว 15 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับการเป็นเมืองปริมณฑลที่มีการคมนาคมสะดวก ทำให้ความเจริญจากกรุงเทพฯ แผ่ขยายมาตลอดหลายทศวรรษหลัง จนปัจจุบันเทศบาลนครปากเกร็ดมีประชากรราว 190,000 คน (5 ตำบล และ 66 ชุมชน) โดยไม่นับรวมประชากรแฝงอีกเกือบเท่าตัว ด้วยทำเลและความหนาแน่นของพื้นที่ดังกล่าว ปัญหา “ฝนตกน้ำท่วม” จึงเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักของเมืองนี้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีครั้งแรกในปี 2538 ของนายกฯ วิชัย พร้อมกับการที่ปากเกร็ดมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพอยู่เสมอ กล่าวได้ว่าการทำงานของนายกฯ มากประสบการณ์ผู้นี้ก็ถือว่า “สอบผ่าน”
“ปี 2554 น้ำท่วมกรุงเทพฯ หนักมาก แต่นครปากเกร็ดของเราซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยากลับโดนท่วมเพียง 5-6% เท่านั้น สิ่งนี้ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่เป็นการบริหารจัดการ การสื่อสาร และการทำงานอย่างหนักของทีมงาน” นายกฯ วิชัย บรรดาศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี หาใช่แค่ความสำเร็จของการจัดการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ สำหรับนายกฯ วิชัย มองว่าสิ่งนี้คือโมเดลการบริหารจัดการสำหรับการแบ่งปันให้กับเมืองอื่น ๆ รวมถึงการเป็นต้นทุนสำหรับนำไปต่อยอดให้ปากเกร็ดมีความน่าอยู่และยั่งยืนมากไปอีก และนั่นทำให้เขานำเทศบาลนครปากเกร็ด เข้าร่วมโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดของ บพท. โดยหวังจะมองหานวัตกรรมใหม่ ๆ จากงานวิจัยด้านการพัฒนาเมือง เตรียมความพร้อมให้นครปากเกร็ด เป็น Resilience City หรือเมืองยืดหยุ่น ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และนี่คือมุมมองของนายกเทศมนตรีผู้มองการณ์ไกลท่านนี้
![](https://wecitizensthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/DSC05246-1024x683.jpg)
ทำไมเรื่องน้ำท่วมถึงกลายเป็นหลักคิดสำคัญในการทำให้นครปากเกร็ดเป็นเมืองน่าอยู่
เพราะเราต้องการแก้เรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อนรำคาญ นั่นคือเรื่องโครงสร้าง เราจัดประชุมผู้นำชุมชนทุกเดือน ทำโครงการต่าง ๆ ผ่านผู้นำชุมชน ทีแรกเราก็เริ่มเรื่องถนนหนทาง ท่อระบายน้ำ จัดเตรียมไว้ก่อน ตอนหลังมาดูเรื่องสิ่งแวดล้อม เราไม่อยากเห็นเมืองพอฝนตกแล้วน้ำท่วมขัง ออกไม่ได้ห้าวันเจ็ดวัน หรือเพียงวันสองวันก็มีผลกระทบความเดือดร้อนแล้ว ทั้งเน่าทั้งเหม็น คนจะอยู่ยังไง
คุณจัดการวางนโยบายอย่างไรบ้าง
ตอนปี 2538 ที่เข้ามารับตำแหน่ง ผมวางแผนว่า ถ้าจะทำเส้นทางแต่ละเส้น ไม่ว่าจะเป็นถนนใหญ่ ถนนเล็ก หรือทางเดินก็ต้องมีท่อระบายน้ำ รวมถึงสร้างถนนให้ยกตัวสูงขึ้น ต่อมาก็มีโครงการเขื่อนกั้นน้ำเซาะริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระรามสี่ถึงวัดสนามเหนือ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและการกัดเซาะพังทลายของที่ดิน
หลังได้บทเรียนจากปี 2554 เราพยายามดูแลคนที่ริมแม่น้ำ บริเวณนอกคันกั้นน้ำ เพราะเวลาน้ำท่วม เราต้องไปทำคันดินกั้นน้ำแถวหลังบ้านเขา เพื่อไม่ให้น้ำท่วมเข้าข้างใน เราต้องดูแลพวกเขาให้เข้า-ออกสะดวก ทำสะพานให้ ถ้าเขาต้องการอยู่ข้างในเราก็ต้องหาที่อยู่ให้ มีการสำรวจความพึงพอใจควบคู่ไปด้วย ไม่ให้เขารู้สึกว่า ไม่ได้รับการดูแล
ส่วนปัญหาท่อตันที่เป็นสาเหตุของน้ำท่วม เราก็จัดหานวัตกรรมมาช่วยคำนวณเวลาการทำงานของเทศบาลฯ เพราะปีน้ำท่วม 2554 เราใช้คนเฝ้าระวังอย่างเดียวแล้วมีข้อผิดพลาด ต้องหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยจัดการ ซึ่งจริง ๆ เราก็ทำเรื่องท่อระบายน้ำตลอดทั้งปี ทั้งในบ้านเก่า บ้านใหม่ และหมู่บ้านจัดสรร เพื่อไม่ให้มีอะไรมากีดขวางทางน้ำ ถึงอย่างนั้นมันก็ยาก เทศบาลฯ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ไหนจะท่อระบายน้ำเล็ก ๆ ที่เข้าถึงยาก ตรวจสอบยากอีก แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือ ห้ามให้น้ำฝนท่วมเข้าบ้านประชาชน เราจึงพยายามทำงานกับชุมชนให้พวกเขาช่วยเหลือกัน และเราก็ต้องเฝ้าระวังด้วย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมแจ้งเตือนชาวบ้านได้อย่างทันท่วงที
![](https://wecitizensthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/DJI_0031-2-1024x576.jpg)
อะไรคือหัวใจที่ทำให้นครปากเกร็ดบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อมูล แบ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากเทศบาลฯ ตามสถานีและบ่อสูบ และอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝนที่ติดตั้งไว้ภายในเมือง โดยนำมาเทียบเคียงกับข้อมูลจากกรมชลประทาน เพื่อนำมาประมวลผลให้ได้ข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้ามาเช็กดู ให้เตรียมตัวระมัดระวัง ขณะเดียวกัน เราก็มีการแจ้งสถานการณ์น้ำท่วมผ่าน LINE ของนครปากเกร็ด และเปิดให้ประชาชนเข้าไปดูระดับน้ำในเพจเฟซบุ๊กได้
นอกจากใช้ระบบข้อมูลเมืองและเทคโนโลยีแล้ว คุณมองว่าประชาชนคนทั่วไปมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมา ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดฝนตกน้ำท่วมในช่วงที่เราไม่คาดคิด บางทีความเสียหายอาจมาในรูปแบบของดินที่เข้าไปในท่อระบายน้ำ ถ้าไม่รีบเอาออก เวลาน้ำดันมันเอาดินไปเข้าบ้านคนด้วย หรือห้องน้ำตามบ้านใช้งานไม่ได้ ซึ่งเราจะต้องหาเครื่องมือมาเช็กให้ได้ว่า อะไรอยู่ในท่อบ้าง เพื่อทำการขุดลอกท่ออย่างเป็นระบบระเบียบ
อีกข้อหนึ่งคือ การทำความเข้าใจกับชาวบ้านไม่ให้ทิ้งหรือปล่อยอะไรลงมาในท่อ เพราะอย่างที่บอกว่า เราทำถนนพร้อมท่อระบายน้ำทุกหมู่บ้าน แต่บางคนนำกระถางต้นไม้ไปวางหน้าบ้าน กวาดใบไม้ไปอัดทางระบายน้ำ ต่อเติมบ้านแล้ววัสดุอุปกรณ์ตกลงในท่อ หรือกระทั่งไม่ใช้ตัวดักไขมัน น้ำก็ท่วมได้แล้ว เราต้องสร้างจิตสำนึกให้คนเข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปด้วยกัน ซึ่งถ้าได้งานวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ของบพท. ที่จัดทำโดย รศ. ดร.สมพร คุณวิชิต จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาช่วยด้วยก็น่าจะยิ่งทำให้เมืองของเราบริหารจัดการน้ำท่วมได้ดีขึ้น
ในมุมมองของคนที่อยู่กับการบริหารจัดการน้ำท่วมในนครปากเกร็ดมานาน งานวิจัยนี้จะช่วยเมืองยังไงได้บ้าง
คิดว่าถ้าคณะทำงานลงพื้นที่แล้วได้ผลวิจัยที่เรารู้เท่าทันภูมิอากาศในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ พร้อมกับนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้สำรวจดู รู้ก่อนว่า พื้นที่ตรงนี้ คลองตรงนี้ เป็นอย่างไร มีอะไรในท่อระบายน้ำบ้าง ผมว่าจะเป็นประโยชน์ที่นำมาป้องกันก่อนจะไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ถ้าใช้ระบบใหม่ ๆ มาตรวจสอบทั้งท่อเล็กท่อน้อยได้ ก็จะทำให้รับรู้สถานการณ์น้ำได้แม่นยำขึ้น ไวขึ้น ต่อให้เราขุดลอกท่อไม่ทัน แต่อย่างน้อยชาวบ้านจะได้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ
สุดท้ายนี้ คุณอยากพัฒนาให้นครปากเกร็ดเป็นเมืองน่าอยู่ในทิศทางไหนอีก
ด้วยความที่ทำสาธารณูปโภคของเมืองปากเกร็ดให้สอดคล้องไปกับความเจริญได้แล้ว เราจะทำยังไงให้ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อเมืองน้อยที่สุด หนึ่งในนั้นคือ เราเตรียมทำเขื่อนป้องกันน้ำเซาะอีกโซนหนึ่ง เพราะทุกปีเวลาน้ำท่วมมากหรือน้อย ช่วงที่ยังไม่มีเขื่อนป้องกันน้ำเซาะ เราจะเสียงบประมาณจัดการเรื่องน้ำท่วมไม่น้อยกว่า 30-40 ล้าน ตอนนี้เราทำไปแล้ว 450 เมตร เหลืออีก 850 เมตร จากพื้นที่ 15 ตารางกิโลเมตร จากส่วนที่ทำไปก็ช่วยทำให้เราประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น
แผนการต่อไปคือ เราจะทำอาคารอเนกประสงค์ และเขื่อนป้องกันน้ำเซาะที่มีทางเดินกับท่าเรือที่รองรับนักท่องเที่ยวที่มาทางเรือในอนาคต จะโยงให้ระบบรถรางห้าแยกมาระบบเรือให้ได้ เพื่อให้เชื่อมต่อระบบการเดินทาง ทำให้การท่องเที่ยวหรือทำงานที่ปากเกร็ดสะดวก ลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้รถส่วนตัว ก็จะช่วยลดค่าฝุ่น ช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่นครปากเกร็ดให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกไปด้วย
#เทศบาลนครปากเกร็ด #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #PMUA #บพท #Wecitizens