[THE MAYOR]
ประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน
เมื่อศิลปวัฒนธรรมขับเคลื่อนเมืองอย่างสมาร์ท“โคมแสนดวง” กับภารกิจรับมือสังคมสูงวัย 

Start
34 views
28 mins read

เรามีโคม และเรามีคน 
คนลำพูนที่ช่วยกันทำโคมประดับเมือง 
ไม่ใช่แค่หลักร้อยหรือหลักพัน แต่เป็นหลักแสนดวง

นายกบุ่น – ประภัสร์ ภู่เจริญ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองลำพูนครั้งแรกในปี 2538 ขณะมีอายุเพียงสามสิบต้น ๆ นับเป็นหนึ่งในนายกเทศมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประเทศ ณ ขณะนั้น 

ด้วยพื้นเพจากครอบครัวนักธุรกิจ ประกอบกับทีมงานรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดก้าวหน้า เขาได้ผลักดันให้ลำพูนซึ่งเคยเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้าม กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา โดดเด่นทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรมและคุณภาพชีวิตของผู้คน

หนึ่งในผลงานที่เห็นได้ชัดคือการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบคูเมืองโบราณให้กลายเป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่น ขยายพื้นที่สีเขียว และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับอัตลักษณ์ของเมืองโบราณแห่งนี้ แต่เช่นเดียวกับเมืองขนาดเล็กและกลางทั่วโลก ลำพูนกำลังเผชิญความท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง—การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ภาวะเมืองหดตัว และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากจำนวนประชากรวัยแรงงานที่ลดลง

“ปี 2538 คือปีแรกที่ผมเข้ารับตำแหน่ง เทศบาลเมืองลำพูนมีประชากร 15,000 คน ผ่านไป 30 ปี เรามีประชากรเหลืออยู่ไม่ถึง 11,000 คน แม้โจทย์ของเมืองจะเปลี่ยนไป แต่เป้าหมายหลักยังเหมือนเดิม—ทำให้ลำพูนเป็นเมืองที่น่าอยู่และมีเศรษฐกิจที่แข็งแรง” นายกบุ่นกล่าว

สิ่งที่เป็นแต้มต่อที่นายกฯ อ้างถึง คือรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมที่สั่งสมมากว่า 1,300 ปี และความเข้มแข็งของชุมชน 17 แห่งที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง และหากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด หนึ่งในสัญลักษณ์ที่สะท้อนความร่วมมือของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีคือ “โคมล้านนา”

“เรามีโคม และเรามีคน คนลำพูนที่ช่วยกันทำโคมประดับเมือง ไม่ใช่แค่หลักร้อยหรือหลักพัน แต่เป็นหลักแสนดวง” เขากล่าวถึงกิจกรรมที่เติบโตขึ้นจนกลายเป็นเทศกาลประจำปีที่สำคัญของเมือง “เทศกาลโคมแสนดวง”

แต่คำถามสำคัญคือ เทศกาลเพียงหนึ่งเดียวจะช่วยให้ลำพูนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมได้จริงหรือไม่? WeCitizens สนทนากับนายกบุ่นถึงเบื้องหลังแนวคิดนี้

ขอเข้าประเด็นเลยนะครับ เทศกาลโคมแสนดวงกลายมาเป็นกลไกในการพัฒนาเมืองลำพูนได้อย่างไร
เทศกาลโคมแสนดวงมีจุดเริ่มต้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งทางเทศบาลของเราและทางจังหวัดลำพูนเล็งเห็นว่าเราสามารถนำสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมล้านนามาเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดการท่องเที่ยวได้ ซึ่งในที่นี้คือโคมล้านนา 

โดยปกติในทุกเทศกาลยี่เป็ง คนล้านนาเขาก็จะประดับโคมตามบ้านเรือนเพื่อสร้างสีสันและเป็นสิริมงคลกันอยู่แล้ว เราก็เลยมาคิดต่อกันว่า ถ้าเราประดับโคมทั้งเมืองไปเลยล่ะ ไม่ใช่แค่ช่วงที่มีงานยี่เป็งแค่ไม่กี่วัน แต่ประดับไปทั้งช่วงไฮซีซันต่อเนื่องหลายเดือน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเมืองลำพูนมากขึ้น ก็น่าจะเป็นวิธีในการกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองได้ดี 

แต่อย่างที่คุณถาม แค่การมีเทศกาลเดียวมันจะช่วยอะไรได้ หัวใจสำคัญของการนำเทศกาลทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเมือง จึงไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามของโคมล้านนาที่ประดับ แต่เป็นการได้มาซึ่งโคมเหล่านี้ต่างหาก

ที่มาในการได้โคมเหล่านี้?
ปกติถ้าจะทำโคมเราก็ต้องมีคนทำใช่ไหม คุณอาจไปซื้อจากร้านที่เขารับผลิตอยู่แล้ว แต่พอเมืองเราเล่นใหญ่ด้วยการใช้โคมเป็นแสนดวงเนี่ย เราก็จำเป็นต้องมีกำลังการผลิตที่มากพอ ทีนี้ผมก็มาพิจารณาว่าเทศบาลเมืองลำพูนเรามีชุมชน 17 ชุมชน มีประชากร 10,960 คน ในจำนวนนี้เรามีผู้สูงอายุมากกว่า 3,600 คน คิดเป็นสัดส่วน 32% ของประชากรทั้งหมด ถ้าไม่นับรวมที่ยังทำงานหรือช่วยลูกเลี้ยงหลาน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำงานอะไร เราจึงชวนจ้างพ่อครูแม่ครูมาสอนพวกเขาทำโคม ก่อนจะรับซื้อโคมที่พวกเขาผลิตมาใช้ในเทศกาลเมืองและนำไปขายต่อให้นักท่องเที่ยว ตรงนี้มันก็ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้เขามีกิจกรรมได้ทำร่วมกัน สร้างชีวิตชีวาขึ้นมาอีก

โคมที่เราเห็นในเทศกาลมาจากฝีมือของผู้คนในเขตเทศบาลทั้งหมด
ไม่ทั้งหมด ส่วนของวัดพระธาตุหริภุญชัยและวัดอื่น ๆ ที่ร่วมจัดงาน เขาอาจจะซื้อมาหรือเกณฑ์แรงงานมาบ้าง แต่ของพื้นที่เทศบาลที่อยู่ตามท้องถนนนั่นคือผลงานของชาวบ้านทั้งหมด ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ คนเฝ้าผู้ป่วยติดเตียง เราใช้เวลา 3 ปีในการปลุกปั้นให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีทักษะในการทำโคม มีระบบตรวจสอบคุณภาพ และเราก็ประกันราคาเพื่อสร้างแรงจูงใจ จากเมื่อก่อนเรารับซื้อโคมลูกละ 35 บาท หลังปี 2565 พอต้นทุนสูงขึ้น เราก็รับซื้อลูกละ 40 บาท เราเริ่มจากเล็ก ๆ ก่อนเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วที่ 5,000 ลูก แล้วก็ขึ้นมาประมาณ 50,000 ดวง ปี 2568 นี้ เราตั้งเป้าไว้ที่ 95,000 ลูก และแบ่งโควตาให้แต่ละชุมชนไปผลิต ตอนนี้มีคนผลิตให้เราร้อยกว่าคนแล้ว ถ้าดูสัดส่วนมันอาจจะน้อย แต่ด้วยจำนวนเท่านี้ ก็ทำให้คนในชุมชนเราสามารถทำโคมสะสมและมีรายได้ได้ตลอดทั้งปีโดยที่ไม่ต้องออกไปทำงานที่ไหน ทั้งยังมีเหลือไปขายต่อได้อีก

นั่นหมายความว่าเทศบาลฯ จัดสรรงบประมาณไปจ้างชาวบ้านมาผลิตโคม
ในเมื่อเราต้องจัดเทศกาลนี้อยู่แล้ว ทำไมไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วยเลยล่ะ ขณะเดียวกัน โคมส่วนใหญ่เราก็เอาไปวางขายตามจุดต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวมาซื้อ เราก็ได้เงินมาสมทบทุนต่อ 

ในขณะเดียวกัน ทั้งหมดทั้งมวล มันไม่ใช่แค่การผลิตโคมอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการติดตั้ง และการออร์แกไนซ์กิจกรรมเพราะเราไม่ได้จ้างออร์แกไนเซอร์เลยนะ ชาวบ้านช่วยกันทำเองหมด สิ่งสำคัญคือเราต้องหาวิธีการทำการตลาดด้วย เพราะเรามองถึงการทำโคมเพื่อจำหน่ายให้เมืองอื่น ๆ  ไปใช้ในเทศกาลของเขาเอง หรือเอกชนนำไปประดับตบแต่ง

เทศกาลโคมแสนดวงจัดขึ้นช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนของทุกปี แล้วหลังจากนั้นโคมเหล่านี้จะไปไหนต่อ
เรานำไปถวายวัด มีวัดมากมายทั่วประเทศที่ต้องการโคมไปประดับ เราวางแผนไว้ว่าเราจะไม่สร้างขยะ โคมทุกดวงต้องมีชีวิตของมันต่อ อย่างไรก็ตาม ต้องออกตัวก่อนว่าโคมแสนดวงมันไม่ใช่กิจกรรมเดียวที่จะอุ้มเศรษฐกิจของเมืองได้ เรามองว่ามันเป็นวิธีการรับมือหรือบรรเทาปัญหาด้านสังคมสูงวัยมากกว่า เรายังต้องใช้กิจกรรมอื่น ๆ มาเสริมอีกไม่น้อย

เช่นกิจกรรมอะไรครับ
จุดขายของลำพูนคือศิลปวัฒนธรรม เราก็พยายามรื้อฟื้นสิ่งเหล่านี้ และหาวิธีเชื่อมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นฟันเฟือง อย่างล่าสุดก็ทำเรื่องกลองมองเซิง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีล้านนา เวลาภาคเหนือเรามีงานบุญหรืองานปอย ก็จะมีขบวนแห่และมีการตีกลองนี้กำกับ ผมไปได้แนวคิดนี้จากเทศบาลเมืองยะลาที่เขาทำวงซิมโฟนีของนักเรียน ก็เลยทำหลักสูตรให้เด็ก ๆ  ในเขตเทศบาลมาเรียน เพื่อให้พวกเขาทำวงดนตรีพื้นบ้านไปรับงานต่าง ๆ เป้าหมายเราตั้งไว้ 100 ชุด 300 คน 3 โรงเรียนในเขตเทศบาล นั่นคือเรื่องของวัฒนธรรมสร้างไว้ให้กับเด็กรุ่นต่อไป 

นอกจากนี้ การทำศูนย์การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ  ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายคือเราจะต้องนำต้นทุนที่เมืองเรามี ไปต่อยอดในเชิงอาชีพและเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่เราได้ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน เพื่อดึงดูดให้พวกเขาเห็นโอกาสในบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็ดึงดูดการลงทุนจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ไปพร้อมกันผ่านการท่องเที่ยว

“เราต้องทำให้ผู้คนเห็นภาพเดียวกัน 
ทำให้รู้สึกว่าลำพูนเป็นเมืองของพวกเขาทุกคน 
เป็นเมืองที่ทำให้พวกเขาอยากอยู่ไปจนแก่ และแก่อย่างมีความสุข”   


เพราะมองว่าถ้าเศรษฐกิจดีจะทำให้เมืองมีความน่าอยู่มากขึ้น
แน่นอน ต่อให้เมืองสวยหรือมีบรรยากาศน่าอยู่มากแค่ไหน แต่ถ้าคนที่อยู่ไม่รู้จะทำงานอะไร หรือไม่รู้จะหาเงินจากไหน มันก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องหาวิธีให้คนทำงานที่นี่มีความสุข อิ่มท้อง และมองเห็นอนาคต เทศบาลฯ ได้วางนโยบายไว้ 8 ข้อ เพื่อขับเคลื่อนเมืองเก่าลำพูนให้กลายเป็นเมืองที่มีอนาคต ครอบคลุมตั้งแต่การทำให้เมืองปลอดมลพิษ เมืองที่ผู้คนเดินเท้าสะดวก การจราจรไม่ติดขัดซึ่งรวมถึงการไม่อนุญาตให้รถบรรทุกเข้ามาวิ่งในเมืองเก่าเพื่อสวัสดิภาพของผู้คน การเพิ่มพื้นที่สาธารณะไปจนถึงการทำสวนป่าในเมือง ซึ่งต่อยอดจากการที่เราเริ่มปลูกต้นไม้รอบคูเมือง พร้อมไปกันนั้น เราก็ต้องดูแลเรื่องสวัสดิภาพของคนในเมืองให้ครอบคลุม เราจึงมีตั้งแต่โครงการดูแลแม่ที่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงการสนับสนุนเงินด้านฌาปนกิจ

ดูทั้งการพัฒนาพื้นที่และสวัสดิภาพของผู้คนเมืองตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต
เพราะทุกอย่างมันเชื่อมกันหมด เมื่อเมืองมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม มีพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ มีความปลอดภัย และมีสวัสดิการรองรับ สุขภาพกายและใจคนในเมืองก็จะดี ขณะเดียวกัน ความพร้อมเหล่านี้มันก็ช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ก็ช่วยดึงคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาด้วย สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำให้ผู้คนเห็นภาพเดียวกัน และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าลำพูนเป็นเมืองของพวกเขาทุกคน เป็นเมืองที่ทำให้พวกเขาอยากอยู่ไปจนแก่ และแก่อย่างมีความสุข   


#เทศบาลเมืองลำพูน #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #บพท #pmua #wecitizens