[THE MAYOR]
สมนึก ธนเดชากุล
นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี

Start
32 views
36 mins read

“ผู้สูงอายุสำหรับผมไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังปัญญาของสังคม
เช่นนั้นแล้ว อย่าเรียกพวกเขาว่า ‘แก่’ เลย เรียก ‘ผู้เชี่ยวชาญชีวิต’ ดีกว่า”


ภารกิจดูแลสุขภาวะคนนนท์ กับเมืองที่พัฒนาแบบมีหัวใจ
สมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี


สมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรีคนปัจจุบัน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2488 ปัจจุบันอายุ 79 ปี

ชายผู้มักสวมแว่นกันแดด ไว้หนวด และคงมาดสุขุมแบบ “รุ่นใหญ่” ผู้นี้ คือหนึ่งในนักบริหารเมืองที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดในประเทศ จากการได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำงานถึง 9 สมัย ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากไล่เรียงนับตั้งแต่ปี 2527 ที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่งสมัยแรก นนทบุรีในวันนั้นกับวันนี้ ก็แตกต่างราวกับเป็นคนละเมือง

“จริงๆ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2517 ที่ผมเป็นสมาชิกสภาเทศบาล สังกัดกลุ่มพลังหนุ่ม นนทบุรีตอนนั้นยังเป็นบ้านนอกอยู่เลย ยากจะนึกภาพออกว่าเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้จะเติบโตมาถึงจุดที่เห็นในวันนี้” เขากล่าว

ไม่มีใครปฏิเสธความเจริญของเมืองนนทบุรีในวันนี้ หนึ่งในมหานครระดับประเทศ เมืองเศรษฐกิจที่พรั่งพร้อมด้วยสาธารณูปโภค สถาบันการศึกษา และตัวชี้วัดความเป็นศูนย์กลางความเจริญมากมาย

แต่ในอีกมุม เช่นเดียวกับขวบปีที่ล่วงเลยของสมนึก เทศบาลนครที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศแห่งนี้ ก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ ด้วยสัดส่วนผู้สูงอายุสูงเกือบ 27% มากที่สุดในประเทศเช่นกัน

และด้วยเหตุนี้เอง นโยบายพัฒนาเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังขยับไปสู่การออกแบบสิ่งแวดล้อมที่ตอบรับกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างจริงจัง ควบคู่กับการดูแลสุขภาวะของผู้คนทุกช่วงวัย ซึ่งไม่เพียงเปลี่ยนให้เมืองแห่งนี้น่าอยู่ขึ้นเป็นพิเศษ แต่ยังกลายเป็นต้นแบบเมืองผู้สูงอายุที่เทศบาลทั่วประเทศต้องมาดูงาน

ทั้งการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข การเปิดศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้สูงวัย ไปจนถึงการออกนโยบายเร่งด่วนรับมือสถานการณ์โรคระบาด (เทศบาลนครนนทบุรีเป็นแห่งแรกที่จัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนด้วยตัวเองเมื่อปี 2564) ล้วนสะท้อนมุมมองของสมนึกต่อการพัฒนาเมือง — หากเมืองจะน่าอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดีของประชาชนต้องมาก่อน

WeCitizen สนทนากับ สมนึก ธนเดชากุล ว่าด้วยเบื้องหลังการยกระดับนนทบุรีให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่จนผู้คนวัยเกษียณต้องอิจฉา และแนวทางการรับมือกับหลากความท้าทายครั้งใหม่ เมื่อเงื่อนไขทางสังคมและสภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

ในฐานะที่คุณบริหารเทศบาลนครนนทบุรีมายาวนานมาก นอกจากการได้เห็นภูมิทัศน์เมืองที่เปลี่ยนไป ในเชิงการทำงาน มีความแตกต่างใดที่มีนัยเป็นพิเศษบ้างไหม

ถ้าเทียบตั้งแต่ปี 2527 ที่ผมเริ่มทำงาน จนถึงปี 2568 วันนี้ มันก็ต้องมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดอยู่แล้ว แต่เพราะผมดูแลเมืองนี้มาตลอด เลยไม่ค่อยรู้สึกแปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่าไหร่

ด้วยความที่นนทบุรีเป็นเมืองปริมณฑล อยู่ใกล้กรุงเทพฯ แค่ 15-20 นาที แถมโรงงานอุตสาหกรรมก็น้อยกว่าหลายจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ เลยเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดท้ายความเจริญจากกรุงเทพฯ จะขยายมาถึงที่นี่ จากชุมชนเกษตรกรรม ค่อย ๆ เติบโตเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ย่านเศรษฐกิจ ไปจนถึงการเข้ามาของหน่วยงานราชการระดับประเทศ

ในเชิงนโยบาย นอกจากดูแลทุกข์สุขพื้นฐานของประชาชน โจทย์สำคัญของเราคือทำยังไงให้นนทบุรีรักษาเสน่ห์ความน่าอยู่แบบดั้งเดิมไว้ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรให้ต้นทุนจากอดีตเมืองเกษตรกรรม รวมถึงศักยภาพพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนในท้องถิ่น ซึ่งผมก็พยายามทำต่อเนื่องมาตลอด


ช่วงวัยที่เปลี่ยนไปของคุณ ส่งผลต่อการวางนโยบายเมืองบ้างไหม?
คุณจะบอกว่าผมแก่ใช่ไหม (หัวเราะ) อย่าเรียกว่าแก่เลย เรียกว่า “ผู้เชี่ยวชาญชีวิต” ดีกว่า ตอนตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุของเทศบาลในปี 2555 ผมเคยคิดจะตั้งชื่อว่า “ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญชีวิต” ด้วยซ้ำ เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้เต็มไปด้วยประสบการณ์หลากหลายด้าน แต่สุดท้ายกลัวคนไม่เข้าใจ เลยใช้ชื่อปัจจุบันแทน

ถ้าถามว่าการวางนโยบายเปลี่ยนไหม มันเปลี่ยนเพราะเมืองเปลี่ยนมากกว่า ตอนผมเริ่มทำงาน อายุสามสิบกว่า ๆ นนทบุรียังเป็นเมืองที่กำลังเติบโต สังคมก็เต็มไปด้วยคนวัยทำงาน เราเลยโฟกัสกับการทำให้เมืองเอื้อต่อคนกลุ่มนี้ ทั้งในแง่สาธารณูปโภคและการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เพราะถือเป็นต้นทุนสำคัญของเมือง

สมัยนั้น ผมเคยจัดแข่งว่ายน้ำข้ามเจ้าพระยา มีทั้งควาย หมูป่า และคนลงแข่งกัน แถมยังเชิญเขาทราย กาแล็กซี่ มาร่วมงานด้วย หรืออย่างการแข่งรถซาเล้ง การประกวดกลองยาวที่สุดในโลก เราเคยทำมาแล้ว เพราะผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างสีสันและประชาสัมพันธ์ของดีในพื้นที่ให้คนอื่นได้รู้จัก โดยปัจจุบันเราก็ยังคงทำประเด็นด้านวัฒนธรรมนี้อยู่ เพียงแต่ก็ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาวะของผู้คนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

อะไรทำให้นนทบุรีเป็นเทศบาลนครที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศ

ผมว่าจริง ๆ เมืองนนท์มันสะท้อนภาพสังคมของทั้งประเทศเลยนะ เพราะเราเป็นเทศบาลนครที่มีประชากรมากที่สุด สัดส่วนผู้สูงอายุก็เลยต้องมากตามไปด้วย

แต่อีกอย่างที่ผมต้องให้เครดิตทีมงานเทศบาลทุกคนเลยคือ เมืองนนท์เราวางระบบดูแลผู้สูงอายุไว้ครบถ้วนมาก ๆ จนเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบให้หลาย ๆ เมือง เรามีศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน มีทีมดูแลผู้สูงอายุเชิงรุก ลงพื้นที่ครบทั้ง 93 ชุมชน รวมถึงศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ให้บริการครบวงจร ทั้งกิจกรรม สันทนาการ ไปจนถึงดูแลสุขภาพกายใจ ปัจจุบันเรามีสมาชิกในศูนย์นี้ถึง 8,000 คน

จริง ๆ สิ่งเหล่านี้เราทำขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงอายุในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นทุกปีนะ แต่พอทำไปทำมา กลายเป็นว่ามีผู้สูงวัยจากที่อื่นอยากมาใช้บริการด้วย แม้จะไม่ใช่สิ่งที่เราตั้งใจแต่แรก แต่ถ้าลองไปถามดู หลายคนก็บอกเลยว่า “ถ้าเลือกได้ อยากมาเกษียณที่เมืองนนท์”

ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุก่อตั้งเมื่อปี 2555 ซึ่งย้อนกลับไปในเวลานั้น สังคมเรายังไม่ได้พูดถึงปัญหาสังคมสูงวัยมากเท่าไหร่นัก อะไรทำให้เทศบาลฯ ลงทุนทำศูนย์นี้

แนวโน้มสังคมสูงวัยในบ้านเรา มันเริ่มเห็นเค้าลางมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นสักพักแล้ว และถ้ามองนนทบุรีดี ๆ เราคือเมืองอันดับต้น ๆ ที่คนเลือกมาอยู่อาศัย เพราะใกล้กรุงเทพฯ คนวัยทำงานจำนวนมากซื้อบ้านอยู่ที่นี่ แล้วก็ชวนพ่อแม่มาอยู่ด้วย หรือไม่ก็ปลูกบ้านเพื่อเกษียณกันเลย ไหนจะคนเมืองนนท์ดั้งเดิมอีก

มันเลยเป็นโจทย์ของเทศบาลว่า เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกวัยมันต้องเป็นแบบไหน คนวัยทำงานกับวัยเด็กเขามีพื้นที่ทางสังคม มีที่ผ่อนคลายของเขาอยู่แล้ว แต่ผู้สูงวัยล่ะ? ถ้าให้เขาอยู่แต่บ้าน มันก็ยิ่งทำให้เหงา ยิ่งป่วยหนักเข้าไปอีก

เราวางแผนกันมาตั้งแต่ปี 2552 จนได้พื้นที่ด้านหลังศูนย์บริการสาธารณสุข 6 มาสร้างอาคาร มีห้องเรียนรองรับกิจกรรมตลอดทั้งวัน อยากมาออกกำลังกาย ร้องเพลง เต้นลีลาศ วาดรูป โยคะ เล่นดนตรี เรามีครูอาสาสมัครมาทำโปรแกรมให้เลยนะ รวมถึงมีทีมให้คำปรึกษาด้านสุขภาพด้วย ที่สำคัญคือ เขาได้มาเจอเพื่อน มาใช้ชีวิต มีความสุขตรงนี้

และพอเราขยายไปถึงการดูแลสุขภาพเชิงรุก เราก็คิดต่อว่า จะทำยังไงให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในสังคม ทุกปีเราจะจัดงานเชิดชูเกียรติ มอบโล่ให้กับคนที่อายุครบ 100 ปี เพื่อให้เขาภูมิใจ เทศบาลเรามองว่าผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระนะ แต่เขาคือ “คลังปัญญา” ของเมือง ผมถึงได้ชอบเรียกพวกเขาว่า “ผู้เชี่ยวชาญชีวิต” ไง



โครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดที่เทศบาลร่วมกับ บพท. จะเข้ามาเติมเต็มบริการด้านสาธารณสุขของเทศบาลนครนนทบุรีได้อย่างไร  

อย่างที่บอกว่าเราให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุมาก เรามีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ดูแลเรื่องสุขภาพใจและกิจกรรมเชิงสังคมเป็นหลัก ขณะเดียวกัน เราก็มีศูนย์บริการสาธารณสุข 11 แห่ง ที่ให้บริการครอบคลุมทั้ง 5 ตำบลในเขตเทศบาล และหน่วยบริการด้านสุขภาพเชิงรุกที่ลงพื้นที่ชุมชน

แต่แค่นั้นยังไม่พอ คุณหมอปิยะ ฟองศรันย์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ เห็นว่าการดูแลสุขภาพประชาชนทุกวัยในเขตเทศบาล ไม่ควรเริ่มเมื่อเขาป่วยแล้วเท่านั้น แต่ควรดูแลตั้งแต่ต้นทาง จึงก่อตั้งคลินิกเวชศาสตร์วิถีชีวิตนำร่อง (Lifestyle Medicine : LM) ขึ้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 6 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้าน LM ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ โภชนาการ และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้และใส่ใจสุขภาพตั้งแต่ต้นทาง

เทศบาลจึงมองว่าเราควรบรรจุบริการนี้ลงในแอปพลิเคชัน “นครนนท์” ซึ่งเป็น e-service ด้านธุรกรรมต่าง ๆ ให้กับคนในเขตเทศบาล แต่เราก็พบข้อจำกัดบางประการที่อาจทำให้แผน LM ยังไม่สมบูรณ์ เช่น เรายังขาดฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงฉุกเฉิน และยังมีช่องว่างในระบบการแพทย์ฉุกเฉินกับการระบุตำแหน่งผู้สูงวัยในเขตเทศบาล งานวิจัยที่เราทำร่วมกับ บพท. จึงเข้ามาช่วยเติมเต็มในจุดนี้ เป็นเหมือนการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้บริการของเราสะดวกและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น


การดูแลสุขภาพประชาชนตั้งแต่ต้นทางจะทำให้เมืองนนท์มีความน่าอยู่อย่างไร
ถ้าผู้สูงอายุส่วนใหญ่แข็งแรง มีกิจกรรมทำ และมีพื้นที่ทางสังคม สิ่งนี้จะช่วยลดภาระให้กับลูกหลานหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้มาก ที่สำคัญคือช่วยส่งเสริมบรรยากาศโดยรวมของชุมชนและเมืองในเชิงบวก

แต่นั่นล่ะ แค่นั้นยังไม่พอ เทศบาลก็พยายามพัฒนาด้านอื่น ๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาสวนสาธารณะ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และที่สำคัญคือการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการดูแลและพัฒนาเมือง

เราทำตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น ชวนชาวบ้านมาตัดกาฝากและวัชพืชของต้นไม้ใหญ่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อแลกกับไข่ไก่ รับซื้อขยะจากชาวบ้านเพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะ ลดต้นทุนการกำจัด ขยายโครงการปุ๋ยชีวภาพที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ริเริ่มไว้ตั้งแต่ปี 2520 ไปจนถึงการสร้างแนวร่วมอนุรักษ์สวนทุเรียน ซึ่งเป็น “ของดี” ของเมืองนนท์ รวมถึงกลไกให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากธุรกิจท่องเที่ยวของเมือง โดยเฉพาะการเที่ยวสวนทุเรียน หรือนั่งเรือล่องลำคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา

ล่าสุด เราพยายามปรับปรุงศาลากลางเก่าตรงท่าน้ำนนท์ ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ที่สวยมาก ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์และส่งเสริมการท่องเที่ยว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับหน่วยงานที่ยังใช้พื้นที่อยู่ หากปรับปรุงสำเร็จ ที่นี่จะกลายเป็นจุดท่องเที่ยวและเป็นแม่เหล็กทางเศรษฐกิจของเมืองได้อีกมาก

คำถามสุดท้าย นายกฯ มองภาพฝันของเทศบาลนครนนทบุรีในอนาคตอย่างไรครับ

ผมมองเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว คือการทำให้เทศบาลเป็นศูนย์กลางธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงวัย ตอนนี้เราเป็นเมืองต้นแบบการดูแลผู้สูงวัยแล้ว แต่เราจะพัฒนาให้สิ่งที่ผู้คนมองว่าเป็น “ปัญหา” ให้กลายมาเป็น “โอกาส” ทางเศรษฐกิจ ทำให้เมืองมีพื้นที่ที่คุณสามารถนำพ่อแม่มาฝากได้อย่างสบายใจ มี Wellness Center ที่ดูแลคุณภาพชีวิตรอบด้าน จะเจ็บป่วย พิการ มาหาเรา เรามีคนดูแลให้พร้อม ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็สามารถลงทุนกับการบริการด้านสุขภาพ ด้านสันทนาการ ไปจนถึงการออกแบบเทคโนโลยีด้านสิ่งอำนวยความสะดวกควบคู่กันไป กลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางเศรษฐกิจใหม่ของเมือง

ในเมื่อเราปฏิเสธการมาถึงของสังคมสูงวัยไม่ได้ เราก็ควรหาวิธีอยู่กับสิ่งนี้ให้ยั่งยืน และสร้างประโยชน์กับผู้คนให้ได้มากที่สุด




#เทศบาลนครนนท์บุรี #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #บพท #pmua #wecitizens