พลังคน พลังโคม
ลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์
แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูน
เพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 – นั่นล่ะ แม้เธอจะไม่ใช่ “คนใน” แต่เธอเข้าใจอินไซด์ของคนลำพูนเป็นอย่างดี
“เทศบาลเมืองลำพูนมีแผนในการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ความท้าทายสำคัญคือ เขาแทบไม่มีคนรุ่นใหม่ที่มาเป็นฟันเฟืองร่วมขับเคลื่อนเลย” ดร.สุดารัตน์ กล่าว
เมื่อได้รับโจทย์จากบพท. และเทศบาลเมืองลำพูนให้ทำโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด เธอพบว่าความท้าทายไม่ได้อยู่แค่การรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลเมืองเพื่อหาวิธียกระดับเศรษฐกิจและนิเวศของเมืองน่าอยู่ แต่ยังรวมถึงการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในการพัฒนาเมือง
“อย่างที่นายกบุ่น (ประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน) บอก ลำพูนมีโคมที่เป็นสัญลักษณ์ และมีผู้คนที่รักเมืองเมืองนี้อยู่แล้ว คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเมือง” ดร.สุดารัตน์กล่าว
“เพราะเป้าหมายของเราคือการทำให้ลำพูนเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ให้โครงการวิจัยลุล่วง”
WeCitizens พูดคุยกับ ดร.สุดารัตน์ ถึงที่มาที่ไปของโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและการพัฒนานิเวศเมืองน่าอยู่สำหรับทุกช่วงวัย ด้วยโมเดลเทศกาลบนฐานวัฒนธรรมเมืองเก่าลำพูน ที่เธอตั้งใจให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็น “สะพาน” เชื่อมคนทุกวัยให้เข้ามาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเมืองลำพูน
เข้าใจว่างานวิจัยนี้เป็นการต่อยอดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนลำพูน ผ่านเทศกาลต่าง ๆ ของเมือง จึงอยากทราบว่าแล้วงานวิจัยนี้จะมาแก้ปัญหาด้านช่องว่างระหว่างวัยได้อย่างไร
เพราะปัญหาสังคมสูงวัยที่เทศบาลเมืองลำพูนกำลังเผชิญอยู่ คือเรื่องเดียวกับการที่เมืองขาดแคลนคนรุ่นใหม่ แต่จริง ๆ ลำพูนไม่ได้ขาดแคลนคนรุ่นใหม่นะ เมืองแค่ไม่มีพื้นที่กลางให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงานด้วยกันต่างหาก
หัวใจของงานวิจัยชิ้นนี้จึงอยู่ที่การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้คนลำพูนทุกวัยเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งเราเห็นว่า “เทศกาลโคมแสนดวง” เป็นเวทีของการประสานความร่วมมือที่ดี จากที่เทศบาลฯ วางรากฐานไว้ว่าจะเป็นเครื่องมือสร้างอาชีพให้กับผู้คนในชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาสังคมสูงวัยและเศรษฐกิจ เราก็มาคิดต่อว่าแล้วจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมได้บ้าง ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นตรงกันว่าการเพิ่มมิติด้านความคิดสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับการสร้างกลไกความร่วมมือ คือสิ่งจำเป็น
เรามีวิธีเติมมิติด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับเมืองอย่างไร
เราได้พูดคุยและทำแบบสอบถามกับเครือข่ายภาคประชาชนในเขตเทศบาลหลายครั้ง และพบว่าเราไม่สามารถนำตัวชี้วัดด้าน “เมืองสร้างสรรค์” ตามกรอบของประเทศในยุโรปมาใช้ได้ คนลำพูนไม่ได้ต้องการโอเปราเฮาส์อะไรแบบนั้น แต่เขาต้องการให้วิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่สอดรับกับศิลปวัฒนธรรมยังคงดำเนินต่อไป ขอแค่พื้นที่กลางให้คนทุกวัยสามารถออกมาแลกเปลี่ยนความคิด นำเสนอผลงาน หรือหาวิธีต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ เพราะอันที่จริงลำพูนไม่ได้ขาดองค์ความรู้อะไรเลย แต่สิ่งที่ขาดคือพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามาทำงานร่วมกัน
คนรุ่นใหม่ในลำพูนคือใคร
ผู้ประกอบการ คนทำงานราชการ กลุ่มสภาเด็กและเยาวชนของเทศบาลฯ แต่ที่พิเศษกว่าที่อื่นก็คือ ลำพูนมีการรวมตัวกันของคนทำงานสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองในนาม “ลำพูน ซิตี้ แลป” (Lamphun City Lab) ที่ผ่านมา กลุ่มนี้ได้ทำอิเวนต์ใหญ่ของเมืองอย่าง River Festival ที่เป็นโชว์แสง สี เสียง ริมแม่น้ำกวงในช่วงเทศกาลยี่เป็งไปแล้วด้วย หรือการทำฟอรัมชวนผู้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อหาทางออกให้อาคารศาลากลางหลังเก่าว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นอะไรต่อไป เช่นเดียวกับกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนฯ เราคิดว่าสองกลุ่มนี้คือ Key Person ที่เขาแอ็กทิฟอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา เขาจะทำในพื้นที่ของเขาเองอย่างมีข้อจำกัด เราจึงตั้งใจหาวิธีการเชื่อมร้อยการทำงานของพวกเขาเข้าด้วยกัน ซึ่งหมายรวมถึงการทำงานร่วมกับเทศบาลฯ ด้วย
คุณหาวิธีเชื่อมโยงการทำงานระหว่างรัฐกับคนรุ่นใหม่อย่างไร
เราจะเดิน 3 เส้นเรื่องพร้อมกัน หนึ่งคือจะต้องให้คนลำพูนทุกคนรู้ถึงหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาเมืองลำพูนร่วมกัน โดยคีย์เวิร์ดอยู่ที่ “การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเพื่อพัฒนานิเวศเมืองแห่งการเรียนรู้ให้กับคนทุกช่วงวัย โดยใช้โมเดลเทศกาลบนฐานวัฒนธรรม” เมื่อเขาเห็นภาพตรงกัน มันจะไปต่อได้
เช่นนั้นแล้วเราจึงได้จัดเวทีสาธารณะที่ดึงให้เทศบาลฯ มารับฟังเสียงของประชาชน “Lamphun Talk เปิดมุมใหม่…ลำพูนเมืองเล็กที่ยิ่งใหญ่” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าเรามีของดีอะไร มีศักยภาพอยู่ตรงไหน และที่สำคัญคือการมองเห็นภาพและเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งเราได้ผ่านจุดนี้มาอย่างราบรื่นแล้ว
แล้วจากนั้นอย่างไรต่อครับ
เส้นเรื่องที่ 2 คือการหนุนเสริมศักยภาพคนในพื้นที่ และการตั้งพื้นที่กลางในการทำงานร่วมกัน โดยนายกบุ่นก็ได้เคาะมาให้แล้วว่าจะใช้พิพิธภัณฑ์เมืองลำพูน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเมือง พื้นที่นั้นจะมีการนำเสนอ City Data ที่เราได้รวบรวมและสังเคราะห์มา มีการนำเสนอวิสัยทัศน์ของเมืองอย่างชัดเจน รวมถึงนิทรรศการที่บอกเล่าความเป็นลำพูนผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งนั่นคือด้านกายภาพ
แต่หัวใจจริง ๆ ของการมีพื้นที่นี้คือการจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองลำพูนให้น่าอยู่และชาญฉลาด” ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาชนทุกวัย สิ่งนี้คือกลไกสำคัญที่จะเชื่อมการทำงานระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชนได้
เรามีภาพที่ตรงกันแล้ว มีพื้นที่แล้ว และเริ่มมีกลไกในการทำงานร่วมกันแล้ว ปลายทางจะเป็นอย่างไรต่อไป
นี่คือเส้นเรื่องสุดท้าย เราต้องสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองที่รวบรวมศักยภาพของเมืองทั้งหมด พร้อมสังเคราะห์ข้อมูลส่งกลับไปยังเทศบาลฯ เพื่อให้ใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางนโยบายพัฒนาเมืองในอนาคต ข้อมูลชุดนี้เป็นผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองภาคประชาชน และงานวิจัยของเรานอกจากการพัฒนาข้อมูล เทศบาลฯ เองก็ต้องการกลไกที่ช่วยเสริมศักยภาพในการทำงานเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นจุดที่คณะกรรมการฯ เข้ามามีบทบาทสำคัญ นอกจากการร่วมพัฒนาข้อมูลแล้ว คณะกรรมการฯ ยังช่วยออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ในเมือง หรือการสร้างมิติใหม่ ๆ ให้กับงานเทศกาลของเมือง เพราะถึงแม้เทศบาลฯ จะมีเจตนาดีในการพัฒนาเมือง แต่ข้อจำกัดของระบบราชการทำให้ขาดความยืดหยุ่น ดังนั้น การมีแผนที่พัฒนาขึ้นจากมุมมองภาคประชาชน และการเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนคนทุกวัยเข้ามาร่วมทำงานกับเทศบาลฯ จึงเป็นโซลูชันที่ช่วยให้เมืองพัฒนาไปในทิศทางที่ตอบโจทย์คนลำพูนได้จริง
นั่นคือการได้มาซึ่งตัวแทนภาคประชาชนในการทำงานร่วมกับรัฐ
เป็นตัวแทนเมืองน่าจะชัดเจนกว่า งานครั้งนี้ถ้ามันจะสำเร็จนะ แค่หาวิธีจูนให้ประชาชนกับรัฐทำงานร่วมกันได้ ลำพูนมีต้นทุนที่ดีพร้อมและเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ถ้าประชาชนเข้ามาช่วยเติมความคิดสร้างสรรค์ มันจะทำให้ของดีที่เมืองมีโดดเด่นและเป็นที่ดึงดูดกว่านี้
ผลลัพธ์ที่เราตั้งใจไว้คือ พอเมืองมันมีพื้นที่และมีความครีเอทีฟขึ้น มันก็จะช่วยดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่เลือกไปทำงานต่างถิ่นกลับมาเห็นโอกาสในการลงทุน หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ให้กับเมือง เมื่อบวกรวมกับความพยายามของเทศบาลฯ ที่จะใช้งานเทศกาลเมืองส่งเสริมอาชีพผู้คน มันก็ส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจ และการบรรเทาปัญหาสังคมสูงวัย สำหรับเรา ลำพูนเป็นเมืองที่น่าอยู่อยู่แล้ว ถ้าเศรษฐกิจดี และคนทุกวัยสามารถเข้าถึงพื้นที่ในการนำเสนอศักยภาพของตัวเอง ลำพูนจะน่าอยู่ขึ้นกว่านี้อีกเยอะ
#เทศบาลเมืองลำพูน #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #มหาวิทยาลัยมหาสารคาม #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด #บพท #pmua #wecitizens
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…
“ก่อนหน้านี้เราเป็นสถาปนิก และกระบวนกรจัดประชุมสัมมนาด้านวิชาการ โดยหลัก ๆ จะอยู่เชียงใหม่ ช่วงปี 2562 เรากลับลำพูนและเห็นเทศกาล River Festival Lamphun ริมแม่น้ำกวง รู้สึกตื่นตามาก ๆ ไม่เคยคิดว่าเราจะได้เห็นโชว์แสง…