[The Researcher]รศ. ดร.สมพร คุณวิชิต

จากแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพสู่เป้าหมาย Healthy City

ระบบติดตามผลสุขภาพเวชศาสตร์วิถีชีวิตนครนนท์
จะทำให้การดูแลสุขภาพของคนนนท์เป็นเรื่องง่าย และมีแรงจูงใจ”


WeCitizens สนทนากับ รศ. ดร.สมพร คุณวิชิต อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงบทบาทในการขับเคลื่อนงานวิจัย “การบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดและการยกระดับบริการสาธารณะด้านสุขภาวะสำหรับผู้สูงวัยในพื้นที่เทศบาลนครนนทบุรี”

จากนักวิจัยชั้นแนวหน้าด้านการจัดการภัยพิบัติ และการศึกษา Resilient City (ดุษฎีบัณฑิตสาขา Public Management & Emergency Management จาก University of North Texas สหรัฐอเมริกา) อะไรทำให้นักวิจัยผู้นี้ หันมาสนใจประเด็นด้าน Healthy City ผ่านความร่วมมือกับเทศบาลนครนนทบุรี ยกระดับให้เป็นเมืองต้นแบบสุขภาวะของผู้สูงวัย ไปหาคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

(Footnote)
*รศ. ดร.สมพร คุณวิชิต ยังเป็นหัวหน้าโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด เทศบาลนครปากเกร็ด (นนทบุรี) และเทศบาลเมืองทุ่งสง (นครศรีธรรมราช) ที่พุ่งเป้าพัฒนากลไกของเมืองให้พร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตามกรอบ Resilient City ภายใต้การสนับสนุนของ บพท. (ปี 2567-2568) ด้วย


พื้นเพของอาจารย์คือการศึกษาวิจัยด้าน Resilient City ซึ่งเป็นงานแนวสิ่งแวดล้อมมากกว่า เลยสนใจว่าอาจารย์มาทำโครงการที่เกี่ยวกับเมืองสุขภาวะของผู้สูงอายุในโครงการนี้ได้อย่างไร
เมื่อกลางปี 2567 ผมได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปที่จัดโดย บพท. ร่วมกับสมาคมเทศบาลนครและเมือง ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ เวิร์กช็อปนี้มีเป้าหมายเพื่อจับคู่นักวิจัยกับเทศบาลต่าง ๆ โดยอิงจากกรอบการทำงานและความเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับโจทย์การพัฒนาเมืองของแต่ละพื้นที่


แม้งานวิจัยหลักของผมจะอยู่ในประเด็นเมืองที่มีความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ (Resilient City) แต่ผมก็สนใจเรื่องเมืองสุขภาวะ หรือ Healthy City มาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ (MPA) ที่ผมดูแลอยู่ ก็กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองผู้สูงวัยด้วย ทำให้ผมมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและกรอบการทำงานในประเด็นนี้


เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมจากเทศบาลนครนนทบุรีในงานเวิร์กช็อป และพบว่าทางเทศบาลฯ มีเป้าหมายจะพัฒนาเมืองให้รองรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงยกระดับเมืองให้มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงควบคู่กันไป ผมจึงเห็นศักยภาพของการทำงานร่วมกัน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจับมือระหว่างผมกับเทศบาลนครนนทบุรี เพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองให้มีทั้งความยืดหยุ่นและสุขภาวะที่ยั่งยืน


โครงการนี้มีกระบวนการขับเคลื่อนอย่างไรครับ
เป้าหมายของเทศบาลนครนนทบุรีคือการเป็นเมืองต้นแบบสุขภาวะของผู้สูงวัย เนื่องจากเป็นเมืองที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุดในบรรดาเทศบาลนครทั่วประเทศ โดยนายแพทย์ปิยะ ฟองศรัณย์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ เทศบาลนครนนทบุรี เป็นผู้นำเครื่องมือที่ชื่อ “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” (Lifestyle Medicine: LM) มาใช้


LM คือแนวทางการดูแลสุขภาพตั้งแต่ต้นทาง ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เสาหลักของ LM มีด้วยกัน 6 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การจัดการความเครียด การควบคุมน้ำหนัก การนอนหลับอย่างเพียงพอ การหลีกเลี่ยงสารเสพติด และการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว


เสาหลักเหล่านี้จะช่วยป้องกันโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable diseases) เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน อัลไซเมอร์ ไปจนถึงมะเร็ง ซึ่งล้วนเป็นผลจากพฤติกรรมการดำรงชีวิต และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประเทศไทย โดยเทศบาลนครนนทบุรียังเป็นเทศบาลแห่งแรกของประเทศที่นำศาสตร์นี้มาใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชนในระดับนโยบายเมือง


แม้ LM จะเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องมีการเรียนรู้และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของกองการแพทย์ เพื่อให้สามารถลงพื้นที่ สื่อสารความรู้ และสร้างความร่วมมือกับประชาชนในเขตเทศบาล


เริ่มต้นจากสร้างความเข้าใจในบุคลากรก่อนใช่ไหมครับ
ใช่ครับ กองการแพทย์เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับศูนย์เวชศาสตร์วิถีชีวิตอาเซียน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของไทยในการอบรมเจ้าหน้าที่ให้กลายเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญเบื้องต้น

หลังจากอบรมเสร็จ ทีมจะถูกแบ่งตามพื้นที่รับผิดชอบ โดยเทศบาลนครนนทบุรีมีศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 11 แห่ง ครอบคลุม 93 ชุมชน แต่ละศูนย์จะดูแลชุมชนของตนเอง มีหน้าที่ 1) ถ่ายทอดความรู้เรื่องเวชศาสตร์วิถีชีวิต 2) อบรมวิธีปฏิบัติตามหลัก 6 เสาของ LM และ 3) ติดตามผลการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลลัพธ์


นอกจากนี้ เทศบาลฯ ยังจัดอบรมให้ประชาชนโดยตรง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดูแลสุขภาพตนเอง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้าน LM โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนเสนอแนวคิดในการจัดทำ “โครงการนำร่อง” ส่งเสริมสุขภาพด้วยกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกลไกต้นทางของการขับเคลื่อนสุขภาวะอย่างยั่งยืน


แล้วบทบาทของอาจารย์ในโครงการนี้ล่ะครับ
ผมเริ่มต้นไปพร้อมกับเทศบาลฯ ตั้งแต่ลงพื้นที่ เก็บข้อมูลเพื่อทำ City Data ออกแบบแบบประเมินความเข้าใจของภาคประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้เครือข่ายชาวบ้านจากทั้ง 93 ชุมชนเสนอแนวทางต่อยอด LM ซึ่ง บพท. ก็จะสนับสนุนงบประมาณบางส่วนร่วมกับเทศบาลฯ


อีกหนึ่งงานสำคัญคือการพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามและประเมินผลทางสุขภาพของผู้ร่วมโครงการ ซึ่งสอดรับกับแนวทาง Smart City ที่เทศบาลฯ กำลังขับเคลื่อนอยู่


แอปพลิเคชันติดตามสุขภาพประชาชนในกรอบ LM หรือครับ
ใช่ครับ หลังจากที่ทีมกองการแพทย์ลงพื้นที่ให้ความรู้และกระตุ้นกิจกรรมตามแนวทาง LM ทางโครงการวิจัยของเราก็พัฒนาแพลตฟอร์มระบบติดตามผลสุขภาพเวชศาสตร์วิถีชีวิตนครนนท์ (Lifestyle Medicine Application) หรือชื่อย่อว่า LM-Nont โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้ 2 ช่องทาง คือ 1) ช่องทาง Line OA โดย สแกน QR Code โดยตรงหรือทาง ID แล้วพิมพ์ว่า @lmnont และ 2) แอปพลิเคชัน ‘นครนนท์’


แพลตฟอร์มนี้ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานง่าย โดยประชาชนสามารถทำการสมัครแล้วกรอกข้อมูลส่วนตัว เมื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถทำการกรอกข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิต 6 ด้านตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต โดยตัวแพลตฟอร์มสามารถบันทึกค่า BMI และค่า BCA ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการวัดด้วยเครื่องวัดองค์ประกอบร่างกาย (สามารถใช้บริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลนครนนทบุรี – ผู้เรียบเรียง) รวมทั้งผู้ใช้งานสามารถดูกราฟเปรียบเทียบย้อนหลังได้ ทั้งกราฟเปรียบเทียบค่า BMI กราฟเปรียบเทียบค่า BCA และกราฟเปรียบเทียบการประเมินวิถีชีวิต 6 ด้าน เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

รวมทั้งยังมีช่องทางสำหรับการให้คำแนะนำสุขภาพโดยตรง ซึ่งไม่เพียงจะช่วยยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในพื้นที่เทศบาลนครนนทบุรี แต่ยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาใส่ใจในสุขภาพของตัวเองมากยิ่งขึ้น


กล่าวโดยสรุป นี่คือการประเมินผล LM ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับสุขภาวะของผู้คนใช่ไหมครับ
ใช่ครับ ล่าสุดเทศบาลฯ ยังได้จัดตั้ง “คลินิกเวชศาสตร์วิถีชีวิต” ภายในศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 6 สนามบินน้ำ พร้อมทีมแพทย์ที่ให้คำปรึกษาด้าน LM โดยเฉพาะ และด้วยข้อมูลที่เรารวบรวมไว้ ประกอบกับแอปพลิเคชันนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พาเทศบาลนครนนทบุรีก้าวขึ้นสู่การเป็นเมืองต้นแบบสุขภาวะผู้สูงวัยแห่งแรกของประเทศไทย และต่อยอดสู่เป้าหมาย Healthy City ได้ในอนาคต


อะไรคือข้อจำกัดหรือความท้าทายของโครงการนี้
เรายังต้องลงรายละเอียดในระบบจัดเก็บข้อมูลให้มากขึ้น เช่น เมืองมีโครงการสุขภาพอะไรบ้าง ประชาชนดูแลสุขภาพกันอย่างไร มีกลไกในการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัยอย่างไร ซึ่งก็ต้องแยกย่อยตามแต่ละกลุ่มโรค เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน ฯลฯ ที่มีวิธีดูแลไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ยังต้องมีการเก็บและจัดการข้อมูลเพิ่มเติมอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาปรับใช้ และเขียนเป็นโรดแมปเป็นสารตั้งต้นในการขับเคลื่อนเทศบาลนครนนทบุรีสู่ Healthy City


แล้วจากที่เริ่มโครงการนี้ พอมองเห็นศักยภาพของเมืองนนทบุรีที่จะเป็น Healthy City มากน้อยแค่ไหนครับ
ถ้าไม่นับกลไกหรือแพลตฟอร์มที่เรากำลังพัฒนา ด้านกายภาพนนทบุรีมีศูนย์บริการสาธารณสุขถึง 11 แห่ง ที่มีมาตรฐานไม่เป็นรองใคร เมืองยังมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ตอบโจทย์กิจกรรมผู้สูงวัยซึ่งดีมาก ๆ ทั้งยังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ พื้นที่สีเขียว พื้นที่ริมแม่น้ำให้ประชาชนได้พักผ่อนหรือออกกำลังกาย


อย่างไรก็ตาม นนทบุรียังต้องขยายพื้นที่เหล่านี้ให้ครอบคลุมกับผู้คนให้ได้มากที่สุด รวมถึงการเสริมกลไกสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ผมเองก็ได้หารือกับท่านนายกฯ (สมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี) เพื่อวางแนวทางขับเคลื่อนระยะยาวต่อไป

#เทศบาลนครนนทบุรี #มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ #บพท #pmua #CIAP #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

Wecitizens Editor

Recent Posts

[The Insider]<br />พัชรี แซมสนธ์

“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…

2 weeks ago

[The Insider]<br />พรทิพย์ จันทร์ตระกูล

“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…

2 weeks ago

[The Insider]<br />ณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล

“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…

3 weeks ago

[The Insider]<br />นนทพัฒ ถปะติวงศ์

“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…

3 weeks ago

[The Citizens]<br />ชวนพิศ สุริยวงค์

“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว  ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…

3 weeks ago

[The Citizens]<br />กาญจนา ใจปา และพิทักษ์พงศ์ เชอมือ

“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…

3 weeks ago