“สืบเนื่องจากงานวิจัยเมื่อปีก่อน (แนวทางการพัฒนาเมืองสระบุรีสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ โดยคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากทุนวิจัยของบพท. ปี 2566) จนมาถึงงานวิจัยการพัฒนาฟื้นฟูศูนย์กลางพาณิชยกรรมเมืองสระบุรีเพื่อรับมือกับสภาวะเมืองหดตัวในปีนี้ ได้สำรวจพื้นที่เทศบาลเมืองสระบุรี ว่าพื้นที่ตรงไหนมีศักยภาพ ใครใช้ประโยชน์บ้าง ก็จะมีโครงการมารองรับการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้เพื่อตอบโจทย์ให้คนยังอยากใช้ชีวิตอยู่ในเมือง รู้สึกว่าเมืองตอบโจทย์การใช้ชีวิต ด้านสุขภาพ ด้านการประกอบอาชีพ หรือการมีอนาคตที่ดีกับเมือง อยากลงหลักปักฐาน มากกว่าไปทำงานในกรุงเทพฯ คือสระบุรีจะมีรถไฟความเร็วสูง มีระบบคมนาคมขนส่ง ก็เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง การไปมาสะดวก คนมาสระบุรีมากขึ้น ขณะเดียวกัน คนก็จะออกจากสระบุรีง่ายขึ้น
พื้นที่ที่มีศักยภาพ อย่างอาคารวไลยอลงกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ประจำจังหวัดสระบุรี เป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ จัดสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กหญิง พร้อมด้วยเครื่องใช้ และพระราชทานที่ดิน 3 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน มีถนนติดต่อ 3 ด้าน ก่อสร้างตามรูปแบบของกระทรวงธรรมการเป็นตึกชั้นเดียว มีห้องเรียนใหญ่ 1 ห้อง ห้องเรียนเล็ก 4 ห้อง พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนสหายหญิง’ ซึ่งทางสกร. ได้จัดงานรำลึก 100 ปี อาคารวไลยอลงกรณ์เมื่อปี 2566 อาคารเองอยู่ในสภาพที่ควรต้องพัฒนาปรับปรุง ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงการตกผลึกร่วมกันระหว่างเจ้าของพื้นที่อย่างกรมธนารักษ์ สกร. ทางทีมวิจัยเสนอแนะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย และทุกความต้องการ ทางเทศบาลฯ ก็มีข้อเสนอไปที่จุฬาฯ ให้จัดคอร์สตามคณะวิชาที่เขาเปิดสอน เราก็สร้างทั้งระบบออนไลน์และออนไซต์ก็ได้ ให้ประชาชนมาลงคอร์สเรียนเพิ่มเติม ไม่ใช่คอร์สทั่วไปเช่นคอร์สที่ส่วนราชการจัดเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ควรเป็นคอร์สที่เป็นเรื่องเฉพาะ เพราะต้องการยกระดับของแต่ละกลุ่มขึ้นมาจริง ๆ อาจจะเป็นกลุ่มนักเรียนที่ต้องการเรียนดนตรีหรืออะไรที่นอกเหนือจากภาคปกติ คือให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ที่อยากมาเรียน
ขณะเดียวกัน ก็มีอาคารหอประชุมอบจ. เป็นหอประชุมจริง ๆ ใช้ประชุมอย่างเดียว ซึ่งหลังจากที่มันตอบโจทย์อย่างอื่นไม่ได้แล้ว กลายเป็นถูกทิ้งร้าง แต่จริง ๆ พื้นที่มีศักยภาพ มีที่จอดรถ มีการเชื่อมโยงกับเมือง กับศูนย์กลางเศรษฐกิจ การคมนาคม การศึกษา ถ้าปรับเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่เมืองขาดไป เช่น ความมีศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองไม่ค่อยได้ขับเคลื่อนเพราะมีหน่วยงานที่ขับเคลื่อนแต่อาจจะจำกัดด้วยเรื่องของพื้นที่ เราก็ขอพื้นที่นี้จากอบจ. จากกรมธนารักษ์ ตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมการออกแบบเป็นศูนย์ที่มีการใช้งานหลากหลาย เช่น จัดคอนเสิร์ต แสดงสินค้า การจัดประชุมที่ไม่ใหญ่มาก 200-300 คน การจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ของสระบุรีไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การแสดงนวัตกรรมต่าง ๆ การจัดโชว์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย งานแสดงศิลปะ เพราะพื้นที่ทางศิลปะของสระบุรีไม่มี คนสระบุรีเองอยากมีพื้นที่แสดงฝีมือ แสดงผลงาน แสดงศิลปะ แสดงความคิดเห็น แล้วก็เป็นพื้นที่ที่คนสนใจสามารถเข้าถึงได้ง่าย นั่งรถเมล์มาแล้วเดินไป 200 เมตรถึงละ มีรถบริการรับส่ง เพื่อให้คนเข้ามา ถ้าเราสามารถจัดกิจกรรมเหล่านี้ได้ ก็จะเรียกร้องให้คนเข้ามาสู่เมืองมากขึ้น คนในเมืองก็มีความมั่นใจว่าเขาจะลงหลักปักฐานได้ ยังสามารถประกอบธุรกิจได้ นี่ก็เป็นแนวคิดว่าเมืองต้องมีกิจกรรมต่อเนื่องตลอด มีความเคลื่อนไหวต่าง ๆ
อย่างช่วงนี้ที่เราจัดเทศกาลตรุษจีนปากเพรียว มีติดโคมไฟตามถนน ชวนคนแต่งชุดจีนมาถ่ายรูปเช็กอิน เมืองก็คึกคัก ชาวบ้านดีใจมาก เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ ก็ใส่ชุดจีนมาทำงาน ซึ่งงานตรุษจีนเราเพิ่งจัดมา 2 ปี ท่านนายกฯ (ธีรรัตน์ จึงยิ่งเรืองรุ่ง นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี) ให้ท่านรองฉัตรฯ (ฉัตรกุล ชื่นสุวรรณกุล รองนายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี) เอาโมเดลจากที่ท่านทำเทศกาลโคมยี่เป็งเทศบาลเมืองลำพูนมาช่วยวางแผนจัดงาน เพราะมันต้องมีเทศกาลของเมือง ให้เมืองมีชีวิตชีวา ให้คนเมืองเฝ้าคอยจะได้เจอเทศกาลที่เป็นของเขา ซึ่งทำปีแรกก็ลำบากมาก เขาไม่เห็นภาพ เขาก็แบบ จะมาปิดถนนเหรอ ปิดทำไม ทำทำไม มันเงียบเหงาอยู่แล้ว ทำทำไมให้เสียเงิน เราก็วางแผนจัดเล็ก ๆ ก่อน เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ เองประสบการณ์เป็นศูนย์ ไม่เคยจัดงานอะไรเลย เราก็ต้องเรียนรู้ด้วยว่าควรจัดแบบนี้ คิดแบบนี้ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีมาก เห็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คนแก่ที่ไม่ออกจากบ้านนานแล้วนั่งรถเข็น ลูกหลานเข็นมา แล้วเป็นกระแสที่บอกต่อ ๆ คนจากอยุธยา ลพบุรี กรุงเทพฯ มาถ่ายภาพกัน พอมาปีที่ 2 นี้ก็จัดใหญ่ขึ้น เพิ่มจุดเช็กอิน จุดถ่ายภาพ ตอนนี้กลายเป็นบริหารความคาดหวังของชาวบ้านละ ว่าปีนี้จะเป็นยังไง มีอะไรพิเศษกว่าปีก่อน ถึงจะเหนื่อย แต่มีความสุขครับ”
#เทศบาลเมืองสระบุรี #คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาดในระดับพื้นที่ #CIAP #บพท #wecitizens
“มหาวิทยาลัยวัยที่สามคือพื้นที่ของคนสูงวัยที่หัวใจไม่แก่ตาม” “นักศึกษาในมหาวิทยาลัยวัยที่สามของเรามีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป อาวุโสสุดนี่ก็ 80 กว่าปี ใช่ครับ… ถ้าอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ ที่นี่คือโรงเรียนผู้สูงอายุทำไมจึงเรียกมหาวิทยาลัย? เพราะโรงเรียนเราเริ่มต้นดำเนินการโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เลยเรียกชื่อนั้น แต่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วไปก็ตรงที่ คณะกรรมการของเราเป็นประชาชนทั่วไปในชุมชนต่าง…
“เพราะไม่ใช่แค่คนในเมืองมีความสุข แต่อาชีพฐานรากของเมืองอย่างเกษตรกร ก็ต้องมีความสุขด้วย” “จริง ๆ ชุมชนป่างิ้ว และชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่บริเวณหาดเชียงราย เขาริเริ่มทำเกษตรปลอดภัยมาเกือบ 20 ปีแล้ว และเทศบาลนครเชียงรายก็เล็งเห็นว่าที่นี่คือชุมชนต้นแบบสำหรับเมืองอาหารปลอดภัย จึงนำมาสู่การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดภัยภายใต้โครงการ ‘ปลูกเพาะรักษ์’ ขึ้นเมื่อปี 2566…
“ทุกวันนี้ป่าในเมืองใหญ่เหลือน้อยเต็มทีแล้วแต่ที่พิเศษคือที่นี่เป็นทั้งป่าชุมชนและแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน” “ในพื้นที่ระดับเทศบาลนคร มีไม่กี่เมืองหรอกที่จะมีภูเขา ป่าชุมชน และวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านเหลืออยู่ ชุมชนดอยสะเก็นที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเมืองเชียงรายคือหนึ่งในนั้นชุมชนเราอยู่ห่างจากย่านใจกลางเมืองแค่ 5 กิโลเมตร ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและยังคงมีวิถีในการหาของป่า โดยมีดอยสะเก็นที่อยู่ติดกับหมู่บ้านเป็นแหล่งทรัพยากร และความที่เรามีเอกลักษณ์เช่นนี้ ทางชุมชนและเทศบาลนครเชียงรายจึงเห็นศักยภาพในการพัฒนาที่นี่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ของเมืองขึ้นจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อโรงเรียนบ้านทุ่งมน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่เชิงเขาในหมู่บ้านปิดตัวลงเมื่อหลายสิบปีก่อน พื้นที่โรงเรียนถูกเปลี่ยนให้เป็นสนามกีฬาของหมู่บ้าน ขณะที่อาคารเรียนก็ถูกใช้เป็นที่ประชุมเหมือนศาลาประชาคม…
“เขื่อนป้องกันน้ำท่วมเป็นการรับมือที่ปลายเหตุสำคัญกว่านั้นคือวิธีบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง” “พูดถึงเรื่องน้ำท่วมเชียงราย จริง ๆ แล้ว เทศบาลฯ เรามีการทำโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับพอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าครั้งที่ผ่านมา (ปี 2567) เป็นครั้งที่หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี และเราไม่อาจรับมือได้ทันการหนึ่งในข้อจำกัดของเมืองคือ พื้นที่ริมแม่น้ำกกที่พาดผ่านเมืองส่วนใหญ่เป็นที่ดินเอกชน ทำให้มีการจัดการที่ยากกว่าหลาย ๆ…
“เชียงรายเผชิญปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษวัสดุพืชเชิงเดี่ยวมานาน เราจึงใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกใหม่ ให้เกษตรกรค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านสู่การปลูกพืชสมุนไพรคุณภาพสูงแทน” อาจดูเหมือนเป็นความบังเอิญ แต่ในปี 2562 ปีเดียวกับที่เทศบาลนครเชียงรายได้รับเลือกให้เป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” เมืองแรกของประเทศไทยในเครือข่าย UNESCO Global Network of Learning Citiesมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็ได้จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร”…
พลวัตการเรียนรู้ สู่เมืองเชียงรายที่น่าอยู่ “ถามว่าเชียงรายน่าอยู่อย่างไร คำตอบมีเยอะมากครับแต่สำหรับผม เชียงรายที่น่าอยู่ คือเมืองที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ เติบโต และใช้ศักยภาพของตัวเองสร้างชีวิตที่ดีขึ้น” ในห้องประชุมบนชั้น 2 ของสำนักงานเทศบาลนครเชียงราย นอกจากจะเห็นโล่และเหรียญรางวัลด้านการบริหารและพัฒนาเมืองที่เทศบาลฯ แห่งนี้ได้รับมากมาย เรายังเห็นแผนภาพกรอบวิสัยทัศน์การพัฒนาเมือง พร้อมภาพถ่ายการปฏิบัติภารกิจที่หลากหลายเต็มสองข้างของผนัง…