การเรียนรู้อยู่ในทุกที่ เกิดได้ทุกเวลา แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนได้รู้ ได้เข้าถึงเท่าๆ กัน

Start
401 views
15 mins read

“สามีเราเป็นคนออสเตรีย เปิดออฟฟิศด้านซอฟต์แวร์อยู่เชียงใหม่ เราเคยร่วมงานกัน ก่อนจะคบหาและใช้ชีวิตด้วยกัน พอมีลูกคนแรก สามีก็เปรยเรื่องการเรียนโฮมสคูลมาก่อนแล้ว แต่ตอนนั้นเราอยากลองให้ลูกเข้าโรงเรียนปกติดูก่อน

เรามีลูกสองคน อายุห่างกันสามปี พอเริ่มสังเกตว่ามิคาเอลลูกคนเล็ก ไม่ค่อยมีความสุขกับการเรียนในห้องเรียนเท่าไหร่ ซึ่งก็พอดีได้รู้จากพี่ชัช (ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ) เรื่องการจัดการศึกษาทางเลือกในครอบครัว เราก็เรียนรู้เรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง ก่อนมาคุยกับลูกๆ ว่า เรามาเรียนหนังสือกันที่บ้านไหม เดี๋ยวแม่สอนเอง ลูกๆ ก็สงสัยว่าเราเรียนหนังสือแบบไม่ต้องไปโรงเรียนได้ด้วยหรือ แต่เขาก็รู้สึกโอเค ก็เลยเริ่มทำบ้านเรียนตอนมิคาเอลอยู่ ป.1 ส่วนพี่คนโต อเล็กซ์อยู่ ป.4 ตอนนี้ทำมาได้ 11 ปีแล้ว

บ้านเรียนหรือโฮมสคูล (homeschool) มันเป็นการเรียนรู้ร่วมกันนะ ไม่ใช่ว่าเราเป็นคุณครูให้ลูกอย่างเดียว แต่ลูกก็เป็นคุณครูให้เราด้วย เราก็เรียนรู้ไปจากเขาและทำการประเมินว่าขาดทักษะตรงไหน หาว่าเขาสนใจอะไร และค่อยเน้นย้ำไป แต่กว่าจะลงตัวก็ทดลองมาหลายวิธี ตอนแรกจัดการศึกษาตามโรงเรียนเลย วันละ 7 คาบ ซึ่งเราเองก็ไม่ไหว เพราะก็ต้องทำกับข้าว ดูแลบ้านด้วย ก็ค่อยๆ ปรับไป เอาที่ลูกๆ ได้เรียนไม่ตึงไป แต่ก็ไม่หย่อนไป ไม่ได้คำนึงว่าลูกจะทำคะแนนสอบได้เท่าไหร่ แต่เน้นว่าพวกเขามีพัฒนาการตรงไหน และเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นไหม ไม่ใช่ว่าเด็กเรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่ง แล้วจะไปตัดสินเขาว่าเป็นคนหัวไม่ดีหรือเรียนไม่เก่ง เราก็ต้องหาความชอบเขากันต่อไป และขณะเดียวกันเราก็คอยส่งรายงานให้เจ้าหน้าที่เขตการศึกษาด้วย เพื่อให้เขาเห็นว่าเราเรียนกันจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าเอาแต่เล่นอยู่บ้าน แต่เด็กๆ มีพัฒนาการจริงๆ

ตอนที่ทำโฮมสคูลกันใหม่ๆ แม่ๆ คนอื่นก็ไม่เข้าใจเราเยอะ การเรียนนอกโรงเรียน เด็กๆ จะรู้เรื่องหรือ ไหนจะไม่มีเพื่อนอีกนะ เราก็อธิบายว่าไม่ใช่ว่าเรามองว่าการศึกษาในระบบมันไม่ดี แค่คิดว่ามันอาจไม่เหมาะกับลูกเรา ขณะเดียวกันเราก็มองว่าสำหรับเราการเรียนรู้ของเด็กก่อนวัย 18 ปี คือการอ่านออกเขียนได้ รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง เพื่อค้นพบความสนใจที่แท้จริงเพื่อปูไปสู่การศึกษาที่สูงขึ้นต่อไป ที่สำคัญ 8 กลุ่มสาระแห่งการเรียนรู้ มันก็อยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เรามีเวลาให้ลูกมากพอ จึงจัดการเรียนการสอนเองน่าจะตอบโจทย์กว่า

ส่วนเรื่องเพื่อน เราพบว่าไม่มีปัญหาเลย เพราะหลายคนอาจไม่ทราบว่าเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งโฮมสคูล มีครอบครัวนับร้อยที่ทำบ้านเรียนเหมือนเรา และที่สำคัญคือแต่ละบ้านก็สร้างเครือข่ายทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ มีการนัดกันชวนศิลปินมาเปิดคอร์สศิลปะให้เด็กๆ ได้เรียนด้วยกัน กิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ เล่นกีฬา ทำเวิร์คช็อปต่างๆ นานา หรือมีการเรียนรู้ทางเลือกอย่างโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาที่เน้นเรื่องศิลปวัฒนธรรม เหล่านี้แหละที่ไม่เพียงเด็กๆ จะได้มนุษยสัมพันธ์ แต่เขายังค้นพบความชอบของตัวเองจริงๆ ด้วย

ยกตัวอย่างเช่นพี่อเล็กซ์ ลูกคนโต ก่อนออกจากโรงเรียน เขาสอบได้ที่หนึ่งของห้องตลอด ครูที่โรงเรียนก็มองว่าอเล็กซ์น่าจะเรียนต่อสายวิทย์แน่นอน ตอนแรกเราก็คิดอย่างนั้น แต่พออเล็กซ์มีโอกาสไปเรียนศิลปะตามบ้านที่เขาจัดกิจกรรม ครูที่สอนศิลปะก็บอกว่าอเล็กซ์เป็นคนมีจินตนาการนะ และเขาก็มีทักษะการวาดที่ดีมากๆ จนอเล็กซ์มาค้นพบว่าเขาอยากทำงานด้านศิลปะ เราก็ส่งเสริม แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ให้เขาเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์เลย เขาก็ยังเรียนต่อไป และทำได้ดี เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันช่วยพัฒนาเขาด้านวิธีคิดหรือการคิดอย่างเป็นระบบ ส่วนมิคาเอล เขาจะเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่เขาก็มีความสนใจเฉพาะ เขาทำโครงการเพื่อจบมัธยมปีที่ 4 ด้วยภาษาเยอรมัน สนใจในโครงสร้างอย่างพวกเลโก้ หรือการวางแผนอย่างเกม Minecraft เราก็พอเห็นทางเขาแล้วว่าควรจะหนุนเสริมเขาตรงไหนต่อที่จะเอื้ออำนวยต่อวิชาชีพในอนาคต

เราคิดว่าการเรียนรู้มันอยู่ในทุกที่และเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากห้องเรียนอย่างเดียว และเชียงใหม่ก็เป็นเมืองที่มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างหลากหลายและเปิดให้เข้าถึงได้ง่าย ปัญหาก็คือเราจะทำยังไงให้ทุกคนได้รู้ ได้เข้าถึงเหมือนๆ กัน ด้วยเหตุนี้จึงจัดตั้งเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา (Lanna Homeschool Network) เพื่อให้คนที่ทำบ้านเรียนเหมือนกันได้แลกเปลี่ยนข่าวสาร ได้รู้ว่าที่ไหนมีกิจกรรมอะไรจะได้ให้เด็กๆ เข้าร่วมได้ รวมถึงการแบ่งปันบทเรียนหรืออุปสรรคร่วมกัน

สำหรับเราหัวใจสำคัญของบ้านเรียนคือการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความสนใจของลูกๆ และให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรแห่งการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่เขาสนใจให้มากที่สุด นี่เป็นงานที่คนเป็นผู้ปกครองต้องให้เวลาและทุ่มเทจริงๆ ซึ่งแน่นอน เป็นงานที่เหนื่อย แต่การได้เห็นว่าลูกๆ สามารถค้นพบตัวเองได้โดยที่เราช่วยส่งเสริมอย่างไม่บังคับ เราก็รู้สึกว่านี่เป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่าที่สุดแล้ว”

///

ธารินี ชลอร์

เครือข่ายบ้านเรียนล้านนา

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา

Facebook : Home School Lanna

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย