หากคุณเป็น LGBT แรงงานพลัดถิ่น หรือเซ็กซ์เวิร์คเกอร์ คุณจะพบว่านอกเหนือจากการเป็นแหล่งงาน เชียงใหม่แทบไม่มีพื้นที่สำหรับพวกคุณเลย

Start
458 views
14 mins read

“เรากับแฟนเป็นเลสเบี้ยน และรับหลานมาเลี้ยงเป็นลูก เป็นครอบครัวที่มีแม่สองคน ลูกสาวหนึ่งคน ราว 4-5 ปีที่แล้ว เราปลูกบ้านดินในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอสันกำแพง ความที่ครอบครัวเราเป็นแบบนั้น เราจึงสัมผัสได้ถึงความอคติและสายตาที่ไม่เป็นมิตรของคนในหมู่บ้าน กระทั่งวันหนึ่งบ้านเราเกิดไฟไหม้ ก่อนจะพบทีหลังว่ามันไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ครอบครัวเราจึงตัดสินใจไม่กลับไปอยู่บ้านหลังนั้นอีกเลย

ถ้าคุณเป็นคนชั้นกลางที่ดำเนินชีวิตแบบคนทั่วไป คุณอาจพบว่าเชียงใหม่น่าอยู่ เป็นเมืองที่มีครบ ค่าครองชีพไม่สูงนัก และหากไม่นับเรื่องปัญหาหมอกควัน อากาศที่นี่ก็ดีกว่าเมืองอื่นๆ แต่ในทางกลับกัน หากคุณเป็น LGBT แรงงานพลัดถิ่น หรือเซ็กซ์เวิร์คเกอร์ คุณจะพบว่านอกเหนือจากการเป็นแหล่งงาน เชียงใหม่แทบไม่มีพื้นที่สำหรับพวกคุณเลย

เราเริ่มงานเอ็นจีโอมาตั้งแต่ปี 2548 โครงการแรกที่เราทำเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กผู้หญิงชนเผ่าและเด็กผู้หญิงไร้สัญชาติ จากนั้นงานเราก็วนเวียนอยู่กับประเด็นคนชายขอบ แรงงานข้ามชาติ และเซ็กซ์เวิร์คเกอร์ตลอด แม้หลายปีหลังมานี้ สังคมจะเริ่มให้การยอมรับมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้แทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงหรือสวัสดิการแบบที่คนทั่วไปได้รับ โดยเฉพาะกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐไม่มีมาตรการใดๆ มาเยียวยาพวกเขา หลายคนไม่เพียงตกงาน แต่ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนไร้บ้าน ส่วนเด็กและผู้หญิงที่มีบ้านอยู่แล้วหลายคนก็ต้องเผชิญความรุนแรงในครอบครัวจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเช่นเดียวกับรัฐ เวลาสื่อต่างๆ พูดถึงหรือมองมายังเมืองเชียงใหม่ คนชายขอบเหล่านี้กลับถูกมองข้ามหรือมองไม่เห็น ราวกับไม่มีพวกเขาอยู่ร่วมเมืองเดียวกัน

หรืออย่างที่องค์กรทางการท่องเที่ยวหลากหลายที่พยายามนำเสนอเชียงใหม่ในฐานะเมืองแห่งวัฒนธรรม เรานำความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาเป็นจุดขาย แต่ในทางกลับกัน ลองเข้าไปดูในมหาวิทยาลัยก็ได้ หากคุณเป็นนักศึกษาที่เป็นกะเหรี่ยง คุณจะกล้าแต่งตัวตามชาติพันธุ์เข้าชั้นเรียนไหม หรือถ้าคุณเป็นลูกของแรงงานข้ามชาติที่บังเอิญโชคดีได้เรียนสูงๆ คุณจะกล้าบอกเพื่อนๆ ไหมว่าคุณเป็นชนเผ่า

อัตลักษณ์ชนเผ่าถูกทำให้เป็นแค่ความเก๋และเท่ในบริบทของแฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์คนร่วมสมัย แต่มันไม่เคยถูกนำเสนอผ่านตัวตนจริงๆ ในชีวิตประจำวัน คนชั้นกลางอาจมองว่าชุดพื้นเมืองกะเหรี่ยงสวยงาม เป็นที่น่าภูมิใจ แต่คนกะเหรี่ยงเจ้าของชุดนั้นส่วนใหญ่กลับไม่มีที่ดินทำกิน หรือไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์แบบคนส่วนใหญ่ได้ เรามองว่าเชียงใหม่กำลังเป็นแบบนั้น เมืองของเรามันยังสะท้อนศิลปวัฒนธรรมที่สอดรับกับการท่องเที่ยว แต่ไม่สะท้อนวิถีชีวิตจริงๆ ที่มีความหลากหลายและยังคงเหลื่อมล้ำอยู่ ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกกดทับด้วยอคติอีกรูปแบบหนึ่งด้วยนะ

เพราะเห็นแบบนั้นเราจึงจัดเทศกาลในทุกๆ วันสตรีสากล (วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี-ผู้เรียบเรียง) เพื่อให้เทศกาลนี้สื่อสารในสิ่งที่เทศกาลประจำปีอื่นๆ ของเมืองไม่เคยสื่อสาร เพราะนอกจากเราจะพูดเรื่องสิทธิสตรี เทศกาลนี้ยังเปิดพื้นที่กิจกรรมให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานหลักในการสร้างเมืองของเรา กลุ่มเซ็กซ์เวิร์คเกอร์ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราชวนให้พวกเขามาแสดงอัตลักษณ์ผ่านการเดินขบวนพาเหรด การแสดง ไปจนถึงเต้นรำ ให้รู้สึกถึงความภูมิใจในตัวเอง ขณะเดียวกันก็มาแสดงปัญหาหรือต่อสู้กับอคติที่แต่ละคนต้องเผชิญ แม้จะต้องเผชิญกับโควิดที่ทำให้เราจัดงานได้ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงยังขาดการสนับสนุนด้านเงินทุนอยู่บ้าง แต่เราก็พยายามจะจัดทุกปี เพราะเห็นว่านี่คือพื้นที่ที่เมืองควรจะมี

เช่นนั้นแล้ว ถ้าถามว่าอยากให้คนเชียงใหม่เรียนรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ เราคิดว่าการเรียนรู้ว่าคนเราแตกต่าง และควรยอมรับความแตกต่างนั้น และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ น่าจะเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิด หรือเวลาที่ภาคประชาสังคมหรือนักวิชาการมาคุยกันเรื่องแก้ปัญหาสังคม มาคุยปัญหาของแรงงาน ก็น่าจะชวนแรงงานหรือคนชายขอบที่อยู่ในปัญหานั้นจริงๆ มาร่วมพูดคุยด้วย รวมถึงในระบบการศึกษาที่ควรจะเปิดให้คนที่อยู่ในปัญหาจริงๆ ได้พูด ไม่ใช่แค่กลุ่มนักวิชาการหรืออาจารย์ฝั่งเดียว ให้ทุกคนได้เห็น ได้ฟังว่าพวกเขาเหล่านี้ต้องเจออะไรบ้าง แล้วต้องถูกเหยียดหยามจากคนอื่นอย่างไร

การเปิดใจรับฟังอย่างปราศจากอคติและความเกลียดชัง จะนำมาสู่กระบวนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเมือง เชียงใหม่มันควรจะต้องมีความน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีชาติพันธุ์ไหน ประกอบอาชีพ หรือมีรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร หาใช่แค่เมืองน่าอยู่สำหรับบางคน”

///
มัจฉา พรอินทร์
นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

#WeCitizensTh #LearningCity #chiangmai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย