เราก็ต้องมาดูกันต่อว่าทางโครงการจะได้รับการสนับสนุนให้ไปต่อได้มากขนาดไหน แต่ที่ผ่านมา โครงการมีความก้าวหน้าที่น่าดีใจนะ ทางเทศบาลก็พร้อมรับข้อเสนอไปพัฒนาต่อในอนาคต

Start
379 views
11 mins read

“หาดใหญ่มีคลองระบายน้ำอยู่สองแห่ง คลองอู่ตะเภาทางทิศตะวันตกของเมือง และคลองเตยทางทิศตะวันออก ทั้งสองแห่งทำหน้าที่ระบายน้ำจากในเมืองออกสู่ทะเล

โดยคลองที่ตัดผ่านย่านใจกลางเมือง และอยู่คู่กับวิถีคนหาดใหญ่ จนคนส่วนใหญ่เคยชินจึงไม่ได้เห็นว่ามันมีความสำคัญอะไรคือคลองเตย คลองนี้เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ตัวเมืองไม่เกิดน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีหลายครัวเรือนรุกล้ำพื้นที่ริมคลอง หรือหนักเข้าก็มีบางคนเอาขยะไปทิ้งในนั้น ทำให้ไม่เพียงน้ำในคลองเน่าเสีย แต่ขยะยังไปอุดตันทำให้คลองบางช่วงสูญเสียศักยภาพในการระบายน้ำอีก


พี่เป็นหนึ่งในทีมงานของพี่เจี๊ยบ (สิทธิศักดิ์ ตันมงคล, หัวหน้าโครงการคลองเตยลิงก์) โดยเป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐซึ่งก็คือเทศบาลนครหาดใหญ่ ก็ช่วยดูเรื่องผังเมือง และเป็นตัวกลางเชื่อมหน่วยงานหรือชุมชนต่างๆ เข้ากับโครงการ เพราะต้องเข้าใจว่าพอทำงานกับหลายชุมชน บางชุมชนอาจพึงพอใจให้ความร่วมมือกับภาคประชาชน แต่บางชุมชนก็ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเป็นตัวกลาง  

อันที่จริงก่อนหน้านี้คลองเตยมีนักวิจัยมาทำงานหลายโครงการมากนะ ทั้งทางด้านชลประทาน ผังเมือง สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ แต่พอมันอยู่ในระดับงานวิจัย เมื่อวิจัยเสร็จ แม้หลายโครงการจะมีข้อเสนอที่ดี ก็กลับไม่ได้รับการพัฒนาต่อ การศึกษาจึงถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

แต่กับโครงการคลองเตยลิงก์ที่อยู่ใต้ร่มของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ พี่มองว่าการใช้คำว่า ลิงก์ (link) ของพี่เจี๊ยบ จึงไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงในเชิงกายภาพหรือการคมนาคม แต่เป็นการลิงก์ผู้คนในชุมชนรอบคลองให้ทำงานร่วมกัน และสร้างมูลค่าจากต้นทุนที่มี และด้วยความที่พี่เจี๊ยบแกทำงานด้านพัฒนาเมืองมายาวนาน แกจึงสามารถรวบรวมเครือข่ายทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคมที่มาร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ได้มากถึง 50 กว่าเครือข่าย พี่เห็นถึงความตั้งใจของแกที่อยากเปลี่ยนแปลงเมืองหาดใหญ่ และเห็นว่าเครือข่ายนี้มีศักยภาพมากพอที่จะเปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม

เราก็ต้องมาดูกันต่อว่าทางโครงการจะได้รับการสนับสนุนให้ไปต่อได้มากขนาดไหน แต่ที่ผ่านมา โครงการมีความก้าวหน้าที่น่าดีใจนะ เครือข่ายกว้างขึ้น ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น และทางเทศบาลก็พร้อมรับข้อเสนอไปพัฒนาต่อในอนาคต นี่ไม่ใช่การอวยหน่วยงานเดียวกันเองนะ แต่นายกเทศมนตรีของเราเขาก็ตระหนักในเรื่องนี้ และพยายามดึงภาคีต่างๆ มาร่วมพัฒนาเมือง ตรงนี้แหละที่พี่มองว่ามันเป็นความหวัง

ส่วนคำถามที่ว่าคนหาดใหญ่ควรเรียนรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ พี่มองว่าการมีทักษะที่หลากหลายซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพหรือแหล่งรายได้ใหม่ๆ น่าจะสำคัญ เพราะคนทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร แต่ละคนก็ล้วนมีองค์ความรู้และทักษะเฉพาะตัวของตัวเอง การดึงความรู้ที่แต่ละคนมีเหล่านั้นมารวมไว้ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่กระจายสิ่งนี้ส่งให้คนอื่นได้เรียนรู้นี่แหละ จะทำให้ผู้คนในเมืองเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ในการทำมาหากินหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้

ความคิดแบบนี้ก็คล้ายๆ กับสิ่งที่พี่เจี๊ยบทำกับโครงการคลองเตยลิงก์อยู่เหมือนกัน เพราะเขาพยายามดึงอัตลักษณ์ชุมชน ดึงภูมิปัญญา และทักษะเฉพาะของผู้คนในแต่ละชุมชนเลียบคลองเตยมาเป็นฐานข้อมูลให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและเรียนรู้ เขาพยายามเปลี่ยนให้คลองที่คนหาดใหญ่มองข้าม กลายมาเป็นพื้นที่เรียนรู้ทั้งเชิงศิลปวัฒนธรรมไปจนถึงวิชาชีพ”

พีรวรรณ พงษ์ไพบูลย์
นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ เทศบาลนครหาดใหญ่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย