/

“การกระตุ้นให้ตลาดคนเยอะตลอดเป็นโจทย์ให้เราต้องแก้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อยคนมาเดินไม่เยอะ ของกินต้องเยอะไว้ก่อน ต้องบริหารร้านค้าให้ฟู”

Start
222 views
12 mins read

“คอนเซปต์ถนนคนเดิน เขาใหญ่ (Khaoyai Learning Market Walking Street) แตกต่างจากที่อื่นทั่วไป คือเราเป็นถนนคนเดินเกษตรอินทรีย์ เราคัดเลือกสินค้าให้ เป็น Walking Street & Green Market ไปด้วย เดี๋ยวนี้เหมือนเป็นกระแสถนนคนเดิน ปีที่แล้ว (2564-2565) มีเราที่เดียว พอปีนี้ (2565-2566) มีหลายที่ แต่โซนของเราเป็นโซนติดถนน ได้บรรยากาศ

ความตั้งใจทำถนนคนเดิน เขาใหญ่ คืออยากให้คนที่ทำพวกของกิน ของใช้ แฮนด์เมด หรือวิสาหกิจชุมชน เข้ามาขายกัน อยากให้คนในพื้นที่มีแหล่งขาย แล้วคนมาเขาใหญ่ ตอนค่ำๆ จะเข้าแต่ที่พัก อยากออกไปเที่ยวก็ไม่มีที่ เราจัดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา มีนักดนตรีมาเล่น มีพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่มาขาย เช่น ร้านเครือข่าย EarthSafe ร้านวิสาหกิจชุมชนท่าช้างโป่งตาลอง สระน้ำใส ปูทะเลย์ เป็นวิสาหกิจชุมชนชาวบ้าน บางทีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือมีกรุ๊ปทัวร์มาที่รีสอร์ตและศูนย์เรียนรู้เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม ก็ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เขามาซื้อของ และก็บอกกลุ่มพี่ๆ คนขายว่าวันนี้เรามีกรุ๊ปนี้ๆ มา พี่เตรียมของมา แจ้งกันเพื่อส่งเสริมให้เขาขายได้

จุดเด่นของการเป็นกรีนมาร์เก็ต เราก็ทำประชาสัมพันธ์เต็มที่ ทั้ง Facebook, TikTok หรือส่งหนังสือเชิญชวนคนมาเที่ยว ฝากท่านนายอำเภอประสานงาน บางทีททท.ก็เข้ามาสนับสนุน การตลาดเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีให้ต่อเนื่อง ในปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป ก็ต้องผลักดันให้คนรู้จักว่า Khaoyai Learning Market Walking Street เป็นยังไง เราพยายามสร้างสัมพันธภาพกับผู้ประกอบการ ปีหน้ามาเจอกันอีกนะคะ ส่วนกลุ่มที่ต้องมาเพิ่ม เราก็มีทีมไปเลือกร้าน ให้ลูกค้าที่มาเดินแล้วไม่หงอย เรามีดนตรี เล่นถึงสี่ห้าทุ่ม ลูกค้านั่งกินไป ฟังดนตรีไป ไม่มีเก็บค่าใช้จ่าย ร้านค้าก็จะทราบว่าวันศุกร์คนน้อยหน่อย วันเสาร์คนเยอะ วันอาทิตย์คนเริ่มกลับ เป็นวงจรแบบนี้ การกระตุ้นให้ตลาดคนเยอะตลอดเป็นโจทย์ให้เราต้องแก้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อยคนมาเดินไม่เยอะ ของกินต้องเยอะไว้ก่อน ต้องบริหารร้านค้าให้ฟู

ถนนคนเดิน เขาใหญ่มีมา 2 ครั้ง เราถอดบทเรียนจากครั้งแรกว่า ไม่สามารถจัดได้ตลอดปี จัดแค่ช่วงปลายปีต่อต้นปี ร้านค้าร้านดังที่เราคาดหวังว่าจะมาประจำ กลายเป็นร้านเก่าแก่ที่พอใจจะขายระหว่างวันนี่แหละ หมดวันก็ปิดร้าน ไม่พร้อมเคลื่อนย้ายไปนอกพื้นที่ เพราะยังไงคนก็เข้ามาอยู่แล้ว แต่ความตั้งใจเราคืออยากให้คนในพื้นที่เอาของอร่อยในตำนานมาขาย ซึ่งยังไม่ไปถึงจุดนั้น ก็เป็นโจทย์ที่เราอยากให้มี เพื่อทุกอย่างจะกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ถ้าร้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เปิดใจ มาตั้งกันเยอะๆ จะทำให้มีมาเรื่อยๆ เพราะเดินทางไม่เยอะ ค่าใช้จ่ายไม่มาก มาพบปะกัน ส่วนร้านที่มีคนสนใจขายแต่อยู่นอกพื้นที่ ด้วยความที่มีอาทิตย์ละ 3 ครั้ง การเดินทางมาบ่อยๆ เขาจะประเมินคนมาแต่ละช่วงด้วย เช่นช่วงปีใหม่จองมาขาย แต่หลังปีใหม่เขาอาจจะคิดว่าคนจะเยอะมั้ย ก็จะมีผล มาบ้าง ไม่มาบ้าง แต่ถ้าใครสนใจจองร้านตลอดงาน เราให้สิทธิพิเศษ จองน้อยสุดคือสองสัปดาห์เพื่อให้ติดต่อเนื่อง อย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำไมมาทุกสัปดาห์ เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ ต้องการที่ขายอยู่แล้ว

อีกปัจจัยคือ การจัดงานถนนคนเดินพร้อมกันในหลายๆ ที่ ในตลาดปากช่อง ก็จะมีต้นเดือน ของเรามีทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แต่คนเดินไม่เดินหลายตลาด ได้ของกินแล้วก็เข้าที่พัก แต่จุดแข็งของเราคือเราส่งต่อคนให้ร้านค้า เพราะเราอยากให้เขาจำหน่ายได้ เราใช้กลยุทธ์ให้เขาอยู่ได้ โครงการก็ซัพพอร์ตได้ คือร้านค้าที่มาถนนคนเดิน เขาใหญ่ ไม่ใช่แค่มีร้านค้าให้เต็ม ต้องดีด้วยนะ ไม่ใช่สินค้าสะเปะสะปะ แล้วต้องมีไม่ซ้ำกันเกินสองร้านเพื่อให้เขาขายได้ ถ้าเราเปิดกว้างร้านอาจจะเยอะกว่านี้ แต่เราต้องคัดกรอง เพราะหลักๆ ของเราคือ Green Market สนับสนุนคนในพื้นที่ สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจ สนับสนุนสิ่งแวดล้อม ร้านไหนใช้แก้วกระดาษ หลอดกระดาษ เรามีส่วนลดค่าบูทให้ด้วยนะ ช่วงปีใหม่ เก็บแค่ค่าไฟในวันสุดท้าย อยากให้เขาคืนทุน โดยปกติค่าบูทเราคิดถูกอยู่แล้ว ให้เขาอยู่ได้ ไม่ต้องมาจมทุนกับค่าเช่าที่ แล้วเราบริหารโครงการ หวังให้ตลาดติด คนซื้อคนขายก็จะมาเอง”

จิดาภา นาคบุรินทร์

ผู้ประสานงานโครงการ
บริษัท เขาใหญ่ พาโนราม่า วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย