“การจะเข้าจะออกต้องผ่านมติคณะกรรมการเท่านั้น แม้แต่เจ้าอาวาสเองก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าจะให้ใครอยู่ใครไป”

Start
323 views
23 mins read

“วัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหารเป็นพระอารามหลวงในคณะธรรมยุต อยู่ในชุมชนใหญ่ ที่สำคัญคือเป็นวัดในปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน เจ้าของที่คือคุณย่าทิพย์ นิยมเหตุ สร้างถวายแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในสมัยที่พระองค์ทรงพระเยาว์ ทีนี้ หลวงพ่อมารักษาการเจ้าอาวาสช่วงปี 2557-58 แล้วมาอยู่รับตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อปี 2563 ก็มาศึกษาดูสภาพสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ภูมิประเทศ ชุมชน ก็มีแนวคิดอยากพัฒนาพื้นที่ของวัดให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนให้มากที่สุด เป็นประโยชน์ต่อศาสนา และเป็นประโยชน์ต่อพระเณร

เนื่องจากวัดมีพื้นที่จำนวนมาก เจ้าอาวาสสมัยก่อนมอบให้โรงเรียนประถมวัดวชิราลงกรณวราราม 20 ไร่ มอบให้โรงเรียนมัธยมวชิราลงกรณวราราม 50 ไร่ พื้นที่เหลือปัจจุบัน 150 ไร่ ซึ่งมีที่ว่างเปล่าเป็นป่ารกอยู่ 53 ไร่ หลวงพ่อศึกษาจากสื่อบ้าง ไปดูงานเรื่องโคกหนองนามาบ้าง เลยมีแนวคิดทำโครงการโคกหนองนาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นประโยชน์กับชุมชน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ลำบากยากจน ประกอบกับช่วงที่มาทำใหม่ๆ มีโควิดเข้ามา คนตกงานก็เยอะ คนว่างงานก็เยอะ การเป็นอยู่ลำบาก ทำมาหากินฝืดเคือง หลวงพ่อก็ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารวัด กรรมการก็เห็นชอบ จึงหาแนวทาง หาท่านผู้รู้ ได้อาจารย์โอ๋ (ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ – เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม) อาจารย์เกศ (เกศแก้ว ทิวาเวช – ศูนย์การเรียนรู้ปูทะเลย์หนองน้ำแดง) และอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) เป็นที่ปรึกษา เป็นคนออกแบบ

เริ่มจากการศึกษาพื้นที่ ออกแบบพื้นที่ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ มีการประชุม วางแผน ลงมือปฏิบัติการ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ขุดบ่อน้ำ พัฒนาพื้นที่ส่วนต่างๆ แล้วก็มีการประชุมชาวบ้าน รับสมัครผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยมีจุดประสงค์ว่าจะทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน อย่างน้อยๆ การทำอยู่ทำกิน ปลูกผัก พืชพรรณธัญญาหาร โดยวัดจะให้พื้นที่ หาน้ำให้ หาปุ๋ยให้ อำนวยความสะดวกให้ เมื่อเกิดผลขึ้นมาแล้วปล่อยให้ชาวบ้านบริหารจัดการกันเอง ก็ปรากฏว่ามีชาวบ้านมาสมัครเข้าร่วมโครงการ 40 กว่าราย หลวงพ่อก็แบ่งพื้นที่ 53 ไร่ออกเป็นแปลงๆ มากบ้างน้อยบ้าง บางแปลง 1 งาน บางแปลง 2 งาน บางแปลงครึ่งงาน รวมทั้งแบ่งให้โรงเรียนประถมฯ 1 แปลง โรงเรียนมัธยมฯ 1 แปลง เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของเด็กด้วย

สมาชิกที่เข้าโครงการก็มีข้อกำหนดว่า อะไรทำได้ ทำไม่ได้ อะไรควรเว้น โดยมีหลักการว่าต้องไม่ขัดต่อความเป็นอยู่ของพระเณร ไม่ขัดต่อศีลธรรมทางศาสนาด้วย หลวงพ่อก็ตั้งระเบียบง่ายๆ หนึ่ง คนที่เข้ามาประกอบการ จะเลี้ยงสัตว์ใหญ่ในวัดไม่ได้ จะปลูกสิ่งก่อสร้างเป็นบ้านพัก ที่ค้างแรมในวัดไม่ได้ สอง ทำแบบยึดเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีของในหลวงเป็นหลัก ประกอบกับอาจารย์โอ๋เรียนเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ ก็เน้นว่าเป็นแบบธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมี ผู้นำชุมชนก็ช่วยเยอะ ในลักษณะว่าต้องการให้สร้างอุปนิสัยของคนในชุมชนด้วย ให้มีความสามัคคี เสียสละ สร้างคุณธรรม ใส่เข้าไปด้วย มีการประชุมกันเดือนละครั้งสองครั้งตามวาระ อบรม จัดกิจกรรม ในกลุ่มเรียกว่าการ “เอามื้อ” (การเอามื้อสามัคคี เป็นการไปช่วยงานในแปลงของเพื่อนบ้านหรือเครือข่าย) ทำให้เกิดกำลัง ต่างจากตอนแรกที่หลวงพ่อมาใหม่ๆ โยมจะมาทำบุญเฉพาะวันพระบ้าง ตอนไปบิณฑบาตเช้าบ้าง พอทำโครงการนี้ขึ้นมา เห็นได้ชัด เวลามีงาน มีกิจกรรม สามารถเรียกชาวบ้านมาช่วยงานวัดได้เยอะเลย ขณะเดียวกัน ของที่เพาะปลูกต่างๆ ที่ให้ผล อย่างพืชผัก พริก มะเขือ กล้วย มัน อันดับแรก หลวงพ่อเน้นว่าให้ช่วยตัวเองก่อน ไม่จำเป็นว่าต้องเอาไปขาย ถ้าเหลือกินเราถึงขาย เพราะฉะนั้น จุดนี้ที่หลวงพ่อทำมาสองปีกว่า บางรายนอกเหนือจากกินแล้ว ยังเอาไปแจกจ่ายกัน เอาไปขายในตลาดนัด เป็นรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว ก็ตรงตามวัตถุประสงค์ แต่วัดต้องเสียสละเพื่อชุมชนก่อน ถึงจะได้กำลังส่วนนี้มา หมายความว่าค่าน้ำค่าไฟหลวงพ่อก็ต้องเสียเพิ่มขึ้น เราถือว่าลงทุนส่วนนี้ เราได้ศรัทธา ได้กำลังจากชาวบ้านมาช่วยงาน คนในชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผอ.โรงเรียนก็ร่วมมือดี น้ำไม่พอก็เจาะบาดาลเพิ่ม องค์กรภายนอกที่เขามาเห็น คนที่มีความพร้อมก็เข้ามาช่วยเหลือ พวกรีสอร์ต ร้านอาหาร เจ้าของกิจการโรงงาน ก็มาเจาะบาดาลให้ ขุดบ่อให้ เอาอุปกรณ์มาให้ แม้แต่หน่วยงานราชการอย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ของบประมาณไป เขาก็ให้มาในเรื่องของโซลาร์เซลล์เพิ่มแสงสว่าง เครื่องปั๊มน้ำ

ทีนี้ก่อนมาเป็นรูปธรรม การดำเนินการสำคัญ การทำงานในรูปแบบคณะกรรมการช่วยได้เยอะ มีอะไร ช่วยกันคิด แก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ตกภาระอยู่แต่ของวัดหรือเจ้าอาวาสอย่างเดียว คือเป็นการกลั่นกรองคนด้วย คนที่เข้ามาแล้วอยู่ไม่ได้ออกไปก็มีคนใหม่เข้ามา ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง หนึ่ง เขาไม่มีเวลา สอง เขาไม่มีความพร้อม สาม ไม่มีความอดทนพอ คนที่ตั้งใจทำ คนที่มีความจริงจัง จริงใจ ก็อยู่กับเราได้เยอะอยู่ ตอนนี้จาก 40 กว่าราย มีอยู่ประมาณ 30 กว่าราย ไม่ได้เฉพาะคนยากจนนะที่เข้ามา คนมีฐานะ มีกิจการอยู่แล้ว เขามีเวลาว่าง เข้ามาทำก็มี คนที่เข้ามาก็เข้าใจในระเบียบเพราะเราชี้แจงให้ฟัง ชี้ทั้งโทษทั้งคุณ ปัญหาจะเกิดขึ้น ที่เราห้ามอย่างนี้ก็เพื่อประโยชน์อย่างนี้ จะทำอันนี้เพื่อประโยชน์อันนี้ การจะเข้าจะออกต้องผ่านมติคณะกรรมการเท่านั้น แม้แต่เจ้าอาวาสเองก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าให้ใครอยู่ใครไป

ปัญหาหนักที่สุดในการทำโครงการโคกหนองนาที่ผ่านมาสองปีกว่า คือเรื่องน้ำไม่เพียงพอ ส่วนจตุปัจจัยเป็นเงินเป็นทองพอหาได้ ไม่ถึงกับมาก เงินของวัดก็ดี เงินบริจาคก็ดี ผ้าป่า กฐินเข้ามาแต่ละปี แต่อีกปัญหาคือ อุปนิสัยของคน ความอดทนน้อย หมายถึงว่าทำแล้วอยากเห็นผลทันทีทันใด อย่างเขาปลูกของบางอย่าง เดือนหนึ่งให้ผล เขาจะทำ 3 วัน 7 วันให้ได้ผล มันก็ไม่ได้ ต้องรู้จักการอดทน การรอ และความไม่เป็นระเบียบของคน คือการเห็นแก่ตัวมากเกินไป อย่างหลวงพ่อให้ใช้น้ำกี่ถังกี่ลิตรต่อวัน บางทีเปิดคนเดียวตลอด คนอื่นก็ไม่ได้ ก็เป็นการสร้างอุปนิสัยความเห็นอกเห็นใจกันไปในตัวด้วย แต่เราก็แก้ปัญหาโดยการประชุม ให้คำแนะนำ หลวงพ่อก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง บางทีพูดอย่างเดียวเขาก็ไม่เข้าใจ หลวงพ่อบอกเลย แปลงสาธิตของทางวัด เวลาออกผล ให้ถือว่าเป็นของส่วนรวม เอาไปแจกจ่ายกันได้เลย ในด้านหนึ่ง เราได้เรียนรู้คน ได้ฝึกคน ได้สร้างคน คือหมายความว่า เวลาตกก็ตกด้วยกัน มีดีก็มีดีด้วยกัน ลำบากก็ลำบากด้วยกัน เวลาเขามาทำงาน เขาต้องห่อข้าวมากินเองนะ ของใครของมันก็เอามาแบ่งกัน

การทำโครงการนี้ยั่งยืนต่อเนื่องไปได้อยู่ที่ว่า เราสามารถเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านได้มากน้อยแค่ไหน โดยทางวัดไม่เดือดร้อน จตุปัจจัยที่เรามีอยู่ สิ่งแวดล้อมที่เราทำได้ หลวงพ่อคิดว่าจะอำนวยความสะดวกให้สังคมน่าอยู่ได้ สร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านได้ว่า อย่างน้อยๆ วัดก็เป็นที่พึ่งได้ส่วนหนึ่ง ถ้าเรามีความพร้อม คือมีสถานที่ อุปกรณ์ คน กำลัง น่าจะทำกิจกรรมอย่างนี้ โดยเฉพาะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นตัวอย่างมาตลอดชีวิต แต่บางที ไม่ว่าพระก็ดี ชาวบ้านก็ดี ยังตามไม่ทัน ยังไม่เข้าใจ คอยแต่จะแบมือขออย่างเดียว ทำให้คนขี้เกียจและมักง่าย แต่ถ้าคนลงมือทำงานเอง อย่างน้อยๆ ได้รู้ปัญหา รู้จักวิธีแก้ปัญหา วิธีช่วยตัวเอง ก็จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าคนอื่นทำมาให้กินก็หมดไป ไม่รู้จักคุณค่า การใช้จ่ายก็ไม่รู้จักประหยัด เพียงแค่เราทำให้เห็น สร้างความเชื่อมั่น สร้างศรัทธาให้เขาก่อน มันได้ใจคน พอได้ใจ ทุกสิ่งทุกอย่างมาหมด”

พระราชวชิราลังการ (คำปอน สุทฺธิญาโณ)
เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธรรมยุต)
เจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย