/

การท่องเที่ยวเชียงใหม่จะยั่งยืน ล้านนา (ต้อง) สร้างสรรค์

Start
456 views
19 mins read

“สารตั้งต้นของโครงการ ‘เชียงใหม่เมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อพลวัตรที่ยั่งยืน’ มาจากเวทีเชียงใหม่ฮอม เวทีสาธารณะที่ชวนผู้คนในภาคส่วนต่างๆ มาแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) ในเวทีนั้นผู้คนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าปัญหาที่เมืองเรากำลังเผชิญมีสองเรื่องใหญ่ คือเรื่องเศรษฐกิจอันเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 และปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงเลยนำสองเรื่องนี้มาตั้งโจทย์ว่าถ้างั้นเราจะสนับสนุนให้คนเชียงใหม่เรียนรู้เรื่องใดบ้าง ที่จะนำมาสู่กระบวนการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมาคิดถึงการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้สอดรับกับความเป็นเมืองท่องเที่ยว ส่วนประเด็นที่สองเรามองเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมเพื่อเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง

แม้จะแบ่งเป็น 2 โครงการย่อยที่แตกต่างอย่างชัดเจน แต่เราก็พยายามทำกิจกรรมที่ทำให้สองโครงการสอดรับกัน โดยงานหลักของสองโครงการอย่างแรกคือการทำปูมเมืองเชียงใหม่ (local study) ศึกษาแบบย้อนอดีตไปว่าตั้งแต่มันมีการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจสร้างสรรค์เดินทางมายังไง สิ่งแวดล้อมเมืองเดินทางมายังไง เพื่อที่เราจะได้และหาช่องว่างและข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษานี้ ขั้นตอนที่สองคือการสร้างกลไกความร่วมมือให้เกิดขึ้นทั้งสองประเด็น โดยใช้ learning city เป็นเครื่องมือ และขั้นตอนที่สาม สร้างพื้นที่และกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม

เริ่มจากโครงการแรก ‘เมืองแห่งการเรียนรู้และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เนื่องจากเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโควิด-19 เราก็มาคุยกันว่าในเมื่อมันจะยังเป็นแบบนี้ต่อไป แล้วเราจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และภาครัฐที่นำโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ มองตรงกันว่าบ้านเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเพณีที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติอยู่แล้ว แล้วต้นทุนนี้ทำให้เกิดธุรกิจอีเวนท์

แต่ที่ผ่านมาธุรกิจนี้ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนที่เอาจริงๆ ชาวชุมชนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมกลับแทบไม่ได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางงานเลย ก็เลยคิดว่าถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพาปัจจัยภายนอก เราก็น่าจะสนับสนุนให้ชาวเชียงใหม่มาเรียนรู้เพื่อหันมาเป็นฝ่ายจัดเทศกาลของเมืองเสียเอง เพราะชาวบ้านมีต้นทุนเป็นองค์ความรู้ และทักษะด้านหัตถกรรมเพื่อทำของตบแต่งอยู่แล้ว และถ้าเราขับเคลื่อนเทศกาลจากชุมชนเอง ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณมากมายอะไร

เราวางคีย์เวิร์ดไว้ว่า ‘เชียงใหม่เมืองเทศกาลที่ทุกคนมีส่วนร่วม’ โดยนำร่องที่ 2 เทศกาลสำคัญของเมือง คือยี่เป็งและประเพณีปีใหม่เมือง โดยช่วงก่อนที่เราจะเริ่มโครงการมันเป็นก่อนงานยี่เป็งพอดี ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ในเชียงใหม่ก็มองว่าเราน่าจะทำอะไรที่เป็นสัญลักษณ์เมือง เพื่อสื่อสารภาพจำของประเพณียี่เป็งที่ขับเคลื่อนโดยชาวบ้านได้บ้าง และเห็นถึงประเพณีการทำ ‘ดอกไม้พันดวง’ ถวายพระมาฟื้นฟู ให้กลายเป็นของประดับตบแต่งเมือง ของชำร่วย เป็นของตบแต่งในสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐและเอกชน รวมถึงเป็นงานหัตถกรรมที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์ผ่านการจัดเวิร์คช็อปต่างๆ

ส่วนโครงการย่อยที่สอง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมือง’ เราถอดบทเรียนจาก local study และพบว่าเชียงใหม่เราเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 4 ประการใหญ่ๆ คือ การขาดพื้นที่สีเขียว เกาะความร้อนของเมืองที่สูงขึ้น มลภาวะทางอากาศ PM 2.5 และความมั่นคงทางอาหาร และพบโจทย์ร่วมเดียวกันคือเรื่องพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นแกนหลักของทุกปัญหา คือถ้าสมมุติว่าเราเติมพื้นที่สีเขียวได้ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของเมืองก็จะลดลง

พอดีกับที่ทราบว่าเทศบาลนครเชียงใหม่มีแผนจะปรับปรุง ‘สวนน้ำปิง’ ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อปุงเถ่ากงตรงกาดต้นลำไยให้เป็นสวนสาธารณะใหม่อีกครั้ง และเรามีโอกาสได้คุยกับทางเทศบาล พบว่าเขายังไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนในการกำหนดรูปแบบของสวนแห่งใหม่นี้ เลยมองว่าถ้างั้นเราควรนำกระบวนการ learning city ไปหนุนเสริมโครงการนี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ก่อนทำการออกแบบ

ทีมงานเราก็ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลจากชุมชน ไปถามเขาว่าอยากได้สวนสาธารณะใหม่เป็นแบบไหน หรืออยากมีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือกิจกรรมใดบ้าง จากนั้นก็ร่วมกับเทศบาลจัดตั้งคณะกรรมการสวนน้ำปิงที่มาจากตัวแทนทุกภาคส่วน และร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้ด้านนิเวศสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งการล่องเรือสำรวจแม่น้ำและการชวนผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเวิร์คช็อปกับคนในย่าน เพื่อให้ทุกคนสกัดสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเป็นแนวคิดการออกแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้และบริบทด้านสิ่งแวดล้อม ส่งต่อให้นักออกแบบซึ่งประกอบด้วยทีมจากใจบ้านสตูดิโอ และ A49 ที่มาช่วยออกแบบสวนแห่งนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

เรามองว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการที่ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ไม่ใช่การเกี่ยงหน้าที่กัน เช่นบอกว่ารัฐก็ทำไปสิ แต่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองเราได้จริงๆ ส่วนตัว learning city เป็นแค่เครื่องมือเชื่อมเชื่อมรอยเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานระหว่าง หรือการร่วมมือระหว่างรัฐ เเล้วก็ภาคประชาสังคมเท่านั้น

ที่ผ่านมาเมืองเราต้องเผชิญกับปัญหาเรื้อรังเพราะต่างฝ่ายต่างไม่คุยกัน หรือเพิกเฉยในปัญหาเพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของพวกเรา คือถ้าคุณหันหน้าเข้าหากันหรือมีความใส่ใจร่วมกันสักนิด มันก็อาจพบแนวทางแก้ปัญหาได้แล้ว และอีกข้อที่สำคัญคือกระบวนการ learning city ยังมีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจประเด็นต่างๆ ของเมือง ความสนใจตรงนี้แหละจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของพลเมืองสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ช่าง ถ้าพลเมืองทุกคนเป็นพลเมืองที่พร้อมที่จะหนุนเสริมให้เมือง เป็นหูเป็นตา และตระหนักดีถึงความเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียม เมืองมันก็จะมีพัฒนาการที่ดี เป็นเมืองที่อยู่ดี กินดี อิ่มท้อง อิ่มสมอง อิ่มใจ ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับผู้คนในเมืองทั้งนั้น”

///

ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์

หัวหน้าโครงการ การพัฒนาเมืองเชียงใหม่นครแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเมืองพลวัตที่ยั่งยืน และนักวิจัยโครงการจัดตั้งศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย