การประยุกต์มรดกดั้งเดิมของคนล้านนาให้มีความร่วมสมัยหรือสอดคล้องไปกับการใช้งานของคนรุ่นใหม่ คือเสน่ห์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่

Start
419 views
8 mins read

“เราเรียนจบมาด้านสถาปัตยกรรม แต่ด้วยความที่เราสนใจองค์ความรู้เกี่ยวกับล้านนาและงานวิจัย เลยมุ่งไปทำงานวิจัย ไม่ได้ทำงานออกแบบเท่าไหร่ จนมาเจอพี่เบิด (ประสงค์ แสงงาม) ซึ่งเราเปิดบริษัททำอีเวนท์ด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยกัน ก็เลยมีโอกาสได้ใช้ทักษะในงานออกแบบภูมิทัศน์มาผสานกับองค์ความรู้จากพี่เบิด ที่เขาสะสมมาจากคนเฒ่าคนแก่หรือพ่อครูแม่ครูอีกที บริษัทจึงมีจุดแข็งที่เราทำงานอีเวนท์ที่มีการอ้างอิงอย่างถูกต้องตามขนบวัฒนธรรม สามารถอธิบายคุณค่า หรือความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เรานำมาออกแบบได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อย่างการใช้ตุงประดับตบแต่งงาน เราใช้ตุงไส้หมูที่คนล้านนาใช้ตานปักไว้บนต้นเขืองและเจดีย์ทรายในประเพณีปี๋ใหม่เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ฉะนั้นถ้าเราจะเอามาใช้ประดับงาน ตำแหน่งของตุงควรอยู่ที่สูง ไม่ควรอยู่ต่ำหรือห้อยกับอะไรที่มันไม่สมควร หรืออย่างตุงสามหางนี่ก็สวย แต่เราจะไม่เอามาประดับในงานรื่นเริง เพราะเป็นตุงส่งวิญญาณ คนเมืองเขาเอาใส่ไว้หน้าศพ เราก็ต้องอธิบาย เพราะบางทีลูกค้าเห็นอันนั้นสวยดี ก็อยากให้เราใส่ แต่ไม่เข้าใจความหมาย

หรืออย่างโคม ปกติโคมจะใช้ตบแต่งช่วงยี่เป็ง เพราะวัสดุมันจะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเทศกาล และเราก็จะหมุนเวียนนำมาใช้ในแต่ละปี แต่เดี๋ยวนี้โคมก็ถูกเอามาห้อยแทบทุกงานตลอดปี แต่เราก็ไม่ได้หัวแข็งในแบบที่ว่าอันนี้ใช้ไม่ได้ค่ะ คือถ้าจะใช้ เราก็อาจหาวิธีประยุกต์ให้ได้ หรือคุณอาจจะนำคอนเซปต์ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาต่อ อย่างการทำตุงเพื่อการเฉลิมฉลองในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เราก็อาจใช้รูปแบบตุงดั้งเดิมมาพัฒนาเพื่อสื่อความหมายของเทศกาลเฉพาะ เช่นงานเทศกาลช้างม่อย เราก็อาจชวนคนช้างม่อยมาร่วมกันออกแบบตุงเฉพาะ เป็นตุงช้างม่อยที่ใช้สำหรับเฉลิมฉลองให้ผู้คนในย่านช้างม่อย โดยไม่จำเป็นต้องนำตุงที่เกี่ยวกับพุทธศาสนามาใช้

ที่สำคัญ เราคิดว่าการประยุกต์มรดกดั้งเดิมของคนล้านนาให้มีความร่วมสมัย หรือสอดคล้องไปกับการใช้งานของคนรุ่นใหม่ นี่เป็นเสน่ห์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่เราเห็นได้ชัดในรอบหลายปีหลังมานี้เลยนะ

การเรียนรู้และทำความเข้าใจรากเหง้า ก็เหมือนกับการที่เราได้พบหมุดหลักสำหรับยึดหรือจับ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราจะนำไปต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรืออย่างน้อยที่สุดคือทำให้เราได้รู้ทิศทางในการเติบโต หรือมีส่วนในการร่วมพัฒนาเมืองของเราอย่างตระหนักในคุณค่าต่อไปในอนาคต”

///
ไพลิน ทองธรรมชาติ
นักวิจัยด้านภูมิปัญญาล้านนาและเจ้าของบริษัท เมืองงาม ครีเอชั่น

#WeCitizensTh#LearningCity#ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย