การผสมผสานสิ่งใหม่และเก่าในชุมชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเกื้อกูลกันระหว่างคนสองรุ่น ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่เกิดจากความหลากหลาย

Start
331 views
11 mins read

“บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านของครอบครัวและสำนักงานบริษัทรับเหมาก่อสร้างของพ่อ พอผมขึ้นมัธยมที่มงฟอร์ต เราก็ย้ายบ้านไปอยู่นอกเมือง อากงอยู่ที่นี่ต่อไปอีกสักพัก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโกดังเก็บของ และบ้านพักพนักงานของบริษัทพ่อ มาราวสิบปีสุดท้าย เราก็ปล่อยให้เป็นบ้านร้าง จนน้องสาวเรียนจบกลับมา ประมาณปลายปี 2563 เราก็เปลี่ยนให้บ้านหลังนี้เป็นคาเฟ่ที่เสิร์ฟบรันซ์ ตั้งชื่อว่า มิทเทอ มิทเทอ (Mitte Mitte) โดยเอาชื่อมาจากย่านหนึ่งในเบอร์ลิน ย่านที่น้องเคยใช้ชีวิตสมัยไปเรียนที่เยอรมนี

ก่อนจะตัดสินใจเปิดร้าน เราคุยกันอยู่นานในเรื่องทำเล เพราะแม้เราจะอยู่ในย่านการค้าอย่างช้างม่อย

แต่ความที่ร้านเราอยู่ลึกเข้ามาบนถนนสิทธิวงศ์ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าที่ค่อนข้างหนาแน่น แถมในตอนนั้นกลุ่มลูกค้าที่เรามองว่าน่าจะมาร้านเราก็ยังนิยมไปย่านนิมมานเหมินท์มากกว่า อย่างไรก็ตาม พอมีบริวกินนิ่งคาเฟ่เปิดก่อนตรงปากซอย มีร้านคราฟต์เบียร์ชื่อมายเบียร์เฟรนด์มาเปิด ตามมาด้วยร้านลูเปอร์บนถนนราชวงศ์ และระหว่างที่เรารีโนเวทอาคาร ก็มีร้านใต้ถุนบ้านเปิดตรงกลางซอยช้างม่อยเก่า และทั้งหมดได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงพบว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวเสียทีเดียว

กล่าวได้ว่าร้านรวงเหล่านี้เป็นเหมือนโฉมหน้าใหม่ของย่านการค้าเก่าแก่ย่านนี้ก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านั้นวัยรุ่นหรือนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆ แทบไม่เคยแวะเลยนะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีอายุที่มาซื้อของที่ร้านประจำในย่าน หรือเป็นทางที่นักท่องเที่ยวใช้ผ่านไปกาดหลวง ต้องยกเครดิตให้กระแสการกลับมาฟื้นฟูอาคารในย่านเก่าที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่ ช้างม่อยก็ได้รับอานิสงส์ตรงนี้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การฟื้นฟูเฉพาะอาคารหลังใดหลังหนึ่ง แต่ยังรวมถึงการย้อนกลับมาทบทวนมรดกหรือความเป็นมาของย่าน ก่อให้เกิดการเชื่อมร้อยระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ อันทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

มิทเทอ มิทเทอ ของเราก็เช่นกัน ความที่ผมและน้องสาวเคยเติบโตมาในย่านนี้ และพ่อแม่ก็ยังคงไปมาหาสู่กับเพื่อนบ้านเดิมอยู่ ร้านเราจึงค่อนข้างเปิดกับชุมชน อย่างการสนับสนุนวัตถุดิบจากคนในชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนตามวาระโอกาส หรือที่ส่วนตัวผมสนใจงานออกแบบก็ร่วมกับ TCDC ทำกิจกรรมกับชุมชนในช่วงงานดีไซน์วีค เป็นต้น

พูดถึงงานดีไซน์วีค จำได้ว่าปีแรกที่ผมเข้าร่วมงาน ผมก็เอาโครงการศิลปะชุมชนไปเสนอป้าดา (พิมลดา อินทวงค์) ประธานชุมชนช้างม่อย ป้าดาก็เห็นดีเห็นงามด้วย แต่ก่อนกลับ แกบอกว่าเห็นพวกผมยังหนุ่ม อยากขอแรงไปกวนข้าวในงานกวนข้าวยาคู้ที่กำลังจะจัดที่วัดชมพูเสียหน่อย กลายเป็นว่างานนั้นเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนของคนสองรุ่น ทางผู้ใหญ่ในชุมชนตกลงให้ความร่วมมือกับโปรเจกต์ดีไซน์วีค ส่วนพวกผมที่เป็นคนจัด ก็ไปช่วยลงแรงกวนข้าวให้ชุมชน ซึ่งก็ทำต่อเนื่องมาอีกปี และก็คาดว่าน่าจะทำต่อไปอีกปลายปีนี้ (หัวเราะ)

หลังจากนั้น พอมีโอกาสได้ทำงานที่มีส่วนพัฒนาย่านช้างม่อยนี้ได้ ผมก็ยินดีร่วมอย่างไม่ลังเล เพราะคิดว่าเรามาทำมาหากินในชุมชนนี้ อะไรที่ช่วยได้ก็ควรช่วย หรือถ้ามองในมุมผู้ประกอบการ การทำให้ย่านที่ร้านเราเปิดอยู่มีความน่าอยู่มากขึ้น สะดวกสบาย และเป็นมิตร ก็ย่อมส่งผลดีกลับมาต่อกิจการของเราโดยตรง

ผมคิดว่าช้างม่อยมีเสน่ห์ตรงนี้ เสน่ห์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่และสิ่งเก่า เสน่ห์ของการแลกเปลี่ยนความรู้และเกื้อกูลกันระหว่างคนสองรุ่น เสน่ห์ที่เกิดจากการปะทะสังสรรค์ของความหลากหลาย ซึ่งสิ่งนี้แหละที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และมีส่วนขับเคลื่อนให้เมืองพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด”

///

วีรธัช พงศ์เรืองเกียรติ

เจ้าของร้าน Mitte Mitte

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย